ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้เสนอชื่อ เอมี โคนีย์ บาร์เรตต์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ฝ่ายอนุรักษนิยม ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่แทน รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก ผู้พิพากษาฝ่ายเสรีนิยม ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง
ทรัมป์กล่าวว่าบาร์เรตต์เป็นผู้หญิงที่มีสติปัญญาสูง มีความจงรักภักดีต่อรัฐธรรมนูญอย่างเด็ดเดี่ยว และพิพากษาโดยการพิจารณากฎหมายอย่างยุติธรรมเท่านั้น
ทรัมป์ยังได้เล่าถึงประวัติการศึกษาและการทำงานของบาร์เรตต์ พร้อมกล่าวถึงลูกๆ ของเธอทั้ง 7 คน และยังได้ชื่นชมความสัมพันธ์ของเธอกับอดีตผู้พิพากษาศาลสูงสุด แอนโทนิน สกาเลีย ซึ่งบาร์เรตต์เคยเป็นนิติกรประจำตัว
“ผมศึกษาประวัติของคุณ และพบว่าคุณมีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งนี้อย่างชัดเจน” ทรัมป์กล่าวกับบาร์เรตต์
ทรัมป์เสนอชื่อบาร์เรตต์ต่อหน้าผู้เข้าร่วมในพิธี ซึ่งรวมถึงภรรยาม่ายของอดีตผู้พิพากษาสกาเลีย วุฒิสมาชิกรีพับลิกันหลายราย และสื่อฝ่ายอนุรักษนิยม
ด้านบาร์เรตต์กล่าวในระหว่างรับการเสนอชื่อ โดยแย้มว่าผู้พิพากษาแบบไหนที่เธอจะเป็น แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดที่เฉพาะเจาะจง
“ผู้พิพากษาต้องยึดตามกฎหมายที่ระบุเป็นลายลักษณ์อักษร ผู้พิพากษาไม่ใช่ผู้กำหนดนโยบาย” นอกจากนี้บาร์เรตต์ยังได้จัดให้ตัวเองเป็นข้าราชการ โดยกล่าวว่า “หากดิฉันได้รับตำแหน่ง ดิฉันจะไม่รับตำแหน่งนี้เพื่อตัวเองอย่างแน่นอน ดิฉันจะรับบทบาทหน้าที่นี้เพื่อรับใช้พวกท่าน”
ทั้งนี้ หากวุฒิสภาลงมติรับรองบาร์เรตต์ วัย 48 ปี ให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุด ก็มีความเป็นไปได้ว่าเธอจะได้อยู่ในตำแหน่งนี้ไปอีกหลายสิบปี เนื่องจากผู้พิพากษาเป็นตำแหน่งตลอดชีพ เว้นเสียแต่ผู้พิพากษาคนนั้นๆ จะตัดสินใจเกษียณอายุ
การเสนอชื่อบาร์เรตต์เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากเหลือเวลาอีกเพียงเดือนเศษก็จะถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ ในขณะที่ทรัมป์ได้ออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับความโปร่งใสของการเลือกตั้งอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งยังไม่รับปากว่าจะถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติหากเขาแพ้การเลือกตั้ง
เขาพูดย้ำหลายครั้งว่าศาลสูงสุดจำเป็นต้องมีผู้พิพากษาครบ 9 คนก่อนวันเลือกตั้ง เพราะศาลอาจต้องมาทำหน้าที่พิจารณาตัดสินเกี่ยวกับความถูกต้องตามกฎหมายของบัตรลงคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19
การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ก่อนวันเลือกตั้งสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายเดโมแครต เนื่องจากเกรงว่าดุลอำนาจในศาลฎีกาสหรัฐฯ ซึ่งผู้พิพากษาที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมครองเสียงข้างมากมายาวนานนับทศวรรษนั้นจะยิ่งเอนเอียงไปทางฝั่งรีพับลิกัน ซึ่งมีแนวคิดอนุรักษนิยมเช่นกัน
ทั้งนี้ การถ่วงดุลอำนาจในศาลฎีกาซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 9 คนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินชี้ขาดเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่มีความสำคัญที่สุดในกฎหมายสหรัฐฯ โดยบาร์เรตต์นับเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนที่ 3 ที่ทรัมป์เสนอชื่อ และหากเธอได้รับการลงมติรับรองโดยวุฒิสภา ก็จะทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมครองอำนาจในการตัดสินใจที่สำคัญๆ ในศาลสูงสุดต่อไปอีกหลายสิบปี
หนึ่งในกฎหมายสำคัญที่ศาลสูงสุดต้องพิจารณาคือ Affordable Care Act หรือที่รู้จักกันในชื่อโอบามาแคร์ โดยก่อนหน้านี้มีความพยายาม 2 ครั้งจากฝ่ายคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งยื่นเรื่องให้ศาลสูงสุดพิจารณาความถูกต้องทางกฎหมาย และในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ หรือเพียง 1 สัปดาห์หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี ศาลสูงสุดมีกำหนดรับฟังข้อมูลจากฝ่ายคัดค้านกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการท้าทายกฎหมายโอบามาแคร์เป็นครั้งที่ 3 และกำลังกลายเป็นที่จับตาอีกครั้ง เพราะเกิดขึ้นหลังการเสียชีวิตของ รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก ซึ่งเป็นผู้พิพากษาฝ่ายเสรีนิยม
“การเสนอชื่อ เอมี โคนีย์ บาร์เรตต์ เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุด นับเป็นอีกครั้งที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ทำให้ระบบประกันสุขภาพของชาวอเมริกันตกเป็นเป้าการโจมตี” ชัค ชูเมอร์ ผู้นำพรรคเดโมแครตในวุฒิสภาระบุในแถลงการณ์ พร้อมกับเพิ่มเติมว่าการโหวตรับรองบาร์เรตต์ก็เท่ากับการโหวตไม่รับกฎหมาย Affordable Care Act
สำหรับบาร์เรตต์ เป็นสมาชิกของศาลอุทธรณ์ 7th Circuit Court of Appeals ซึ่งตั้งอยู่ในชิคาโก และรับผิดชอบคดีความครอบคลุมรัฐอิลลินอยส์ อินดีแอนา และวิสคอนซิน โดยเธอเป็นนักอนุรักษนิยมผู้เคร่งศาสนา และเป็นที่รู้จักจากการแสดงความเห็นเรื่องการต่อต้านการทำแท้ง
บาร์เรตต์สำเร็จการศึกษาจาก Notre Dame Law School ในรัฐอินดีแอนา และบางครั้งเธอยังรับหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษที่นี่ด้วย เธอเกิดที่เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา และปัจจุบันอาศัยอยู่ที่รัฐอินดีแอนากับสามี เจสซี เอ็ม. บาร์เรตต์
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: