วันนี้ (25 กันยายน) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถ้อยแถลงระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UN) ครั้งที่ 77 โดยย้ำบทบาทของไทย ที่พร้อมทำงานร่วมกันในภูมิภาคอย่างใกล้ชิด จะช่วยเกื้อกูลการทำงานของระบบพหุภาคี และสนับสนุนการขับเคลื่อนวาระโลก
ดอนกล่าวว่า ปีนี้ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ภายใต้แนวคิด ‘เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล’ (Open. Connect. Balance.) ซึ่งแนวคิดดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยในการใช้ทุกโอกาสที่มี เชื่อมโยงกันในทุกมิติ และสร้างสมดุลในทุกแง่มุม ประเด็นเหล่านี้สะท้อนความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือระดับพหุภาคี ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนยิ่งขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด
ดอนกล่าวต่อไปว่า เราหวังว่าจะได้มีโอกาสต้อนรับเหล่าผู้นำที่กรุงเทพมหานครในเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากขณะนี้ไทยกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ และพร้อมจะต้อนรับผู้มาเยือนอีกครั้ง
ในช่วงหนึ่งขณะแถลง ดอนกล่าวว่า เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงระบุว่า “อย่ามองข้ามความเป็นไปได้ของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในวิกฤตยูเครน”
ผมอยากกล่าวถึงสุภาษิตของชาวตะวันออกเกี่ยวกับการขี่หลังสัตว์ในเชิงสันทนาการ ไม่ว่าสัตว์นั้นจะเป็นเสือหรือมังกรก็ตาม ซึ่งผมขอใช้เสือเป็นตัวอย่างในบริบทนี้ การขี่หลังเสืออาจเป็นเรื่องที่สนุกและท้าทาย แต่คงไม่มีใครที่อยากจะสนุกกับการขี่หลังเสือนั้นต่อไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น คำถามที่อาจเกิดขึ้นในใจ คือ เราจะลงจากหลังเสืออย่างไรให้แคล้วคลาด โดยไม่จำเป็นต้องฆ่าเสือตัวนั้น
ดอนกล่าวต่ออีกว่า จากแง่มุมนี้ คำถามดังกล่าวจึงเป็นเรื่องลำบากใจที่จะตอบ ตนจึงมีข้อเสนอที่ได้ประมวลจากเหตุปัจจัย และข้อเสนอดังกล่าวก็ไม่ได้หลุดไปจากสัจนิยมทางการเมืองระหว่างประเทศ (Realpolitiks Free) ทางออกหนึ่งที่ดูเหมือนจะสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้
โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนก่อนสุดท้ายของปี คือการสร้างโอกาสแรก และโอกาสทองให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดของวิกฤตยูเครนได้รวมตัวกัน ณ 3 แห่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะผู้ที่มีสิทธิในการเข้าร่วมอย่างชอบธรรม
- พนมเปญ ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน 2. บาหลี ในช่วงการประชุม G20 และ 3. กรุงเทพมหานคร ในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดสามารถเลือกพบกันในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งข้างต้น หรือทั้งหมด (In a series) ตามแต่เหมาะสม เพื่อหารือทางออกที่เป็นไปได้สำหรับวิกฤตความตึงเครียดระดับโลกในยูเครน
ดอนกล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้ UN ในฐานะองค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทและกลไกที่เกี่ยวข้องในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของโลก สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในความพยายามหาทางออกร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียข้างต้น จึงหวังว่าเหล่ามหาอำนาจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะไม่ปล่อยให้โอกาสทองในการแก้ไขปัญหาวิกฤตยูเครนครั้งนี้ผ่านไป