×

“สิ่งสำคัญที่สุดคือการชนะใจตัวเอง” โดม-ปกรณ์ ลัม กับการเตรียมตัววิ่งฟูลมาราธอนครั้งแรกในชีวิตที่เกียวโต มาราธอน

29.01.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • โดม-ปกรณ์ ลัม นักแสดงชายชื่อดัง เตรียมทดสอบฝีเท้าครั้งแรกในการวิ่งระยะมาราธอนที่สนามเกียวโต มาราธอน ปี 2020 ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ 
  • เป้าหมายที่โดมตั้งไว้คือการเอาชนะใจตนเองในการลงวิ่งระยะนี้เป็นครั้งแรก หลังจากที่เคยสัมผัสครึ่งทางที่การวิ่งฮาล์ฟมาราธอนมาก่อนหน้านี้ 
  • ก่อนหน้านี้โดมพบเจอกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับจนทำให้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ในช่วงที่กำลังเตรียมพร้อมไปวิ่งมาราธอนครั้งแรก 
  • สิ่งที่โดมคาดหวังจากมาราธอนแรกคือประสบการณ์ที่จะช่วยปลดปล่อยให้ตนเองมีความกล้าตัดสินใจในชีวิตการทำงาน 
  • ขณะที่เกียวโต มาราธอน ปีนี้เตรียมจัดโครงการรณรงค์เป็นอีเวนต์ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ 
  • รวมถึงได้ระดมทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 อีกด้วย 

วันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้จะเป็นการแข่งขันเกียวโต มาราธอน ครั้งที่ 9 แต่สำหรับ โดม-ปกรณ์ ลัม นักแสดงชื่อดัง การแข่งขันปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่เขาตัดสินใจลงวิ่งระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ร่วมกับทาง CW-X ที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น 

 

โดยก่อนที่เขาจะออกเดินทางไปลงแข่งขัน โดมมานั่งคุยกับ THE STANDARD ถึงการเตรียมพร้อมทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงเป้าหมายของการลงวิ่งมาราธอนครั้งแรกในชีวิต 

 

 

การตัดสินใจลงวิ่งมาราธอนแรกที่เกียวโต มาราธอน
คือถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับผมอยู่ตรงครึ่งทางพอดีของการตัดสินใจครั้งนี้ เพราะผมเคยจบฮาล์ฟมาราธอนมา วันนั้นที่เจอทาง CW-X โดยบังเอิญเป็นงานแฟชั่นโชว์แล้วทักทายกัน พี่เขาก็แนะนำตัวแล้วบอกว่าเขาจะมีโปรเจกต์วิ่งที่เกียวโต ที่ผ่านมาเขาพอรู้ว่าผมวิ่งอยู่ ก็ถามว่าวิ่งฟูลมาราธอนไหวไหม ครั้งแรกที่ผมบอกคือผมไม่น่าไหว เพราะผมเคยวิ่งแต่ฮาล์ฟมาราธอน มันแค่ครึ่งทาง 

 

แต่จากตรงนั้นผมก็ยังไม่ได้ตอบรับในทันที เก็บมาคิดก่อนประมาณ 2 สัปดาห์ว่าผมจะมองไปทางที่ผมเคยมาหรือจะไปต่อข้างหน้าดี ในเมื่อผมก็มาถึงครึ่งทางของมาราธอนแล้ว 

 

ครึ่งทาง… ถ้ามองในแง่บวกคือผมก็เหลืออีกแค่ครึ่งเดียว และผมเป็นคนที่รักการออกกำลังกาย ยิ่งทาง Wacoal บอกว่าจะมีโค้ชที่เป็นอาจารย์มาช่วยวางระบบให้ เป็นเหมือนกับ Pacer วิ่งประกบเลย 

 

ผมเลยคิดว่าโอกาสแบบนี้ ถ้าไม่ร่วม อนาคตก็คงมีสักครั้งอยู่ดีที่ผมต้องไปวิ่งฟูลมาราธอนเอง ซึ่งถึงวันนั้นผมอาจจะไม่มีโค้ชมาช่วยแบบนี้ อันนี้เหมือนกับมีคนคอยปลุกใจ คอยเฆี่ยนผมให้ไปต่อ เป็นโอกาสให้ผมได้พัฒนาตัวเองขึ้นไป 

 

ความท้าทายที่เกียวโต มาราธอน

ตอนแรกข้อมูลเกี่ยวกับเกียวโต มาราธอน ค่อนข้างน้อย แต่พอเริ่มต้นศึกษาก็พบว่าเวลาคัตออฟเร็วมาก เร็วกว่าโตเกียว มาราธอน 1 ชั่วโมง ความหมายคือสำหรับมือใหม่อย่างผมมันเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก จากที่ฟังเรื่องเล่าจากปีก่อนๆ หันหลังไปก็เจอแถวคัตออฟไล่หลังมา เหมือนเป็นเส้นชี้ชะตากวดไล่หลังมาเรื่อยๆ

 

ก็รู้สึกว่าอย่างแรกคือเป็นสนามที่ยาก และอย่างที่สองคือมีภูเขานะครับ เป็นเนิน ที่ฟังจากคนอื่นเล่ามาอีกที คือผมจะซึมไปเรื่อยๆ ก็ไม่รู้ที่บอกว่าซึมนี่คือใจหรือร่างกายผมที่ซึมไปเรื่อยๆ (หัวเราะ) 

 

ผมก็เลยต้องซ้อมขึ้นเนินด้วย ทำให้รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายนะ มันไม่น่าจะยากเกินกว่าที่ผมจะทำ ตอนนี้ผมซ้อมจนมาถึงโค้งสุดท้ายแล้ว 

 

 

ครึ่งทางที่เหลือกับความท้าทายสำหรับชีวิตการทำงานและการออกกำลังกาย
ผมก็เหมือนคนทั่วไปที่ทำงานประจำ และการออกกำลังกายเป็นสิ่งที่เสริมมาเพื่อสุขภาพที่ดี ผมเองก็ไม่ใช่นักกีฬาอาชีพ แต่หลายครั้งที่ผมเองรู้สึก โดยเฉพาะเรื่องงาน บางครั้งผมผิดพลาดเพราะแพ้ใจตัวเอง หลายครั้งผมรู้สึกว่าไม่เอาดีกว่า แล้วก็ยอมเสียโอกาสที่ดีไปเพียงเพราะรู้สึกว่าโจทย์มันยากไปหรือเวลาไม่พอ ผมจะหาข้ออ้างให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลา 

 

ครั้งนี้ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการชนะใจตัวเอง โอกาสนี้ที่ผมมีทั้งงาน ทั้งละคร ทั้งเพลง ทั้งธุรกิจส่วนตัว แต่ผมยังสามารถแทรกอันนี้เข้ามาได้ ถ้าผมทำได้มันจะเป็นหลักให้ใจของผมว่า ครั้งต่อๆ ไปในโอกาสที่ผมต้องตัดสินใจอะไร ขอให้ยึดความมุ่งมั่นและการตัดสินใจในครั้งนี้เอาไว้ ก็หวังว่าจะเป็นหลักที่เปลี่ยนทัศนคติของผมในอนาคตได้ 

 

ให้ผมกล้าที่จะเลือก กล้าที่จะเสี่ยง เพราะถ้ามันสำเร็จ มันคุ้มค่าเสมอ แต่หลายๆ ครั้งผมก็อยู่ในจุดที่ปลอดภัยหรือเซฟโซนใน 21 กิโลเมตรที่ผมอยู่ตลอดมา และเซฟโซนในงานอื่นๆ เช่น บางครั้งงานแสดงที่มันท้าทาย ผมเองก็เลือกที่จะไม่รับ เพราะกลัวว่าคำตอบมันจะไม่ใช่ แต่จริงๆ แล้วบางครั้งมันออกมาดี ผมก็รู้สึกเสียดาย 

 

 

การเตรียมตัวสำหรับฟูลมาราธอนครั้งแรก
ผมเองก็เตรียมตัวตามแผนที่ครูต้นวางมาให้ได้มากที่สุด จากที่พยายามตอนนี้ได้เพียง 65-70% จากแผน 100% เพราะมีอาการป่วยในช่วงที่ผ่านมา ผมเองก็ควบคุมไม่ได้ ที่ผ่านมาผมมีอาการนอนแล้วหยุดหายใจ มี Sleep Apnea อาการคือโพรงที่คอตกไปบีบหลอดทางเดินหายใจ สุดท้ายก็ต้องไปทำ Sleep Test แล้วก็มีปัญหาการนอน รู้สึกว่านอนยังไงก็ไม่เต็มอิ่ม รู้สึกว่าออกซิเจนมันเข้าไปในเลือดไม่พอ 

 

โชคยังดีที่ว่าเกือบ 2 เดือนที่แล้วไปทำ Sleep Test แล้วได้อุปกรณ์ช่วยหายใจ ทุกวันนี้ก็ยังสงสารแฟนอยู่ว่าตอนนอนจะหันมาเห็นแล้วตกใจ ซึ่งสิ่งนี้เองทำให้ส่งผลกระทบต่อการซ้อมมาก แล้วก็มีเรื่องของระหว่างสัปดาห์ที่พอออกกองไปเจอผู้คนสักพักก็ป่วยกลับมา ช่วงแรกก็เลยเหมือนโดนตัดกำลังไปพอสมควร แต่ตอนนี้ก็เริ่มกลับเข้าโปรแกรมเหมือนเดิม มาเฆี่ยนหนักกว่าเดิมครับ (หัวเราะ) 

 

โปรแกรมตอนนี้คือในแต่ละสัปดาห์ต้องวิ่งให้ได้อย่างน้อย 60 กิโลเมตร แต่ผมเองก็โดนละครแบ่งไปแล้ว 3 วัน ดังนั้น 4 วันที่เหลือต้องวิ่งให้ได้อย่างน้อยวันละ 15 กิโลเมตร ไม่อย่างนั้นจะไม่จบ บางสัปดาห์ก็ถึง บางสัปดาห์ก็ 40 กิโลเมตร บ้างก็ 50 กว่ากิโลเมตร คือปกติผมเป็นคนที่วิ่งตอนเช้า 5-7 กิโลเมตรอยู่แล้ว วิ่งให้ตื่นตัวก่อนไปทำงาน แต่พอมีโปรแกรมเข้ามาก็หนักขึ้น เพราะต้องปรับด้านอาหารการกินของเราด้วย 

 

ที่ผ่านมามีบางครั้งผมซ้อมเยอะ ฟื้นตัวไม่ทัน ตื่นมาอีกวันคือล้าไปหมด ตอนนี้เลยเริ่มหันมาดูเรื่องโภชนาการ ไปศึกษามาจากหลายๆ ที่ อันนี้ต้องช่วยฟื้นตัวเองด้วย หลายคนบอกว่าควรจะลดเนื้อสัตว์ลง และควรจะเอาโปรตีนจาก Plant-based เพิ่มขึ้น เช่น เต้าหู้ นมถั่วเหลือง และปลาบ้าง แต่หมูกับเนื้อวัวต้องตัดเลย 

 

ก็ตั้งแต่เปิดปี 2020 หมู เนื้อวัว ไก่ ผมไม่ได้กินเลย เข้าโหมดเฆี่ยนหนักๆ เลยครับ (หัวเราะ) แต่ผมก็รู้สึกดีขึ้น ตัวเบา วิ่งได้สบายขึ้น ระบบย่อยก็ดีขึ้นครับ 

 

 

ชีวิตหนึ่งวันในช่วงโค้งสุดท้าย
ช่วงนี้ผมต้องไปเก็บตัวต่างจังหวัด เพราะว่าที่ผ่านมากรุงเทพฯ มีสถานการณ์ของฝุ่น ก็มีแผนจะไปเขาอีโต้ เขื่อนขุนด่านปราการชล ที่มีระยะทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก มีอาหารที่เราสามารถเลือกรับประทานได้ และเดินทางไปนอนสัก 2-3 วัน รวมถึงแถวนั้นมีภูเขา เราเองก็ได้ทดลองขึ้นไปที่สูงด้วย 

 

ความท้าทายที่สุดของผมคือเวลานอน เพราะนอนไม่ค่อยหลับ บางครั้งทำงานเสร็จ 2 ทุ่มก็กลับมาวิ่งต่อ มันจะตื่นไปหมด ทำให้ผมไม่หลับ ตื่นมาก็ล้า แล้วก็จะไปกระทบอีกวันหนึ่งที่มีงานเช้าต่อด้วย ตอนนี้ความท้าทายที่สุดคือนอนให้พอ อย่างน้อยก็ต้อง 6 ชั่วโมง เพราะเป้าหมาย 8 ชั่วโมงตอนนี้ยากมาก และต้องพักฟื้นให้ทันอีกวัน 

 

ตอนนี้ผมเองก็มีสลับกับการออกกำลังกายอย่างอื่น เช่น ว่ายน้ำให้ร่างกายผ่อนคลายบ้าง ค่อนข้างจะแบ่งตารางแต่ละวันยากมาก เพราะไม่เท่ากันเลย ตอนนี้มีวิ่งทั้งเช้าและเย็น แทรกตอนกลางวัน วันนี้สัมภาษณ์เสร็จผมก็จะไปวิ่งเลย 

 

อุปกรณ์ที่ผมจะใช้สำหรับการลงมาราธอนครั้งแรก ชุดก็มีส่วนมากครับในการวิ่งระยะไกล เพราะผมต้องการซัพพอร์ตกล้ามเนื้อ อย่างลายของกางเกงตัวนี้ที่มีตรงช่วงน่อง น้ำหนักตัวที่ประมาณ 76-78 กิโลกรัม เวลาวิ่งที่ผมกดลงพื้นก็จะคูณสอง

 

น้ำหนัก 70 คูณสองก็ 140 กว่ากิโลกรัมลงที่กล้ามเนื้อ พอวิ่งนานๆ 10-20 กิโลเมตรก็บาดเจ็บ แต่ลายที่กางเกงพวกนี้เป็นตัวช่วยพยุงกล้ามเนื้อและเอ็นรอบหัวเข่า ขึ้นมาตรงกล้ามเนื้อทุกส่วนที่เกี่ยวกับการวิ่ง ผมสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและวิ่งได้ไกลขึ้น ทำให้ทุกอย่างอยู่ในที่ของมัน ไม่ให้กล้ามเนื้อสะบัด 

 

สภาพอากาศที่แตกต่างจากไทย 

ตอนออกตัวก็มีอุณหภูมิที่ติดลบ ผมก็เตรียมชุดแขนยาว Warm Tight เอาไว้ แต่พอวิ่งไปเรื่อยๆ ก็จะอุ่นขึ้นเรื่อยๆ จะหนักแค่เวลาปล่อยตัวตอน 9 โมงเช้าที่อากาศจะหนาวมาก ความยากของที่นี่คือต้องจบภายในบ่าย 3 โมง ต้องวิ่งประคองให้ดี ขอให้จบให้ได้ นั่นคือเป้าหมาย 

 

 

เป้าหมายที่สำคัญที่สุด
เป้าหมายจริงๆ คืออย่างน้อยอยากที่จะจบการแข่งขันในฐานะ Finisher ระยะมาราธอนให้ได้เป็นครั้งแรกครับ และเชื่อว่าการลงวิ่งมาราธอนครั้งนี้น่าจะส่งผลดีต่อสุขภาพ รวมถึงเป้าหมายการทำงานในอนาคตจากประสบการณ์ที่เกียวโต มาราธอน ในครั้งนี้ 

 

ไฮไลต์ของเกียวโต มาราธอน ในปี 2020 

ขณะที่โดมมีเป้าหมายเอาชนะใจตนเองในการพิชิตมาราธอนครั้งแรกในชีวิต ฝ่ายจัดการแข่งขันสำหรับเกียวโต มาราธอน มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การจัดการแข่งขันที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยที่สุด 

 

 

โดยในปีนี้ทางเกียวโต มาราธอน ได้รับการแต่งตั้งเป็นแอมบาสเดอร์ของโครงการ Do You Kyoto? โครงการรณรงค์รักษาธรรมชาติร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของนครเกียวโต 

 

ทางเมืองเกียวโตได้จัดทำ ‘Do You Kyoto Credits’ เพื่อพยายามลดการปล่อยสารคาร์บอนจากการจัดอีเวนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหรือสร้างมลพิษ ซึ่งทางฝ่ายจัดการแข่งขันจะพยายามให้งานวิ่งครั้งนี้เป็นงานที่ไม่มีการสร้างสารคาร์บอนเกิดขึ้น โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ 5 ข้อคือ 

 

  1. ลดการเกิดขยะและพยายามรีไซเคิลให้มากที่สุด 
  2. ประหยัดพลังงานและทรัพยากร 
  3. โปรโมต Green Purchasing 
  4. เลือกใช้พาหนะที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 
  5. สร้างความตื่นตัวต่อการรักษาธรรมชาติกับผู้เข้าร่วมแข่งขัน 

 

วันที่ทำการแข่งขัน 16 กุมภาพันธ์ จะเป็นวันที่เกียวโตรณรงค์ไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยทั้งเมืองจะเป็น Car Free Day 

 

ในส่วนของงานวิ่ง นักวิ่งสามารถนำแก้วน้ำหรือขวดน้ำมาเติมที่จุดบริการที่เตรียมไว้ เพื่อช่วยลดขยะแก้วน้ำที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันวิ่ง 

 

ภาพ: Kyoto Marathon 

 

นอกจากนี้ฝ่ายจัดการแข่งขันยังลดการใช้กระดาษด้วยการอัปโหลดสถิติออนไลน์ให้นักแข่งค้นหาในเว็บไซต์ แทนที่จะปรินต์ให้นักวิ่ง 

 

รวมถึงเกียวโต มาราธอน จะบริจาคอาหารและน้ำที่เหลือจากการแข่งขันเข้าธนาคารอาหาร 

 

ภาพ: Kyoto Marathon 

 

ส่วนเหรียญรางวัลทำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ 100% รวมถึงชุดของอาสาสมัครและทีมงาน (ยกเว้นหมวก) จะถูกรวบรวมมาเพื่อทำความสะอาดและเตรียมนำกลับมาใช้งานต่อ

 

ภาพ: Kyoto Marathon 

 

เกียวโต มาราธอน กับการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่
เกียวโต มาราธอน ปีนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมกันฟื้นฟูนครเกียวโตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 2011 ด้วยคอนเซปต์ ‘Energy from Kyoto through sport’ 

 

โดยความช่วยเหลือในปีนี้มีทั้งการมอบโควตาการวิ่งฟรีให้กับนักวิ่งที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว Great East Japan Earthquake เมื่อปี 2011 

 

รวมถึงการเปิดรับบริจาคคนละ 500 เยนจากนักวิ่งที่ร่วมบริจาคเพิ่มจากค่าสมัครวิ่ง พร้อมกับมอบทุนให้กับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยเมื่อปี 2019 ทางเกียวโต มาราธอน ได้ระดมทุนสูงถึง 7,684,166 เยน

 

นอกจากนี้บน Bib ของนักวิ่งจะมีข้อความสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น “Never forget 3.11” “What can i do now” และ “ก้าวต่อไปข้างหน้าที่ก้าว” 

 

รวมถึงก่อนออกสตาร์ทจะมีช่วงเวลายืนสงบนิ่งเพื่อเป็นการแสดงถึงแรงสนับสนุนต่อผู้คนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising