การเข้ามาของ Generative AI อย่างแพร่หลาย นำโดยการเปิดตัวของ ChatGPT จาก OpenAI เมื่อปลายปี 2022 ทำให้หลายธุรกิจนั่งไม่ติด ต้องเร่งทรานส์ฟอร์มและหาทางว่าจะรับมือกับโลกที่ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันได้อย่างไร ความร้อนแรงของการพูดคุยในสังคมเรื่อง AI นั้นเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งเทรนด์ที่ร้อนแรงมากของปีนี้
หลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับความสามารถของเทคโนโลยีนี้ที่จะเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพให้กับการทำงาน แต่มันก็มาพร้อมความเสี่ยงเช่นเดียวกัน สิ่งนี้เป็นผลให้บริษัทต่างๆ วางกฎเกณฑ์ในการใช้งาน Generative AI เพื่อให้ตนยังได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ในขณะที่จำกัดความเสี่ยงที่อาจตามมาให้ลดน้อยลงที่สุด
The Wall Street Journal ได้รวบรวมทริกสำหรับสิ่งที่ ‘ควรทำ’ และ ‘ไม่ควรทำ’ กับการใช้งาน Generative AI ในบริบทของการทำงาน
‘ควร’ ตั้งข้อสงสัยกับความลำเอียงอยู่เสมอ
ข้อที่ผู้ใช้งานระดับองค์กรควรรู้ไว้เกี่ยวกับโมเดล Generative AI บางตัวที่อาศัยการเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลภายนอกเพื่อพัฒนาการให้คำตอบ แต่ถ้าหากแหล่งต้นทางมีความลำเอียง คำตอบที่ได้จะลำเอียงเช่นเดียวกัน
Jason Schloetzer อาจารย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แนะนำว่า ในกรณีนี้การใช้วิจารณญาณของมนุษย์ในการช่วยกันตรวจทานจะลดข้อผิดพลาดนี้ และยังทำให้บริษัทมั่นใจกับคำตอบที่ตนได้มากขึ้น
‘ไม่ควร’ แชร์ข้อมูลความลับกับ Generative AI ที่เป็นสาธารณะ
เครื่องมือ Generative AI บางตัวจะเก็บข้อมูลการสนทนาที่เคยเกิดขึ้นจากผู้ใช้งานเพื่อนำมาพัฒนาการให้คำตอบ ทำให้ความเสี่ยงของการได้รับคำตอบจากคำถามของคนอื่นนั้นมีความเป็นไปได้ โดยประเภทของข้อมูลที่อาจถูกเปิดเผยทั้งที่ไม่ได้รับความประสงค์จากเจ้าของข้อมูล เช่น โค้ดโปรแกรม ข้อมูลลูกค้า เนื้อหาการโต้ตอบทางอีเมล และข้อมูลความลับต่างๆ ขององค์กร จนทำให้บางองค์กรระงับไม่ให้พนักงานใช้เนื่องจากความเสี่ยงในประเด็นนี้
‘ควร’ ช่างเลือกกับ Generative AI ที่ต้องการใช้
องค์กรมีตัวเลือกที่ดีกว่าการใช้ Generative AI ที่เป็นสาธารณะ โดยสิ่งที่เรียกว่า Enterprise-grade จะเป็นโมเดลที่ตอบโจทย์ธุรกิจในด้านความปลอดภัยของข้อมูลได้อย่างตรงจุดมากกว่า เช่น ChatGPT Enterprise, Microsoft 365 Copilot และ Duet AI for Google Workspace Enterprise โดยทั้ง 3 ต่างเคลมว่า “ข้อมูลของลูกค้าคือข้อมูลของลูกค้า” ซึ่งบริษัทจะไม่นำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้พัฒนา AI ของตัวเองอย่างแน่นอน ถึงแม้การใช้บริการแบบนี้จะตามมาด้วยค่าใช้จ่าย แต่ก็ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
นอกจากนี้ องค์กรเองก็ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าข้อมูลที่ป้อนเข้าไปในโปรแกรม AI ถูกจัดเก็บไว้ที่ไหนและใครมีอำนาจในการเข้าถึงได้บ้าง
‘ไม่ควร’ หลับหูหลับตาเชื่อในความถูกต้องของคำตอบ
