ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทในสหรัฐอเมริกา ร่วงลงเข้าสู่ภาวะตลาดหมีเรียบร้อย เนื่องจากนักลงทุนในวอลล์สตรีทเริ่มกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะใช้ยาแรงเพื่อขจัดเงินเฟ้อ
โดยเมื่อวานนี้ (13 มิถุนายน) ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงหนักถึง 876 จุดหรือ 2.8% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ลดลง 4.7% และร่วงลงมากกว่า 10% ในสองช่วงการซื้อขายที่ผ่านมา ส่วนดัชนี S&P 500 ลดลงอีก 3.9% ทำให้ดัชนี S&P 500 ในขณะนี้อยู่ต่ำกว่าระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมกราคมมากกว่า 20% ทำให้หุ้นอยู่ในภาวะตลาดหมี
นอกจากนี้ ความกลัวว่าเศรษฐกิจถดถอยยังขยับเพิ่มขึ้น หลังจากรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (10 มิถุนายน) แสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้เมื่อเดือนที่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ และอาจทำให้ความพยายามควบคุมเงินเฟ้อของ Fed เป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น
สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า ดัชนี S&P 500 ซึ่งปิดตลาดเข้าสู่ภาวะตลาดหมีนี้ทำให้กล่าวได้ว่า ช่วงขาขึ้นของตลาดซึ่งเริ่มต้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2020 ได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่เนื่องจากวิธีการวัดสิ่งเหล่านี้มีความซับซ้อน ดังนั้น ตลาดหมีในทางเทคนิคเริ่มต้นเมื่อวันที่ 3 มกราคม ซึ่งตรงกับที่ S&P 500 แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ก่อนทยอยปรับตัวลดลง
ความเคลื่อนไหวข้างต้นหมายความว่าภาวะตลาดกระทิงล่าสุดกินเวลาเพียง 21 เดือน ซึ่งสั้นที่สุดเป็นประวัติการณ์ ตามที่ Howard Silverblatt นักวิเคราะห์ดัชนีอาวุโสของ S&P และ Dow Jones Indices กล่าวไว้ว่า ในช่วงกว่า 100 ปีที่ผ่านมา ภาวะตลาดกระทิงมีระยะเวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 60 เดือน
ด้านดัชนี Nasdaq ที่เน้นเทคโนโลยีหนักอยู่ในตลาดหมีมาระยะหนึ่งแล้ว และตอนนี้อยู่ต่ำกว่าระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์มากกว่า 32% ในเดือนพฤศจิกายน 2021 ขณะที่ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ยังห่างไกลจากตลาดหมี โดยร่วงลงประมาณ 16% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในวันสุดท้ายของปี 2021
ในส่วนของบรรยากาศการลงทุนในตลาดภูมิภาคยุโรป สถานีโทรทัศน์ CNBC เผยรายงาน มาตรวัดความกลัวของยุโรป (Europe’s Fear Gauge) ที่พบว่าความกลัวของนักลงทุนในเวลานี้ขยับพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด
ความกลัวดังกล่าวส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของรัฐบาลนานาประเทศในภูมิภาคยุโรปขยับปรับตัวเพิ่มขึ้น ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์รอบใหม่ สะท้อนให้เห็นว่าด้วยเงื่อนไขของภาวะเงินเฟ้อบวกกับการเติบโตที่ชะลอตัวลง ทำให้นักลงทุนในตลาดเริ่มวิตกต่อความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลหลายประเทศ
รายงานระบุว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลี อายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นแตะ 4% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนตั้งแต่ปี 2014
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลกรีซ อายุ 10 ปี ขยับขึ้นแตะระดับ 4.43% ในวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 มิถุนายน) และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโปรตุเกสและสเปน อายุ 10 ปี ก็เพิ่มขึ้นเป็น 2.9%
Neil Shearing หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์กลุ่มที่ Capital Economics กล่าวว่า ผลตอบแทนจากทุกหนทุกแห่งเพิ่มขึ้นจากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ และความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นว่าธนาคารกลางจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างจริงจังเพื่อตอบโต้ภาวะเงินเฟ้อสูงดังกล่าว
ขณะเดียวกัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์รายนี้กล่าวว่า ความกังวลที่ใหญ่กว่าในยูโรโซนคือการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดแผนการจัดการเงินเฟ้ออย่างเป็นรูปธรรม ทำให้นักลงทุน โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตรเกิดความกลัว ส่งผลให้ราคาขายพันธบัตรกับอัตราผลตอบแทนมีส่วนต่างที่ขยายเพิ่มขึ้น
ด้านราคาทองคำกับแร่โลหะอย่างพาลาเดียมปรับตัวร่วงลงอย่างรวดเร็วเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา อันเป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมีการคาดการณ์จากหลายฝ่ายว่า Fed จะใช้ยาแรงขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้การถือครองทองคำและโลหะมีค่าอื่นๆ ในเวลานี้น่าดึงดูดน้อยลง
โดยราคาทองคำแท่งปรับตัวลดลง 2.2% มาอยู่ที่ 1,829.52 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำในตลาดฟิวเจอร์สปรับตัวลดลง 2.4% มาอยู่ที่ 1,829.80 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สวนทางกับดัชนีค่าเงินดอลลาร์ที่ขยับพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบหลายสิบปี และกลายเป็นที่หลบภัย หรือ Safe Haven ของบรรดานักลงทุนนอกเหนือจากทองคำ โดยค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เป็นผลจากการที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ก่อนหน้านี้ ราคาทองคำปรับตัวร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือนที่ 1,824.63 ดอลลาร์ หลังข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาทองคำก็สามารถดีดตัวขึ้นมาได้อย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากความกังวลด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวมกลายเป็นประเด็นสำคัญ ทำให้เมื่อวานนี้ ราคาทองคำแท่งสามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและทำสถิติสูงสุดในรอบ 1 เดือนในช่วงการซื้อขายของตลาดเอเชีย
นักวิเคราะห์จาก J.P. Morgan ระบุว่า การคลายตัวอย่างรวดเร็วของทองคำเน้นให้เห็นถึงการยื้อยุดระหว่างตัวขับเคลื่อนการกำหนดราคา โดยอัตราเงินเฟ้อที่คงที่จะถูกโต้กลับด้วยการคาดการณ์ของนักลงทุนในตลาดที่มีต่อนโยบายเชิงรุกของ Fed พร้อมเตือนนักลงทุนว่า แนวโน้มทองคำในตลาดเริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังเปราะบางใกล้แตกหัก ภายใต้แรงกดดันของเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในส่วนของแร่โลหะมีค่าอื่นๆ พาลาเดียมปิดตลาดปรับตัวลดลง 5.5% ที่ 1,828.92 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แร่เงินร่วงลง 3% มาอยู่ที่ 21.22 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และแพลทินัมร่วง 3.6% สู่ 938.31 ดอลลาร์สหรัฐ
Michael Hewson หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดของ CMC Markets ในอังกฤษ กล่าวว่า ปริมาณดีมานต์แร่โลหะมีค่าในตลาดอย่างแร่แพลทินัมและพาลาเดียมกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากข้อจำกัดของการใช้มาตรการสกัดโควิดของรัฐบาลจีน
ขณะที่ทางตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาพบว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.24% มาอยู่ที่ 3.39% นับเป็นการขยับปรับขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2020 ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีล่าสุดเพิ่มขึ้นประมาณ 0.30% มาอยู่ที่ 3.346%
ทั้งนี้ การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งทะยานขึ้นสู่ระดับสูงสุด ส่วนหนึ่งมีผลมาจากรายงานของ Wall Street Journal ที่ตีพิมพ์ในช่วงบ่ายวานนี้ กล่าวว่า Fed อาจทำให้ตลาดประหลาดใจด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 0.75% ในการประชุมที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 มิถุนายนนี้
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2022/06/13/investing/dow-stock-market-today/index.html
- https://www.cnbc.com/2022/06/13/europes-fear-gauge-just-hit-its-highest-level-since-may-2020.html
- https://www.cnbc.com/2022/06/13/gold-markets-us-treasury-yields.html
- https://www.cnbc.com/2022/06/13/us-bonds-2-year-treasury-rate-hits-highest-level-since-2007.html
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP