×

‘ไม่โหวต Yes’ และ ‘กลับไปทบทวน’ เสียงถึงรัฐบาล ทางแพร่งคำถามประชามติ

โดย THE STANDARD TEAM
24.04.2024
  • LOADING...

กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามแนวทางที่รัฐบาลกุมบังเหียนเริ่มเดินเครื่องแล้ว โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแนวทางในการจัดทำ ‘ประชามติ 3 ครั้ง’ โดยคำถามที่จะใช้สำหรับประชามติครั้งแรกคือ

 

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”

 

แม้จะยังไม่ได้เคาะอย่างเป็นทางการ แต่ก็ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า รัฐบาลจะเดินหน้าต่อด้วยคำถามนี้ พร้อมคาดการณ์ว่า การทำประชามติจะเริ่มขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ แต่เพราะเหตุใดจึงยังมีเสียงทัดทานให้รัฐบาล ‘แตะเบรก’ และ ‘ทบทวน’ คำถามดังกล่าว THE STANDARD รวบรวมความเห็นและความน่าจะเป็นต่างๆ ต่อคำถามประชามติมาให้ติดตาม

 

‘ขอให้ทบทวน’ อย่าล็อกสเปกบางหมวด

 

พรรคก้าวไกลเร่งขยับตัวแสดงความเห็นทันควัน โดยได้มีการเรียกประชุม สส. ภายในคืนวานนี้ (23 เมษายน) หลังปรากฏข่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแนวทางประชามติ ก่อนจะมีความคิดเห็นจาก พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. แบบบัญชีรายชื่อ โฆษกของพรรค ตามด้วยความเห็นในนามพรรคที่โพสต์ลงในช่องทางโซเชียลมีเดียในวันถัดมา

 

พริษฐ์และพรรคก้าวไกลยืนยันตรงกันว่า ต้องการให้รัฐบาลใช้เวลาที่ยังเหลือ ‘ทบทวน’ คำถามประชามติใหม่อีกครั้ง และใช้คำถามที่เปิดกว้างกว่า เข้าใจง่ายกว่า เช่น

 

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่?”

 

โดยพรรคก้าวไกลได้ยกเหตุผล 3 ข้อ ที่ทำให้เห็นว่าคำถามประชามตินี้มีปัญหา ประกอบด้วย

 

  • คำถามนี้มีการ ‘ยัดไส้’ เงื่อนไข (ไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2) จึงเสี่ยงที่ประชามติจะไม่ผ่านความเห็นชอบ เพราะประชาชนไม่แน่ใจว่าต้องออกเสียงอย่างไร
  • คำถามนี้เสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาเชิงกฎหมาย
  • คำถามนี้เสี่ยงที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้สะท้อนเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง

 

ชัยธวัช ตุลาธน สส. แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า มีคนในรัฐบาลบางคนพยายามสร้างความเข้าใจว่า พรรคก้าวไกลต้องการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 มาก ซึ่งไม่ใช่ความจริง เพราะหลักการพื้นฐาน หากอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน รัฐธรรมนูญก็ควรจะแก้ได้ทุกหมวดตามที่ประชาชนตัดสินใจ 

 

“ไม่ควรจะวางบรรทัดฐานทางการเมืองแบบนี้ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์” หัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุ

 

ชัยธวัชย้ำด้วยว่า รัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจอย่างเดียว แต่มีเรื่องอื่นด้วย สมมติว่าในอนาคตมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีวุฒิสภา แล้วให้ใช้ระบบสภาเดี่ยวเหมือนประเทศไทยในอดีต แต่ในหมวด 1 มีถ้อยคำว่า ‘วุฒิสภา’ อยู่ จะเอาออกอย่างไร จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขถ้อยคำ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจเลย

 

“อยากให้รัฐบาลลองฟังเสียงสะท้อนของประชาชน ส่วนตัวเชื่อว่า เป็นเสียงที่อยู่บนเจตนารมณ์ที่ดี อาจจะไม่ต้องถามความเห็นพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างเดียว แต่ต้องหาความเห็นของภาคประชาชนและภาคประชาสังคมต่างๆ” ชัยธวัชทิ้งท้าย

 

‘ไม่โหวต Yes’ เพราะขัดเจตนารมณ์

 

ในวันเดียวกัน ภาคประชาชนก็ได้ส่งเสียงไปถึงรัฐบาลทันที โดยเครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญได้อ่านแถลงการณ์แสดงความเห็นและจุดยืนต่อกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และคำถามประชามติของรัฐบาล ซึ่งสาระสำคัญเป็นไปในทาง ‘ไม่เห็นด้วย’ และ ‘ขอให้ทบทวน’ เช่นเดียวกัน

 

เครือข่ายฯ ได้ยืนยันในจุดยืนของคำถามประชามติที่ภาคประชาชนใช้สิทธิร่วมลงชื่อกันกว่า 2 แสนคน เพื่อเสนอให้รัฐบาลแล้ว คือ

 

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด?”

 

แถลงการณ์ของเครือข่ายฯ ระบุต่อไปว่า คำถามดังกล่าว รัฐบาลก็ไม่หยิบขึ้นมาพิจารณา “ไม่แม้แต่แยแสคำถามที่ประชาชนต้องลงแรง ลงชื่อบนกระดาษ ถ่ายเอกสาร แปลงข้อมูลจากกระดาษมาเป็นไฟล์ดิจิทัล แม้เราเคยยื่นหนังสือเพื่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อปรึกษาเรื่องคำถามประชามติรัฐบาล ก็ไม่เคยได้รับการนัดหมายให้เข้าพบ”

 

เครือข่ายฯ มองว่า รัฐบาลกำลังใช้คำถามสร้างเงื่อนไข สร้างความขัดแย้ง และการถกเถียงให้กับหมวด1 และหมวด 2 โดยไม่จำเป็น รัฐบาลได้จุดไฟให้สังคมเกิดคำถามว่า ‘หมวด 1 และหมวด 2’ คืออะไร มีปัญหาอย่างไร ทำไมถึงต้องห้ามแก้ไข และกำลังใช้ประเด็นนี้มาเป็นปัจจัยชี้ขาดอนาคตการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ 

 

“เมื่อรัฐบาลเป็นเจ้าของคำถามนี้ จึงต้องเป็นเจ้าของผลลัพธ์ที่ตามมาด้วย หากผลลัพธ์จากการทำประชามติครั้งนี้ทำให้การเดินหน้าสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนต้องหยุดชะงัก ก็คือความพ่ายแพ้ของรัฐบาลที่ไม่สามารถทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ได้ รัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก เพราะถือว่าไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอีกต่อไป” แถลงการณ์ระบุ

 

ผู้สื่อข่าวสอบถามตัวแทนของเครือข่ายฯ ว่า หากรัฐบาลยืนยันใช้คำถามประชามติเดิมที่ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ภาคประชาชนที่ต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องมีแนวทางการโหวตอย่างไร โดยได้คำตอบมาว่า “ไม่ทราบ” เพราะความซับซ้อนของคำถามดังกล่าว

 

“แต่ที่แน่ๆ คือ เราโหวต Yes ไม่ได้ เพราะจะเท่ากับเรากลืนเลือดตัวเอง ส่วนที่บอกว่าไม่ทราบ ไม่ได้แปลว่าจะปล่อยปละละเลย แต่เราต้องการเวลาในการปรึกษาหารือกับผู้คนที่ร่วมในขบวนการและอีกหลายแสนคน สิ่งเหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนหาทางออก และยังมีเงื่อนไขของ พ.ร.บ.ประชามติ ที่ยังไม่ชัดเจน” ตัวแทนของเครือข่ายฯ อธิบาย

 

‘ไม่เห็นชอบ’ ไม่ใช่ ‘ไม่อยากแก้’?

 

อย่างไรก็ตาม จุดร่วมหนึ่งที่ทั้งพรรคก้าวไกลและตัวแทนภาคประชาชนยืนยันตรงกันได้ก็คือ การตั้งข้อสังเกต คัดค้าน ตลอดจนไม่เห็นชอบกับคำถามประชามติของรัฐบาล ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่ต้องการเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือพวกเขาต้องการอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับเดิมต่อไป

 

แต่ความคิดเห็นเหล่านี้คือการส่งเสียงไปให้รัฐบาลรับรู้ว่า พวกเขาไม่ปรารถนาจะเดินตามเกมที่ถูก ‘บีบให้ยอม’ หรือ ‘รับไปก่อน’ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ทว่าทั้งหมดที่ทำได้ภายใต้เงื่อนไขปัจจุบันนี้คือ เพียงหวังให้รัฐบาลกลับไปทบทวนว่าจะเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของคำถามหรือไม่

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันไว้ว่า จะบอกว่าเราไม่มีส่วนร่วมกับภาคประชาชนไม่ได้ เพราะเราจะเสนอความเห็นที่แตกต่างทั้งหมดเข้า ครม. และตนเองก็ได้เชิญทั้งพรรคฝ่ายค้านและกลุ่ม iLaw เข้าร่วมในคณะกรรมการแล้ว แต่ได้รับการปฏิเสธ

 

“นอกจากนี้ เราได้ไปสอบถามความเห็นจากประชาชนทั้ง 4 ภาค เพราะฉะนั้น จะบอกว่าเราไม่คุยกับประชาชนไม่ได้ หากจะขาดความเห็นใครไปบ้างก็คงขาดจากพรรคฝ่ายค้านที่ปฏิเสธไม่เข้าร่วมคณะกรรมการ” ภูมิธรรมกล่าว

 

และหากผลประชามติไม่ผ่านหรือจำนวนผู้มาใช้สิทธิไม่ครบ ภูมิธรรมชี้ว่า ก็ต้องกลับไปใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แต่ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงก็ขอให้แก้ไขด้วยกระบวนการประชาชน ยืนยันเราจะทำให้ดีที่สุด 

 

“อยากให้ฝ่ายค้านพิจารณาให้รอบคอบ หากจะไปเคลื่อนไหวไม่ให้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้น ก็แสดงว่าอยากกลับไปอยู่แบบในช่วงรัฐประหารใช่หรือไม่” ภูมิธรรมกล่าว

 

คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่า ในความคิดเห็นที่อยู่บนทางขนานของคำถามประชามติครั้งแรกนี้ จะนำไปสู่ผลลัพธ์และความเปลี่ยนแปลงแบบใด โดยหลายฝ่ายก็คาดการณ์ไปถึงกรณีที่เลวร้ายที่สุด นั่นคือการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่จะ ‘ล่ม’ ตั้งแต่ด่านแรก

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X