×

ทรัมป์ VS เฟาซี เมื่อประธานาธิบดีปะทะหมอ ชาวอเมริกันจะเชื่อใครในวิกฤตโรคระบาดมฤตยู

21.07.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • นพ.แอนโทนี เฟาซี ผ่านประธานาธิบดีมา 6 คน และพาสหรัฐฯ รอดพ้นโรคร้ายมามากมาย
  • ชาวอเมริกันยกย่องเฟาซีเป็น ‘วีรบุรุษ’ ที่มาพร้อมกับความจริง สวนทางข่าวลวง-โกหกของทรัมป์
  • ทำเนียบขาวพยายามโจมตีเฟาซีว่าผิดพลาดในการยับยั้งโควิด-19 
  • เฟาซีเป็นผู้เร่งให้บริษัทสหรัฐฯ พัฒนาวัคซีนตั้งแต่เดือนมกราคม

 

‘ชายชรา’ 2 คน ที่เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของชาวอเมริกันในตอนนี้ คนหนึ่งถูกมองเป็นนักวิทยาศาสตร์ประวัติดี อีกคนเป็นประธานาธิบดีเจ้าวาทกรรม ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เสมือนฮีโร่กับวายร้าย ขึ้นอยู่กับว่าจะมองจากฝั่งไหน และเรื่องจริงที่เนื้อเรื่องยิ่งกว่านิยายนี้มีสิ่งที่คอละครชื่นชอบครบถ้วน ทั้งการหักหลัง แทงข้างหลัง และความสัมพันธ์แบบไม้เบื่อไม้เมา 

 

นี่คือเรื่องราวของ นพ.แอนโทนี เฟาซีผู้นำการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่สื่ออเมริกันติดตามและรายงานความคืบหน้าเป็นมหากาพย์ใหญ่แห่งปี 2020 

 

THE STANDARD นำเรื่องราวของการงัดข้อระหว่างวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์กับผู้นำทางการเมืองของสหรัฐฯ รวมถึงคำตอบว่า ทำไม โดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่กล้าไล่นักระบาดวิทยาผู้นี้ออก มาสรุปให้อ่านในบทความนี้

 

‘กระต่ายตื่นตูมเฟาซี’

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์สถานีข่าว Fox News พูดถึงผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดระดับชาติ นพ.แอนโทนี เฟาซี ว่า ‘เป็นกระต่ายตื่นตูม’ ต่อกรณีการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาลสหรัฐฯ

 

“นพ.เฟาซี ทำผิดพลาดหลายอย่างนะ” จากนั้นทรัมป์อธิบายถึงความผิดพลาดของ นพ.เฟาซี รวมถึงการที่ นพ.เฟาซี ร้องขอให้ประชาชนอย่าออกไปซื้อหน้ากากอนามัยประเภท N95 ในช่วงแรกเริ่มของการแพร่ระบาดในอเมริกา ด้วยเหตุผลว่า หากผู้คนแห่กันซื้อหน้ากากชนิดนี้ บุคลากรทางการแพทย์จะมีหน้ากากไม่พอใช้  

 

 

แต่แล้ว นพ.เฟาซี ก็ออกมาบอกให้ประชาชนพยายามหาหน้ากากมาสวมป้องกันใบหน้า ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขาเรียกร้องให้ผู้ว่าการรัฐและนายกเทศมนตรีใช้มาตรการที่ ‘แข็งกร้าวที่สุดเท่าที่จะทำได้’ เพื่อให้ประชาชนหันมาสวมหน้ากาก

 

“แต่ผมยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเขานะ ผมเพิ่งคุยกับเขาเมื่อวานนี้เอง” และนั่นเป็นการโทรศัพท์พูดคุยระหว่างทรัมป์กับ นพ.เฟาซี ในรอบกว่า 1 เดือน 

 

ช่วงเดือนที่ผ่านมา คนสนิทของทรัมป์วิจารณ์การทำงานของ นพ.เฟาซี อย่างรุนแรง รวมถึงเรียกเขาว่า Dr.Wrong หรือ ‘คุณหมอผิดตลอด’

 

“ประเทศนี้มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความซื่อสัตย์และทำงานหนักต้องมาถูกสาดโคลน เพียงเพราะเขาทำหน้าที่ได้ดี” ไมเคิล สเปกเตอร์ นักเขียนบทความเชิงวิทยาศาสตร์ของ The New Yorker ระบุ 

 

“แล้วยิ่งทีมทรัมป์ป้ายสีเขาเท่าไร ตัวเลขต่างๆ กลับยิ่งยืนยันว่าเฟาซีถูกมากเท่านั้น”

 

ชายที่ทรัมป์ไม่กล้าไล่ออก (ในตอนนี้)

นพ.แอนโทนี เฟาซี วัย 79 ปี เป็นผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ และในช่วงการระบาดของโควิด-19 เขาได้กลายเป็นผู้นำการรับมือสถานการณ์ระบาดของโรค 

 

ชาวอเมริกันจำนวนมากยกย่อง นพ.เฟาซี ว่าเป็น ‘วีรบุรุษ’ ผู้มาพร้อมความจริงและข้อเท็จจริง ต่อกรกับ ‘เจ้าแห่งการหลอกลวงและปฏิเสธ’ อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของพวกเขา ซึ่งการต่อสู้และปะทะคารมของทั้งคู่มีชีวิตของประชาชนเป็นเดิมพัน

 

ก่อนเที่ยงคืนวันที่ 22 มีนาคม 2020 ก่อนหน้าที่ทรัมป์จะทวีตข้อความอะไรออกมา ชาวอเมริกันหลายล้านคนยอมรักษาระยะห่าง พยายามอยู่แต่ในครัวเรือนของตน ตามคำแนะนำของ นพ.เฟาซี เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา โรคระบาดที่ทรัมป์เคยระบุว่าเป็นแค่ ‘ไข้หวัด’

 

ทรัมป์ทวีตในคืนนั้นว่า “เราจะปล่อยให้วิธีรักษาทำให้สถานการณ์แย่กว่าตัวปัญหาไม่ได้” เขาหมายถึงมาตรการรักษาระยะห่าง หรือ Social Distancing ซึ่งสำหรับผู้นำสหรัฐฯ แล้วเป็นตัวการทำให้ตลาดหุ้นร่วงหล่น คนว่างงานพุ่งสูง ประเทศชาติตกอยู่ในความหวาดกลัว

 

“ผมอยากให้อเมริกาเปิดประเทศ ก่อนเข้าเทศกาลอีสเตอร์…โบสถ์ทั่วประเทศจะเต็มไปด้วยผู้คน เชื่อผมสิ มันจะเป็นช่วงเวลาที่สวยงาม” ทรัมป์ให้สัมภาษณ์กับ Fox News 

 

“ช่วงเวลาที่สวยงาม” ที่ทรัมป์ทำนายไว้มีขึ้นกว่า 2 เดือน หลังพบผู้ป่วยรายแรกในสหรัฐฯ และกว่า 100 วัน นับแต่เกิดโรคระบาดในเมืองอู่ฮั่นของจีน ทุกวันมีแต่คนป่วยและเสียชีวิต 

 

นพ.เฟาซี ไม่ได้เห็น ‘ช่วงเวลาที่สวยงาม’ ตามคำที่ทรัมป์พูด ด้วยประสบการณ์นำพาประเทศผ่านวิกฤตโรคร้ายมานับไม่ถ้วน ตั้งแต่เอชไอวี, ซาร์ส, ไข้หวัดนก, ไข้หวัดหมู, ซิกา และอีโบลา ฯลฯ ด้วยผลงานโดดเด่นจนดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ ยาวนานถึง 36 ปี ผ่านรัฐบาลมา 6 ชุด 

 

ดังนั้นจึงกลายเป็นหน้าที่ของเขาที่ต้องออกมาแก้ไขคำพูดผิดๆ-กึ่งจริง-โกหกทั้งเพของทรัมป์ ระหว่างการแถลงข่าวรายวันของทำเนียบขาว รวมถึงการแก้ข่าวว่า ยารักษาโรคมาลาเรียไม่ได้ช่วยรักษาโควิด-19 ตามที่ทรัมป์ทวีต และประเมินว่าจะไม่มีวัคซีนป้องกันโควิด-19 อีกอย่างน้อย 1 ปี 

 

ท่ามกลางวาทกรรมของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่พยายามสร้างความเชื่อมั่นกับชาวอเมริกันว่า สถานการณ์โรคระบาดไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่เห็น ชาวอเมริกันที่ต้องการ ‘ความจริง’ เลือกที่จะเชื่อถือข้อมูลจาก นพ.เฟาซี มากกว่าอ่านทวีตของทรัมป์ 

 

และท้ายสุด ‘ช่วงเวลาที่สวยงาม’ ที่ทรัมป์พูดถึง กลายเป็นตรงกันข้าม สหรัฐฯ ไม่สามารถคลายมาตรการล็อกดาวน์ได้ทันวันอีสเตอร์ 

 

ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ ปัจจุบันผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศพุ่งเป็นเกือบ 4 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 140,000 คน ถือว่ามากที่สุดในโลก แต่ทรัมป์ก็ยังกล่าวอ้างแบบ ‘เอาสีข้างเข้าถู’ ว่าสหรัฐฯ “มีอัตราการเสียชีวิตต่อประชากรน้อยที่สุดในโลก” ซึ่งแน่นอนว่าเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง

 

ชาวอเมริกันท้วง #letTonyspeak

ทรัมป์มีชื่อเสียงในการไล่บุคคลที่เห็นต่างกับเขาออกจากตำแหน่ง แม้จะเป็นที่ปรึกษาคนสนิทก็ตาม ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อชาวอเมริกันไม่เห็น นพ.เฟาซี ในการแถลงข่าวรายวันเมื่อวันที่ 23 มกราคม จะเกิดแฮชแท็กทั้ง #NoFauci #whereisfauci #letTonyspeak เพราะกลัวว่าในที่สุดทรัมป์ก็ทนชื่อเสียงที่ดีและความน่าเชื่อถือของ นพ.เฟาซี ไม่ไหว จนไล่เขาออก

 

ผลสำรวจความคิดเห็น Fox Poll พบว่า 74% ของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน เห็นพ้องกับการรับมือสถานการณ์โรคระบาดของ นพ.เฟาซี มากกว่าทรัมป์ ที่มีผู้เห็นด้วยเพียง 43% 

 

แต่ความเป็นจริงน่าตระหนกกว่านั้น เพราะ นพ.เฟาซี เปิดเผยว่า “ผมประชุมงานอยู่ตลอดเวลา เราพยายามจะจัดการกับนโยบายที่ตัดสินใจยากหลายนโยบาย” กลายเป็นว่าระหว่างที่ ‘ทีมทรัมป์’ ทวีตข้อความหรือพยายามใช้วาทกรรมสร้างความเชื่อมั่นผิดๆ ให้ประชาชน นายแพทย์วัยชรากำลังทำงานอย่างหนักเพื่อชาวอเมริกัน

 

“ผมไม่มีปัญหากับประธานาธิบดีนะ เวลาผมพูดกับเขา เขาก็รับฟัง” เฟาซีกล่าวอย่างประนีประนอม 

 

ผู้สื่อข่าวหลายคนในอเมริกาที่สังเกตการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับ นพ.เฟาซี มาตลอด ยอมรับว่า ความอดทนของทรัมป์ต่อผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดคนนี้กำลังจะหมดลง เพราะ นพ.เฟาซี ยืนหยัดกับการ ‘แก้คำผิด’ ของทรัมป์มาตลอด แต่จนถึงตอนนี้ แม้เขาจะหายตัวไปเป็นครั้งคราวจากพื้นที่สื่อและการแถลงข่าว แต่ทรัมป์ยังไม่กล้าไล่เขาออกจริงๆ เสียที

 

การหายตัวของเฟาซี

เมื่อเข้าสู่เดือนพฤษภาคม การปรากฏตัวของ นพ.เฟาซี ในการแถลงข่าวรายวัน รวมถึงการให้สัมภาษณ์ตามสถานีโทรทัศน์ต่างๆ เริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนเขาหายตัวไปอย่างสิ้นเชิง จนเกิดข่าวลือว่าเขาถูกปลดออกจากศูนย์บัญชาการรับมือโควิด-19 แล้ว

 

 

จนเมื่อยอดผู้ติดเชื้อใน 33 รัฐทั่วสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง นพ.เฟาซี ก็กลับมาปรากฏตัวด้วยคำเตือนที่เลวร้าย อาทิ การให้สัมภาษณ์กับสื่ออังกฤษ เตือนไม่ให้ชาวอังกฤษมาท่องเที่ยวในสหรัฐฯ และการขึ้นให้การต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันที่ 30 มิถุนายน เตือนว่าสหรัฐฯ จะมีผู้ติดเชื้อ 1 แสนคนต่อวัน 

 

คำทำนายของนายแพทย์ผู้นี้ไม่ไกลจากความจริงนัก เพราะไม่นานมานี้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันของสหรัฐฯ พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์กว่า 65,000 คน

 

แน่นอนว่าคำเตือนของ นพ.เฟาซี สะเทือนรัฐบาลชุดทรัมป์อย่างเห็นได้ชัด เพราะเขาเริ่มหายตัวจากสาธารณชนอีกครั้ง ก่อนที่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำเนียบขาวจะเริ่มยุทธวิธีใหม่ด้วยการทำลายความน่าเชื่อถือของ นพ.เฟาซี โดยระบุว่า เขาผิดมากกว่าถูก รวมถึงความผิดที่เขายับยั้งการระบาดในสหรัฐฯ ไม่ทันการณ์

 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อวันที่ 11 มกราคม หนึ่งวันหลังรัฐบาลจีนประกาศคำเตือนถึงไวรัสโคโรนา นพ.เฟาซี ได้โทรศัพท์หารองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวัคซีนของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเตือนให้เตรียมความพร้อมพัฒนาวัคซีนอย่างเร่งด่วน 

 

ปกติแล้วการพัฒนาวัคซีนตัวหนึ่งใช้เวลานานหลายปี แต่ นพ.เฟาซี บอกว่า สำหรับไวรัสโคโรนาเรามีเวลาไม่มากขนาดนั้น ก่อนที่จะเร่งติดต่อบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพต่างๆ ที่ล้วนบอกกับ นพ.เฟาซี ว่าการเร่งพัฒนาวัคซีนจะใช้เงินมหาศาล

 

“ไม่ต้องห่วงเรื่องเงิน นี่เป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน เราจะหาเงินให้เอง เดินหน้าดำเนินการได้เลย” เฟาซีกล่าว 

 

อีก 65 วันต่อมา การทดสอบวัคซีนในมนุษย์ได้เริ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสที่เร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมา และในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ การทดสอบวัคซีนขั้นสุดท้ายกับกลุ่มตัวอย่าง 30,000 คน จะเริ่มขึ้น 

 

ดังนั้นทรัมป์จึงยังไม่กล้าไล่ นพ.เฟาซี ออกในตอนนี้ เพราะเขาต้องการวัคซีน รวมถึงอยากพึ่งพาความน่าเชื่อถือของ นพ.เฟาซี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน

 

แต่จนกว่าจะถึงวันที่ทรัมป์ไล่ นพ.เฟาซี ออกจริงๆ หรือสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย กิจวัตรของนายแพทย์อายุเกือบ 80 ผู้นี้คือทำงานหนัก วันหนึ่งอาจถึง 18 ชั่วโมง เหมือนที่เขาทำมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา โดยไม่ได้หยุดพักผ่อน เพราะหากเขาหยุด ผู้คนจะเสียชีวิตมากขึ้น

 

“มีคนถามผมตลอดว่า คิดว่าจะเกิดการระบาดระลอกสองในเดือนกันยายนหรือพฤศจิกายน’ และผมจะตอบว่า นี่เรายังไม่ผ่านพ้นระลอกแรกไปเลยนะ” เฟาซีให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Washington Post

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X