นับจากวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน ที่กรมสรรพากรประกาศรายชื่อเคาน์เตอร์เซอร์วิสในเครือของซีพี ออลล์ เป็นผู้ที่ได้รับการอนุมัติเป็นตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในเมือง (Downtown VAT Refund for Tourist) ให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาพำนักและใช้จ่ายในประเทศไทย ก็เกิดเสียงวิจารณ์ตามมาจนกรมสรรพากรต้องชี้แจงด่วนในวันนี้ (2 ต.ค.) อีกครั้ง
เนื่องจากหลักการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวผ่านจุดบริการในเมืองนั้นต้องการคืนเงินสดในรูปเงินบาท และหวังให้นักท่องเที่ยวนำเงินเหล่านั้นไปซื้อสินค้าและบริการต่อเพื่ออุดหนุนผู้ประกอบการขนาดเล็กและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ จากเดิมที่จะทำเรื่องคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ที่สนามบินเมื่อเดินทางกลับประเทศเท่านั้น มีผู้เสนอตัวยื่นเป็นตัวแทนใน ‘ช่วงทดลอง’ 6 เดือน (1 ต.ค. 2561 ถึง 31 มี.ค. 2562 ) คือ 1. เคาน์เตอร์เซอร์วิส โดยซีพี ออลล์ 2. VAT Refund Center (Thailand) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเครือข่ายค้าปลีกขนาดใหญ่ เซ็นทรัล เดอะมอลล์ โรบินสัน และสยามพิวรรธน์ และ 3. ผู้ประกอบการร้านจิวเวลรีรายหนึ่ง (ยังไม่มีการยืนยันข้อมูล)
ท้ายที่สุดกรมสรรพากรก็ประกาศว่าเคาน์เตอร์เซอร์วิสเป็นผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเพียงรายเดียวและได้รับการอนุมัติ โดยนักท่องเที่ยวจะต้องไปทำเรื่องขอคืนภาษีที่เซเว่น อีเลฟเว่น 3 สาขาคือ สาขาลิโด้ (สยามสแควร์) สาขาเยาวราช และสาขาแบงค์คอกไนท์บาร์ซ่า (รัชดาฯ) ทำให้แวดวงธุรกิจเกิดคำถามคาใจในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากมีคู่เทียบอย่าง VAT Refund Center (Thailand) ที่เป็นการรวมกันของกลุ่มห้างค้าปลีก ซึ่งดูจะเหมาะสมในการให้บริการที่สะดวกมากกว่าสำหรับนักท่องเที่ยวที่ไปช้อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้าและทำเรื่องคืนภาษีได้เลยเหมือนในต่างประเทศ ซึ่งจากผลการอนุมัตินี้ นักท่องเที่ยวต้องนำเอกสารไปต่อคิวยื่นคืนภาษีและรับเงินคืนที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ตามสาขาที่กำหนดแทน บางส่วนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการ ‘มอบเค้ก’ ให้กับเซเว่นหรือไม่ เพราะเมื่อได้เงินภาษี (7%) คืนก็สามารถซื้อสินค้าในร้านต่อได้เลย และทั้ง 3 จุดก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีนอยู่แล้ว
ล่าสุดทางกรมสรรพากรออกเอกสารชี้แจงว่าในการพิจารณาคัดเลือกนั้น กรมสรรพากรพิจารณาจาก 2 ส่วนคือ คุณสมบัติของผู้สมัคร และความเหมาะสมในการเป็นผู้ให้บริการเป็นตัวแทนฯ ได้แก่ การพิจารณาความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในบริเวณที่ตั้งของสถานที่ให้บริการ การคมนาคมสะดวก ความปลอดภัย อัตราค่าบริการที่เรียกเก็บจากนักท่องเที่ยว ความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ โดยผู้สมัครต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 จึงจะถือว่าผ่าน
กรมสรรพากรยืนยันว่าได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นสมัครทั้ง 3 ราย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าผู้ยื่นสมัคร 2 รายมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามประกาศและแนวปฏิบัติข้างต้น เป็นประเด็นด้านเอกสารที่ไม่ตรงตามข้อกำหนดทั้ง 2 ราย จึงเหลือผู้สมัครเพียงรายเดียวที่มีคุณสมบัติครบถ้วน นั่นคือเคาน์เตอร์เซอร์วิส และนำไปสู่การพิจารณาอนุมัติที่ผ่านมา
ล่าสุดทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเตรียมจัดแถลงข่าวด่วนเพื่อชี้แจงประเด็นดังกล่าวในวันที่ 3 ตุลาคมนี้ จึงต้องจับตาดูประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นนี้เพื่อตอบคำถามสังคมต่อไปว่าโครงการทดลองระยะเวลา 6 เดือนของกรมสรรพากรจะนำไปสู่ประโยชน์ของประเทศชาติและเป็นที่ยอมรับในวงกว้างได้อย่างไร
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์