×

ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ของ 3 พรรคการเมือง ต่างกันอย่างไรในประเด็น Double Majority

โดย THE STANDARD TEAM
18.06.2024
  • LOADING...

วันนี้ (18 มิถุนายน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 สมัยวิสามัญ เป็นพิเศษ วาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่มีผู้เสนอมา 4 ฉบับ ประกอบด้วยฉบับของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และฉบับของพรรคการเมืองคือ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทย

 

เพื่อไทยมุ่งแก้ปมเสียงข้างมาก 2 ชั้น

 

ชูศักดิ์ ศิรินิล สส. แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อภิปรายนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ของพรรคเพื่อไทย โดยระบุว่า การแก้ไขในหลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้น หรือ Double Majority ที่กำหนดให้ผลการออกเสียงที่ถือว่ามีข้อยุติต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเต็มจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของ ‘ผู้มีสิทธิออกเสียง’ และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของ ‘ผู้ใช้สิทธิออกเสียง’

 

ด้านพรรคเพื่อไทยเห็นว่าหลักการดังกล่าวเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เนื่องจากการออกเสียงประชามติต่างกับการเลือกตั้งที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นตัวแปรในการหาเสียงและรณรงค์ให้คนมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งหลายครั้งยังพบว่ามีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่การออกเสียงประชามติเป็นเพียงการสอบถามความเห็นของประชาชนในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ซึ่งประเด็นนั้นอาจไม่ได้อยู่ในความสนใจของประชาชนโดยทั่วไป จึงไม่มาใช้สิทธิออกเสียง

 

ดังนั้น จึงไม่ควรนำจำนวนประชาชนในส่วนนี้มาเป็นผลต่อการออกเสียง และควรแก้ไขให้การออกเสียงถือเพียงเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จะจัดทำประชามติ ซึ่งสอดคล้องกับการออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่ใช้เพียงเสียงข้างมากธรรมดา

 

โดยแนวคิดดังกล่าวของพรรคเพื่อไทย สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับของพรรคก้าวไกล เรื่องการแก้ไขปัญหาเสียงข้างมาก 2 ชั้น มีข้อแตกต่างเล็กน้อยที่เกณฑ์ชั้นล่าง เพราะในขณะที่ร่างของพรรคเพื่อไทยกำหนดว่าประชามติจะมีผลต่อเมื่อจำนวนคนที่ลงคะแนน ‘เห็นชอบ’ เป็นเสียงข้างมาก มากกว่าจำนวนคนที่ลงคะแนน ‘ไม่เห็นชอบ’ และมีมากกว่าคนที่ลงคะแนนในช่อง ‘ไม่แสดงความคิดเห็น’

 

ขณะที่ร่างของพรรคก้าวไกลและ ครม. กำหนดว่า ประชามติจะมีผลต่อเมื่อจำนวนคนที่ลงคะแนน ‘เห็นชอบ’ มีเสียงมากกว่า 50% ของจำนวนคนที่มาใช้สิทธิออกเสียง ซึ่งเท่ากับว่าจำนวนคนที่ลงคะแนน ‘เห็นชอบ’ ต้องมีมากกว่าจำนวนคนที่ลงคะแนน ‘ไม่เห็นชอบ’ และคนที่ลงคะแนนในช่อง ‘ไม่แสดงความคิดเห็น’ รวมกัน

 

ก้าวไกลขอปลดล็อกส่งชื่อทางออนไลน์ได้

 

พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ของพรรคก้าวไกล โดยยกประเด็นที่ร่างของพรรคก้าวไกลมีแต่ของพรรคอื่นไม่มีคือ ประเด็น 1 ทำให้กติกาประชามติมีความทันสมัยขึ้น โดยปลดล็อกให้ประชาชนเข้าชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ในการเสนอคำถามประชามติ

 

เพราะตามกฎหมายปัจจุบัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปกำหนดให้กระบวนการการเข้าชื่อของประชาชนต้องทำผ่านเอกสารที่พิมพ์ออกมาเป็นแผ่นเท่านั้น ดังนั้น ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ของพรรคก้าวไกล จึงเสนอให้ พ.ร.บ.ประชามติ รับประกันสิทธิของประชาชนในการเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิของประชาชนในการเข้าชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเสนอร่างกฎหมายที่ถูกรับรองโดย พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย 2564

 

ประเด็น 2 ทำให้ประชามติมีความหลากหลายมากขึ้น โดยการเปิดกว้างให้ประชามติสามารถมีคำถามและคำตอบที่นอกเหนือจากแค่ ‘เห็นชอบ’ หรือ ‘ไม่เห็นชอบ’ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ของพรรคก้าวไกล เพิ่มความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการออกแบบคำถามและตัวเลือกคำตอบ

 

ภูมิใจไทยให้เสียงข้างมาก 2 ชั้น เฉพาะประเด็นแก้ รธน.

 

ด้าน ภราดร ปริศนานันทกุล สส. อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย อภิปรายนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับพรรคภูมิใจไทย ที่เห็นต่างจากร่างอื่นๆ ในประเด็นเสียงข้างมาก 2 ชั้น โดยพรรคภูมิใจไทยเห็นว่า ควรที่จะต้องมีเกณฑ์แรก คือเสียงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศมาแสดงความคิดเห็น เพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ของประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนประเด็นอื่นที่ทางรัฐบาลหรือสภาและประชาชนจะขอให้มีการทำประชามติก็ใช้เพียงเสียงข้างมากเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าการที่จะให้คนถึงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นั่นคือ 26 ล้านเสียงออกมาใช้สิทธิในวันทำประชามติเป็นเรื่องยากมาก ส่วนตัวจึงไม่ขัดข้องถ้าหากในชั้นกรรมาธิการมีการไปปลดล็อกหรือมีการลดเกณฑ์ที่จะให้ผ่านในชั้นแรกลดลงจากกึ่งหนึ่งเหลือ 1 ใน 3 หรือมีเกณฑ์อย่างอื่นที่เป็นตัวเลขที่เหมาะสมพอสมควร และไม่ขัดข้องที่ในชั้นกรรมาธิการเช่นเดียวกัน เพราะเชื่อว่าวัตถุประสงค์หลักในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ก็เพื่อให้การทำประชามติสามารถบรรลุผลในบั้นปลายได้ง่ายมากขึ้นกว่า พ.ร.บ. ฉบับปัจจุบัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising