ในวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้สถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกสะสมอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านรายแล้ว ปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยหยุดยั้งการแพร่กระจายของไวรัสได้คือ การตรวจและวินิจฉัยโรคได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้สามารถจำแนกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากกลุ่มคนปกติ ทำให้มีการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยเร็ว
ล่าสุด เว็บไซต์ ‘เทใจ – TaejaiDotcom’ เปิดแคมเปญชวนคนไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยนักวิจัยพัฒนาชุดตรวจโรคที่แม่นยำ รวดเร็ว และมีราคาถูก เพื่อให้คนไทยทุกคนได้มีสิทธิ์ในการตรวจ และหยุดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสอย่างทันท่วงที ด้วยการร่วมสมทบทุนผ่านกองทุนวิจัยสู้โควิด-19
โดย นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.พิมพ์ขวัญ หาญนันทอนันต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตัวแทนทีมนักวิจัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับ THE STANDARD ถึงประสิทธิภาพของชุดตรวจโควิด-19 ที่ชื่อว่า ‘COVID-19 SCAN’ โดยใช้เทคโนโลยี ‘CRISPR’ ระบุว่า เดิมทีชุดตรวจนี้มีการพัฒนาจากนักวิจัยแนวหน้าของสหรัฐอเมริกา ก่อนจะมีการแชร์ข้อมูลให้กับทั่วโลกได้รู้ประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา หลังจากโรคโควิด-19 เริ่มมีการแพร่ระบาด ซึ่งในวงการวิจัยเป็นที่ทราบกันดีว่า เทคโนโลยีนี้มีประสิทธิภาพสูงมาก โดยทีมนักวิจัยของไทยก็นำเอาเทคโนโลยีดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอด เพื่อให้เกิดการใช้ได้จริงในสังคมไทย
สำหรับการตรวจแบบ CRISPR จะใช้วิธีการคล้ายกับการตรวจแบบ PCR ที่เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยืนยันของกระทรวงสาธารณสุข แต่จะแตกต่างจากการตรวจแบบ PCR ตรงที่ใช้เวลาในการตรวจที่รวดเร็วกว่า คือประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้อุปกรณ์ที่ติดตั้งในแล็บอยู่แล้ว รวมกับอุปกรณ์เสริมที่กำลังพัฒนาขึ้น รวมแล้วไม่ถึง 50,000 บาทโดยประมาณ และน้ำยาต่างๆ ที่ใช้จะมีราคาที่ถูกกว่า อยู่ที่ประมาณ 350 บาทต่อตัวอย่าง และที่สำคัญ หลังจากเก็บตัวอย่างในน้ำยาที่พัฒนาขึ้นมา จะมีขั้นตอนง่ายๆ ที่ฆ่าเชื้อไวรัส และไม่จำเป็นต้องเข้าไปสกัดสารพันธุกรรมของไวรัสในตู้ปลอดเชื้อก่อนนำไปตรวจด้วยเทคนิค CRISPR ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่แล็บลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และลดการใช้อุปกรณ์ โดยเฉพาะชุดที่ใช้สวมป้องกันขณะสกัดหาเชื้อ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของทั่วโลกในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ชุดตรวจดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนของการพัฒนาและทดสอบ ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยจะมีการให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จากกระทรวงสาธารณสุขเข้าทดสอบชุดตรวจดังกล่าว และถ้าประสบผลสำเร็จ ชุดตรวจแบบ CRISPR จะช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงการตรวจหาโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาที่รวดเร็วและราคาตรวจที่ถูก
ทั้งนี้ ชุดตรวจแบบ CRISPR เป็นการร่วมมือกันของศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, บริษัท Sertis จํากัด, สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี, ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Carenation และ TaejaiDotcom
โดยผู้ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยนี้สามารถร่วมสมทบทุนได้ที่ https://taejai.com/th/d/innovationfund_covid19/ โดยเงินบริจาคนำไปลดหย่อนภาษีได้
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล