×

ดาวโจนส์ดิ่งกว่า 1,000 จุดอีกครั้ง นักลงทุนวิตกเงินเฟ้อ-บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ พุ่ง หนุนคาดการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น

09.02.2018
  • LOADING...

ดัชนีดาวโจนส์ ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ดิ่งลงกว่า 1,000 จุดเป็นครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์เมื่อคืนนี้ (8 ก.พ.) สืบเนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดในปีนี้ นอกจากนี้ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการผ่านงบประมาณก้อนใหม่ของสหรัฐฯ ยังเป็นอีกปัจจัยที่กดดันตลาดเมื่อคืนนี้

 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ร่วงลง 1,032.89 จุด หรือ 4.2% ปิดที่ระดับ 23,860.46 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ร่วง 100.66 จุด หรือ 3.8% ปิดที่ 2,581 จุด ด้วยแรงฉุดจากหุ้นกลุ่มการเงินและเทคโนโลยี และดัชนี Nasdaq ดิ่งลง 274.82 จุด หรือ 3.9% ปิดที่ 6,777.16 จุด

 

หุ้นจดทะเบียนรายใหญ่ร่วงกันถ้วนหน้าเมื่อคืนนี้ นำโดยหุ้น American Express ดิ่งลง 5.6% ขณะที่หุ้น Intel Corp., Boeing, General Electric และ Microsoft ร่วง 5.4%, 5.3%, 5.2% และ 5.1% ตามลำดับ

 

นักวิเคราะห์มองว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯ เกี่ยวกับการลงมติผ่านงบประมาณก้อนใหม่ในสภาคองเกรสเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะชัตดาวน์ครั้งใหม่ เป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น ซึ่งหนุนกระแสคาดการณ์ว่าเฟดอาจเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ในปีนี้

 

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะ 2.88% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี โดยภาวะตลาดพันธบัตรคือหนึ่งในตัวชี้วัดความวิตกกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ     

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า การที่ดาวโจนส์และ S&P 500 ปรับตัวลงมากกว่า 10% จากระดับสูงสุดในเดือนมกราคม ถือเป็นการพักฐานในทางเทคนิค ไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นตระหนกในขณะนี้ เพราะนักลงทุนจำนวนมากได้เทขายทำกำไรหลังจากที่ตลาดหุ้นทะยานขึ้นอย่างมากก่อนหน้านี้

 

ริช เกอร์รินี ซีอีโอแห่ง PNC Investments กล่าวว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง แต่นักลงทุนมีความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในปีนี้

 

ขณะที่ วิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Bloomberg ว่า การปรับตัวลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างแน่นอน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X