วันนี้ (29 มิถุนายน) การันต์ ธนกุลจีรพัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีอุบัติเหตุทางเลื่อนภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานดอนเมือง บริเวณทางเดิน South Corridor ระหว่าง Pier 4 – Pier 5 อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ยุบตัวลงในขณะที่มีผู้โดยสารใช้งาน ส่งผลให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ
การันต์กล่าวว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นถือว่าค่อนข้างรุนแรง ขาของผู้โดยสารเข้าไปติดที่ทางเลื่อน ทำให้บาดเจ็บตั้งแต่บริเวณเหนือหัวเข่าเป็นต้นไป ในเบื้องต้นท่าอากาศยานดอนเมืองได้นำตัวผู้ป่วยส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลภูมิพลฯ ในช่วงเร่งด่วนแล้ว ซึ่งหลังจากนั้นได้รับทราบจากทีมแพทย์ว่าผู้ป่วยประสงค์จะไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ทั้งนี้ ทีมแพทย์ชุดแรกได้แจ้งว่าไม่สามารถต่อขาคืนได้ แต่ทางครอบครัวและทีมแพทย์โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์จะลองรักษาอย่างเต็มที่อีกทาง แต่ล่าสุดยังไม่สรุปผลการรักษา
สาเหตุเบื้องต้นอยู่ในระหว่างการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง ทางท่าอากาศยานฯ อาจต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยมีทีมบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมตรวจสอบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและชัดเจนว่า สรุปแล้วเกิดข้อผิดพลาดในส่วนไหน
สำหรับทุกทางเลื่อนที่มีการใช้งานในท่าอากาศยานฯ มีการบำรุงรักษาทั้งแบบประจำวัน ประจำเดือน และประจำปี ทางเลื่อนนี้เป็นของบริษัทเอกชน ประเทศญี่ปุ่น เฉพาะที่ท่าอากาศยานดอนเมืองมีทางเลื่อนใช้งานอยู่ 20 ตัว โดย 6 ตัวเป็นรุ่นใหม่ อีก 14 ตัวเป็นรุ่นเก่า
การันต์กล่าวต่อว่า สำหรับทางเลื่อนที่เกิดเหตุเป็นรุ่นเก่า ไม่มีตัวเซ็นเซอร์ในการแจ้งเตือนผู้โดยสารว่าสิ้นสุดทางเลื่อน ติดตั้งมาตั้งแต่ปี 2539 ใช้งานมาแล้ว 27 ปี ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับบริษัทญี่ปุ่นมาโดยตลอดถึงประสิทธิภาพการใช้งาน ทางบริษัทยืนยันว่าทางเลื่อนตัวนี้ยังคงใช้งานได้ถ้ามีการบำรุงรักษาตามรอบระยะ แต่ทั้งนี้ท่าอากาศยานฯ มีแผนที่จะปรับเปลี่ยนทางเลื่อนทั้งหมดอยู่แล้ว เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร ซึ่งแผนการเปลี่ยนกำลังเสนอในแผนงบประมาณปี 2568
แต่เนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอาจมีการขอให้บรรจุในงบประมาณเร่งด่วนในปี 2567 เลยทันทีเป็นกรณีพิเศษ
อย่างไรก็ตามภาพวงจรปิดที่บันทึกภาพขณะเกิดเหตุได้เป็นภาพระยะไกล ซึ่งท่าอากาศยานฯ ต้องขอตรวจสอบอีกครั้งว่า เหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากการสะดุด หรือทางเลื่อนทำงานบกพร่องจนเกิดเป็นอุบัติเหตุร้ายแรง และจะมีการรายงานให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ ที่ยังไม่อยากวินิจฉัยไปก่อนเพราะอาจจะทำให้เกิดความสับสนและไม่เชื่อมั่นของประชาชน ท่าอากาศยานฯ จึงจำเป็นที่จะต้องหาข้อสรุปที่เท็จจริงก่อน โดยจะดำเนินการอย่างรวดเร็วมากที่สุด
การันต์กล่าวว่า ที่ผ่านมาจากการตรวจสอบสภาพอุปกรณ์ยังไม่มีปัญหาการสะดุด แต่ยังมีข้อสงสัยว่าเหตุใดระบบป้องกันอัตโนมัติของทางเลื่อนถึงไม่ทำงาน หรือทำงานล่าช้าหลังมีเหตุขัดข้อง เรื่องนี้จึงต้องมีการสอบสวนต่อไป ส่วนอุปกรณ์หวีซี่สุดท้ายของขอบทางเลื่อนไม่ได้มีการหัก แต่ภาพที่เผยแพร่ออกไปที่เห็นว่าชำรุด เกิดเพราะล้อกระเป๋าลาก มีการงัดกันอยู่
ยืนยันว่าท่าอากาศยานฯ มีการตรวจเช็กทางเลื่อนทุกวัน เพราะจะต้องมีการเปิด-ปิดสวิตช์ เพราะทางเลื่อนนี้ไม่ได้ถูกเปิดใช้งาน 24 ชั่วโมง
สำหรับการพูดคุยกับญาติผู้บาดเจ็บยังไม่มีการเรียกร้องอะไรเพิ่มเติม แต่ทางท่าอากาศยานดอนเมืองจะดูแลในส่วนของผู้เสียหายและครอบครัวอย่างเต็มที่ พร้อมประสานค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และมาตรการหลังจากนี้เป็นการเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบในแต่ละวัน แต่ก่อนอื่นต้องเป็นการหาสาเหตุที่เกิดให้ได้ ก่อนที่จะกลับมาใช้งานทางเลื่อนทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง