×

มาตรการทรัมป์ อัดฉีด-แจกเงิน ช่วยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้แค่ไหน

20.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • โดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมผลักดันมาตรการอัดฉีดระบบเศรษฐกิจมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ โดยจำนวนนี้แบ่งเป็นการแจกเงินให้ประชาชนโดยตรง และเงินเยียวยาธุรกิจขนาดเล็ก อุตสาหกรรมสายการบิน และโรงแรม เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตการระบาดของโควิด-19 และประคับประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้ต่อไป
  • นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ มองว่า นโยบายแจกเงินอาจช่วยกระตุ้นการบริโภคได้จริง แต่อาจแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด เพราะปัญหาที่น่าวิตกคือ คนตกงานและขาดรายได้
  • ส่วน KTBST SEC มองว่า หากรัฐบาลทรัมป์สามารถอัดฉีดระบบเศรษฐกิจได้ครบวงเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ราว 5.2% แต่นั่นอาจทำให้รัฐขาดดุลงบประมาณราว 5% ซึ่งจะส่งผลให้เพดานหนี้ของสหรัฐฯ ทะลุระดับ 100% ของ GDP

วิกฤตโควิด-19 ระบาดสะเทือนอุตสาหกรรมทุกหย่อมหญ้า และส่งแรงกระเพื่อมไปถึงภาคครัวเรือนทั่วโลก เรียกได้ว่าทุกเซกเตอร์ต่างอ่วมไปตามๆ กัน รัฐบาลของหลายประเทศจึงพยายามงัดมาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบ และเยียวยาธุรกิจที่เดือดร้อนแสนสาหัส มียาแรงที่หลายประเทศใช้กัน หนึ่งในนั้นคือ วิธีแจกเงินให้ประชาชนโดยตรง ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็เตรียมทำเช่นนั้นด้วย

 

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เผยแพ็กเกจมาตรการอัดฉีดมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเวลานี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาคองเกรส จำนวนนี้แบ่งเป็นการแจกเงินโดยตรงให้กับชาวอเมริกันผู้เสียภาษีวงเงินประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งจะจ่ายในรูปเช็คเงินสด โดยแบ่งเป็น 2 งวด งวดแรกวงเงิน 2.5 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเริ่มออกให้ประชาชนในวันที่ 6 เมษายน และอีกงวดจำนวน 2.5 แสนล้านดอลลาร์ เริ่มออกวันที่ 18 พฤษภาคม

 

นอกจากมาตรการแจกเงินแล้ว ยังมีแพ็กเกจเงินช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก 2-3 แสนล้านดอลลาร์​ และเงินเยียวยาธุรกิจสายการบินและอุตสาหกรรมต่างๆ ราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งทรัมป์เอ่ยปากเองว่า ไม่ต้องการให้อุตสาหกรรมการบิน รวมถึงธุรกิจเดินเรือสำราญและโรงแรมที่ถูกกระทบอย่างหนักต้องพังครืนลง

 

 

สำหรับ ‘เช็คช่วยชาติ’ นั้นจะเป็นลักษณะของการจ่ายให้ชาวอเมริกันครอบครัวละ 1,000 ดอลลาร์ (ราว 32,000 บาท) ซึ่งมีเสียงสนับสนุนและวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยบางส่วนมองว่า อาจไม่ได้ผล แต่ก็มีบางส่วนมองว่า การแจกเงินเป็นแนวคิดพื้นฐานที่ดีในการนำเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วที่สุด

 

หนึ่งในคำถามสำคัญคือ เช็คช่วยชาติ ช่วยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในยามวิกฤตโรคระบาดนี้ได้จริงหรือ?

 

จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ (SCBS) มองว่า นโยบายที่สหรัฐฯ ใช้ในช่วงวิกฤตมี 3 แบบ แบบแรกคือ นโยบายในเชิงป้องกันไวรัส ซึ่งการแก้ปัญหาการแพร่กระจายของโควิด-19 จะช่วยลดความกังวลของประชาชน เช่น นโยบายปิดประเทศไม่ให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาได้ ซึ่งตรงนี้ส่งผลให้การบริโภคแย่ลง GDP ติดลบ 

 

แบบที่ 2 คือ นโยบายที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคให้กลับมา เช่น มาตรการแจกเงิน หรือนโยบายอะไรก็ได้ที่ฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจิติพลมองว่า นโยบายส่วนนี้จะดีในช่วงการฟื้นตัว (Recovery) แต่จะไม่ดีสำหรับช่วงเศรษฐกิจขาลง ลองนึกสภาพว่า เมื่อคนได้เงินไป 1,000 ดอลลาร์ ถามว่า เขาจะนำไปทำอะไร เขาก็นำไปซื้อกระดาษทิชชูหรือของใช้จำเป็นในภาวะที่ผู้คนตื่นตระหนก

 

เพราะฉะนั้น นโยบายในลักษณะนี้อาจจะช่วยกระตุ้นการบริโภคได้จริง แต่อาจจะแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด เพราะคนยังกลัวโควิด-19 อยู่ 

 

อีกนโยบายคือ การที่สภาคองเกรสของสหรัฐฯ เพิ่งผ่านออกมา เป็นนโยบายเชิงแก้ปัญหาเรื่องงาน เพราะช่วงนี้สิ่งที่คนอเมริกันกลัวคือ กลัวตกงาน รัฐบาลจึงออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ตกงานใหม่เพิ่มขึ้น หรือจ่ายค่าแรงในกรณีที่ลาป่วย ซึ่งนโยบายตรงนี้พอจะช่วยเศรษฐกิจได้ เพราะคนจะรู้สึกสบายใจมากขึ้น

 

ตามทัศนะของจิติพลนั้น ขนาดของมาตรการอัดฉีด ซึ่งมีมาตรการแจกเงินในสัดส่วนมากที่สุดนั้นน่าจะไม่ได้ช่วยเท่าที่ควร เพราะนโยบายแจกเงินควรทำตอนที่วิกฤตบรรเทาลงแล้ว ซึ่งตอนนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือการบริโภคจะได้ผลดี แต่ตอนนี้คนจำนวนมากตกงาน เมื่อได้เงินก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร หรือนำไปใช้ในสิ่งที่ตัวเองกำลังตื่นตระหนกอยู่มากกว่า

 

หากจะเกิดประโยชน์สูงสุด ประชาชนต้องนำเงินไปต่อยอดทำธุรกิจ แต่ด้วยจำนวนเงินที่รัฐแจกไม่สามารถทำแบบนั้นได้ 

 

อีกประการคือ เรื่องของ Timing ตอนนี้ไม่ใช่เวลาเหมาะที่ผู้คนจะนำเงินไปลงทุนในทางสร้างสรรค์

 

กระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน 

ฝ่ายวิเคราะห์ของบริษัท หลักทรัพย์ เคทีบี จำกัด (มหาชน) (KTBST SEC) มองว่า เมื่อเช็คเงินสดถูกจับจ่ายใช้สอยออกไปในครั้งแรก จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้ราว 0.118% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 

 

ในขณะที่งบประมาณบรรเทาผลกระทบอีกก้อนที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบในวุฒิสภาราว 1 แสนล้านดอลลาร์ สามารถกระตุ้น GDP ได้ราว 0.35% เป็นอย่างน้อย ในขณะที่งบประมาณรวมทั้งก้อนที่ทรัมป์เสนอไปอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

อย่างไรก็ดี มีโอกาสที่งบประมาณดังกล่าวจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อยกว่าที่ KTBST คาด เนื่องจากในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ปกติ ประชาชนมักมีพฤติกรรมถือเงินสดไว้เฉยๆ หรือนำไปเก็บสะสม (Hoarding) 

 

ดังนั้น การอัดเงินช่วยเหลือเข้าไปในระบบอาจไม่ทำให้เกิดการบริโภคในทันที เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ประชาชนอาจมีการกักตุนสินค้าไว้แล้ว ดังนั้น เงินช่วยเหลืออาจจะถูกเก็บไว้มากกว่าที่จะนำไปใช้ (Precaution) 

 

ซึ่งแนวทางที่ควรทำเพื่อป้องกันสถานการณ์ดังกล่าวก็คือ ควรกำหนดระยะเวลาในการใช้จ่ายที่ชัดเจน เช่น หากไม่ใช้เงินตามเวลาที่กำหนด ก็จะทำให้เช็คหมดอายุและไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้ เพื่อช่วยลดภาวะ Hoarding ในหมู่ประชาชน 

แต่หากงบทั้งหมดได้รับการอนุมัติที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ราว 5.2% อย่างไรก็ดี การกระตุ้นดังกล่าวอาจทำให้รัฐขาดดุลงบประมาณราว 5% เช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้เพดานหนี้ของสหรัฐฯ อาจทะลุระดับ 100% ของ GDP

 

จากนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ควรทำอะไรต่อ

จิติพลมองว่า วิกฤตครั้งนี้แตกต่างจากวิกฤตการเงินในปี 2008 ตรงที่ว่า วิกฤตปีนั้นคนขาดเงินคือธนาคารหรือสถาบันการเงิน แต่รอบนี้คนขาดเงินคือคนธรรมดา ซึ่งคนจำนวนมากขาดรายได้ไปเลยในช่วงวิกฤตการระบาด 

 

เพราะฉะนั้น ด้วยนโยบายการเงินเพียงลำพังจึงไม่ช่วยมากนัก แต่ต้องเสริมด้วยนโยบายการคลัง ซึ่งเครื่องมือทางการคลังมี 2 แบบ คือ ภาษี และมาตรการที่ทำให้เกิดการสร้างงานเพิ่มขึ้น เช่น หากคุณต้องการลดภาษีให้ภาคธุรกิจ ก็ต้องมีหลักประกันว่า ภาคธุรกิจเหล่านั้นจะกลับมาจ้างงานเพิ่มขึ้น

 

อีกเรื่องที่ต้องทำคือ การใช้นโยบายการคลังที่สนับสนุนในเรื่องการพัฒนาระบบสาธารณสุข ต่อให้วิกฤตรอบนี้ผ่านพ้นไปแล้ว ก็ต้องเตรียมพร้อมไว้สำหรับอนาคต หลายคนพูดกันว่า “Winter is coming back.” ถ้าหากไม่แก้ไขตอนนี้ ก็อาจต้องเผชิญกับวิกฤตอีกรอบ ตรงนี้ไม่ได้หมายถึงสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศในเอเชียด้วย   

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X