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาเตือนถึงอาการ ‘หลอน’ ของ Generative AI ที่สามารถสร้างคำตอบที่มีข้อมูลคลาดเคลื่อนแต่ดูเหมือนเป็นคำตอบที่มีเหตุผล ซึ่งนี่อาจเป็นต้นเหตุทำให้ธุรกิจเกิดความเสียหายได้ หากมีการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้โดยไม่ตรวจสอบให้ดี
ในขั้นแรก การตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลอีกทีถือเป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงในส่วนนี้ได้ แต่ถ้าหากธุรกิจอยากได้ความอุ่นใจแบบเต็มที่ก็สามารถพูดคุยขอบเขตกับบริษัทที่ให้บริการ Generative AI ให้ใช้ข้อมูลภายในองค์กรเพื่อฝึก AI และลดความเสี่ยงของการนำข้อมูลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องมาสร้างเป็นคำตอบหรือ Output ในรูปแบบต่างๆ
‘ไม่ควร’ ใช้ Generative AI โดยไม่เปิดเผย
การให้ความโปร่งใสกับลูกค้าโดยการเปิดเผยว่าสิ่งที่ได้มามีส่วนของการใช้ Generative AI เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง ลูกค้าควรทราบว่าชิ้นงานไหนที่มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสร้างงานออกมา เพื่อสร้างความเชื่อใจให้กับทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งผู้ให้บริการและรับบริการ
‘ควร’ ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์
การสร้างคำตอบของ Generative AI อาจมาจากแหล่งที่เสี่ยงต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ ถึงแม้ว่ากฎเกณฑ์จะยังไม่ชัดเจน แต่ประเด็นนี้ก็เป็นที่ถกเถียงกันในสังคม ตัวอย่างของเคสที่เกิดกับ OpenAI คือการฟ้องร้องของนักเขียนนิยายกลุ่มหนึ่งที่กล่าวหาว่าบริษัทใช้ผลงานของพวกเขาในการฝึกการให้คำตอบของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
อย่างไรก็ตาม OpenAI ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยให้เหตุผลผ่านนิตยสาร Forbes ว่าข้อมูลคำตอบที่แชตบอตผลิตออกมาไม่ใช่การ ‘ปรับนิดแต่งหน่อย’ จากสิ่งที่มีอยู่ แต่เป็นการสร้างคำตอบใหม่โดยอาศัยข้อมูลจากหลายแหล่งรวมกัน
เนื่องจากความคลุมเครือทางกฎหมาย และความเสี่ยงของการถูกฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์เป็นประเด็นที่สามารถนำความเสียหายมาให้ธุรกิจได้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าฝ่ายกฎหมายขององค์กรควรตรวจสอบการใช้งาน Generative AI และการขอความคุ้มครองการถูกฟ้องร้องจากผู้ให้บริการบุคคลที่สามก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคอย่าง Microsoft, Google และ Adobe ทั้ง 3 ได้นำร่องให้ความคุ้มครองกับลูกค้าที่ใช้เครื่องมือ Generative AI ของบริษัทแล้ว
ทั้งหมดนี้เป็นเช็กลิสต์เบื้องต้นที่ธุรกิจจำเป็นต้องรู้ว่าอะไร ‘ควรทำ’ และอะไร ‘ไม่ควรทำ’ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า Generative AI เป็นเครื่องทุ่นแรงที่จะช่วยให้งานแบบเดิมรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่นอกจากประโยชน์ที่จะได้แล้ว การใช้งานให้ถูกวิธีก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้ผลประโยชน์
อ้างอิง: