×

ฟังก่อน! ดราม่ายึดเงินฝากยังไม่บังคับใช้ ขอคืนได้ แต่มีต้นทุน

31.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • รัฐบาลชี้แจง มาตรการของกระทรวงการคลังไม่ใช่การยึดเงินไป แค่เก็บไว้ให้ และยังเป็นร่างกฎหมายเท่านั้น
  • บัญชีที่เข้าข่ายคือบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และบัญชีกระแสรายวันที่ไม่ฝาก ถอน โอน เกิน 10 ปีขึ้นไป
  • ทำเรื่องขอคืนได้ แต่ไม่คิดดอกเบี้ยให้ และมีค่าธรรมเนียมคืน

     ขณะนี้เกิดความกังวลสำหรับบรรดาประชาชนคนทำงานทั่วไปผู้มีเงินฝากอยู่ในธนาคารและไม่ได้เคลื่อนไหวเกิน 10 ปี ซึ่งรัฐบาลวางแผนจะออกกฎหมายเพื่อนำส่งเงินส่วนนี้เข้ากรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง จนเกิดความเข้าใจผิดๆ ว่ารัฐบาลจะยึดเงินฝากประชาชน

     สำนักข่าว THE STANDARD ได้ศึกษาข้อมูลประเด็นนี้และสอบถามจากเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังและธนาคารพาณิชย์ จึงพอสรุปความให้เข้าใจได้ง่ายๆ จากบทความนี้

 

ปล่อยเงินทิ้งไว้ในบัญชีเกิน 10 ปีจะถูกส่งเข้าคลัง

     ขณะนี้ประเด็นดังกล่าวเป็นเพียง ‘แนวคิด’ เท่านั้น ยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายใดๆ โดยกระทรวงการคลังออก ‘ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของสถาบันการเงิน’ ขึ้นมาแล้ว ซึ่งจะพิจารณาบัญชี 2 ประเภทเท่านั้นคือ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ และบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน

     และเมื่อตรวจสอบหลักเกณฑ์เรื่องดอกเบี้ยและค่าบริการอื่นๆ จากประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับประเด็นนี้ พบว่าแบงก์ชาติไม่ได้กำหนดตัวเลขค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีที่ชัดเจนไว้

     โดยให้ธนาคารแต่ละแห่งเรียกเก็บตามความจำเป็นเพื่อใช้บริหารบัญชี ซึ่งขั้นต่ำของเงินที่คงไว้ในบัญชีก็ไม่เท่ากัน ธนาคารจะต้องแจ้งลูกค้าใหม่ที่มาเปิดบัญชีเรื่องค่าธรรมเนียม และต้องแจ้งลูกค้าเจ้าของบัญชีที่ไม่เคลื่อนไหวก่อนเก็บค่าธรรมเนียม 30 วัน

     อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกระทรวงการคลังพบว่า เงินในบัญชีธนาคารที่ถูกทิ้งไว้โดยไม่เคลื่อนไหวทั้งระบบมีจำนวนหลายล้านบัญชีและเม็ดเงินแตะหมื่นล้านบาท

     สาเหตุหลักๆ คือเจ้าของบัญชีลืมไปแล้วว่ามีเงินและบัญชีนี้อยู่ หรือเจ้าของบัญชีเสียชีวิตโดยไม่มีทายาท หรือทายาทไม่รับรู้ว่ามีบัญชีเงินฝากนี้ จึงมองเป็นแหล่งเงินเพิ่มเติมที่รัฐบาลจะนำมาบริหารจัดการเพื่อใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งกรอบของการพิจารณามีดังนี้

     1. เป็นบัญชีออมทรัพย์หรือกระแสรายวันของบุคคลและนิติบุคคลที่มีถิ่นฐานทั้งในและต่างประเทศที่มีกับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับเงินฝาก

     2. ไม่เคลื่อนไหว คือไม่มีการฝาก ถอน โอน ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

     3. พิจารณาเป็นรายบัญชี ถ้าเคลื่อนไหวบัญชีอื่น แต่มีบัญชีที่ปล่อยทิ้งไว้และเข้าเกณฑ์ก็ต้องดำเนินการ

     4. นำเงินฝากดังกล่าวมาไว้ที่บัญชีคงคลังของกรมบัญชีกลางเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ โดยธนาคารต้องรวมส่งให้รัฐในเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปี

     5. ไม่ใช่การยึดเงินไป แต่เอามาเก็บไว้ที่รัฐบาล โดยอาจตั้งเป็นกองทุนขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการ

     6. ถ้าต้องการขอเงินคืนจะมีระบบส่วนกลางให้ใช้บริการตรวจสอบ และต้องแสดงหลักฐานการเป็นเจ้าของเงินเพื่อรับเงินคืน

     7. นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ไอร์แลนด์ อเมริกา ออสเตรเลีย หรือญี่ปุ่น ก็มีการจัดการกับบัญชีเงินฝากที่ไม่เคลื่อนไหวเพื่อเอาไปบริหารจัดการเช่นกัน

 

ขอคืนได้ แต่ใจต้องแกร่ง ใช้เวลา มีค่าธรรมเนียม

     อย่างไรก็ดี แม้ว่ากระทรวงการคลังจะชี้แจงเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนทราบแล้ว ทางสำนักข่าว THE STANDARD ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวดังนี้

     1. กรณีต้องการขอเงินคืน ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน และเกี่ยวข้องกับทั้งภาครัฐและสถาบันการเงิน

          – เริ่มแรกต้องไปยื่นเรื่องที่กรมบัญชีกลางเพื่อตรวจสอบกับธนาคาร โดยเวลาไม่เกิน 15 วัน

          – จากนั้นธนาคารจะตรวจสอบและแจ้งกลับกรมบัญชีกลางภายในไม่เกิน 5 วัน

          – สุดท้ายกรมบัญชีกลางจะทำเรื่องคืนเงินให้ (ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาชัดเจน) ซึ่งทำให้ทั้งกระบวนการอาจใช้เวลาเกือบ 1 เดือนจึงจะรับเงินคืนได้

     2. ได้เงินคืน ‘ไม่ได้ดอกเบี้ย’ ซึ่งระบุชัดเจนในร่าง พ.ร.บ. นี้จะแตกต่างจากประเทศอื่น เช่น ไอร์แลนด์ ที่แม้นำเงินจากบัญชีที่ไม่เคลื่อนไหวมาจัดการแล้วยังจะจ่ายดอกเบี้ยให้ตามเกณฑ์ที่กำหนดด้วย นี่จึงเป็นจุดที่บางส่วนมองว่าเป็นค่าเสียโอกาสที่อาจเกิดขึ้น

     3. จะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจ่ายเงินคืนจากเจ้าของบัญชีหรือทายาท ซึ่งในร่าง พ.ร.บ. ยังไม่ได้กำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจนเอาไว้

     นั่นคือนอกจากเงินฝากจะถูกเอาไป ‘พักเก็บ’ ที่อื่นและต้องไปติดตามขอคืนเองแล้ว เจ้าของบัญชียังไม่ได้รับดอกเบี้ยที่ปกติจะได้รับจากธนาคาร แล้วยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อขอคืน ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะใช้เวลาถึง 1 เดือนกว่าจะแล้วเสร็จ

 

     ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราน่าจะเห็นเจ้าของบัญชีเงินฝากเหล่านี้เลือกที่จะ ‘ปล่อยทิ้งไป’ เพราะการขอเงินคืนมีต้นทุนการเงิน ต้นทุนการเดินทาง ต้นทุนด้านเวลา และยังไม่รวมต้นทุนด้านอารมณ์ ถ้าไม่ใช่เงินจำนวนมากก็อาจจะไม่คุ้มค่ากับการทำเรื่องดังกล่าว ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเจ้าของบัญชีหรือทายาทเอง

     จึงเป็นคำถามกลับไปที่รัฐบาลว่า หากนำหลักการสากลที่นานาอารยประเทศมาใช้ดังเช่นกรณีนี้ หลักเกณฑ์ต่างๆ ก็ควรสอดคล้องและให้เป็นมาตรฐานเดียวกับนานาอารยประเทศด้วยหรือไม่ และเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่รัฐบาลจะมาทำหน้าที่ส่วนนี้แทนธนาคารแล้วหรือยัง?

 

อ้างอิง:

FYI
  • ขณะนี้กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing)ในเรื่องนี้อยู่ โดยสามารถมีส่วนร่วมแสดงความเห็นได้ผ่านสองช่องทางคือ ทางแฟกซ์ เบอร์ 0 2618 3366 หรืออีเมล [email protected] และกำหนดปิดรับความเห็นภายในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X