×

Dow Jones พลิกบวกมากกว่า 600 จุด อานิสงส์หุ้นกลุ่มพลังงาน แนะจับตาท่าทีพาวเวลล์

22.06.2022
  • LOADING...
Dow Jones

สถานการณ์ตลาดหุ้น Wall Street ของสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (21 มิถุนายน) ขยับตัวพุ่งขึ้นมากกว่า 2% โดยได้แรงหนุนจากหุ้นเติบโตสูงและกลุ่มพลังงาน หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Wall Street ดิ่งลงหนัก ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และนักลงทุนส่วนใหญ่กำลังรอดูท่าทีธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพิ่มเติม

 

โดยดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones เพิ่มขึ้น 641.47 จุด หรือ 2.15 % ปิดที่ 30,530.25 จุด นับเป็นวันที่ดีที่สุดสำหรับเดือนนี้ ขณะที่ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 89.95 จุด หรือ 2.45% ปิดที่ 3,764.79 จุด เป็นสถิติที่ดีที่สุดของเดือนมิถุนายน และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 270.95 จุด หรือ 2.51% ปิดที่ 11,069.30 จุด โดยตลาดหุ้นเมื่อวันจันทร์ (20 มิถุนายน) ปิดทำการเนื่องในวันหยุด Juneteenth

 

ทั้งนี้ หุ้นในกลุ่มพลังงานเป็นภาคที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดในดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 5.1% ตามราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้น 1.09 ดอลลาร์ ปิดที่ 110.65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 52 เซนต์ ปิดที่ 114.65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

รายงานระบุว่า บรรดานักลงทุนกำลังประเมินว่า Wall Street จะขยับลงไปต่ำสุดมากน้อยแค่ไหน พร้อมเดินหน้าพิจารณาทบทวนความเสี่ยงที่มีต่อเศรษฐกิจ ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของ Fed ในการใช้มาตรการเชิงรุกสกัดเงินเฟ้อ ก่อนหน้านี้ในช่วงกลางเดือน S&P 500 ปรับลดลงมากว่า 20% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมกราคม ถือเป็นการยืนยันตลาดขาลง

 

นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอฟังความเห็นของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ที่มีกำหนดชี้แจงกับทางคณะกรรมาธิการธนาคารวุฒิสภาในวันนี้ (22 มิถุนายน) ซึ่งจะเผยให้เห็นทิศทางความเคลื่อนไหวในการพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต และมุมมองล่าสุดของพาวเวลล์ที่มีต่อเศรษฐกิจ

 

ส่วนราคาทองคำขยับลดลงเล็กน้อยเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน โดยราคาทองคำตลาด COMEX งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม ลดลง 1.80 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,838.80 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

ด้านสถานการณ์ในแวดวงคริปโตเคอร์เรนซี เริ่มแสดงสัญญาณเบื้องต้นของการฟื้นตัวหลังดิ่งลงอย่างแรงในสัปดาห์ที่แล้ว เห็นได้จากราคา Bitcoin ที่กลับมายืนเหนือราคา 20,000 ดอลลาร์

 

 

ทั้งนี้ ราคาของ Bitcoin เพิ่มขึ้นมากถึง 1.6% ในวันอังคาร โดยซื้อขายที่ 20,665 ดอลลาร์ในช่วงเช้าเปิดตลาดในกรุงโตเกียว ขณะที่ดัชนี MVIS CryptoCompare Digital Assets 100 พุ่งขึ้น 1.5% โดยมี Altcoins เช่น Solana และ Polkadot อยู่ในหมู่ผู้ได้รับอานิสงส์จากการปรับขึ้นในครั้งนี้

 

หลังร่วงลงต่ำกว่าระดับ 20,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2020 นักสังเกตการณ์บางส่วนเชื่อว่าราคา Bitcoin เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว อย่างน้อยก็ในตอนนี้ โดยมีรายงานว่า ราคา Bitcoin ที่ลดลงในสัปดาห์ที่แล้วทำให้มูลค่าตลาดของ Bitcoin สูญกว่า 7.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ด้านสถานการณ์ค่าเงินเยนในขณะนี้ยังคงอ่อนค่าลงเรื่อยๆ จนทำสถิติแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 1998 เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงยึดมั่นกับการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ สวนทางกับนโยบายการเงินที่เข้มงวดของ Fed ซึ่งมีเป้าหมายจัดการกับเงินเฟ้อให้อยู่หมัด

 

รายงานระบุว่า ค่าเงินเยนร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปี ส่งผลให้ขาดทุนต่อเนื่อง ทำให้นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มูลค่าของเงินเยนร่วงลงมากกว่า 18% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

 

ทั้งนี้ สกุลเงินเยนอ่อนค่าลงมากกว่าสกุลเงินหลักอื่นๆ เมื่อเทียบกับดอลลาร์ เนื่องจากจุดยืนนโยบายผ่อนคลายของ BOJ แตกต่างจากทิศทางของธนาคารกลางทั่วโลก

 

สำหรับสกุลเงินอื่นๆ ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.3% ที่ 104.38 โดยเงินยูโรแข็งค่าขึ้นในวันนี้ที่ 1.0536 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 0.3% ค่าเงินสกุลเดียวของยุโรปปรับตัวสูงขึ้นหลังจาก Philip Lane หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า ธนาคารจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.25%ในการประชุมเดือนกรกฎาคม แต่ขนาดของการปรับขึ้นในเดือนกันยายนยังคงต้องตัดสินใจ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%

 

ด้านค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยเพิ่มขึ้น 0.2% ที่ 1.2271 ดอลลาร์ จากความคิดเห็นที่ไม่พอใจของธนาคารกลางอังกฤษ โดย Huw Pill หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของแบงก์ชาติอังกฤษ กล่าวเมื่อวันอังคารว่า ธนาคารกลางจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อจัดการกับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น

 

อ้างอิง: 

https://www.cnbc.com/2022/06/21/forex-markets-japanese-yen-australia-dollar-interest-rate-inflation.html

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising