×

ดอลลาร์อาจเป็นหลุมหลบภัยเดียว ท่ามกลางความเสี่ยง Recession ที่ธนาคารโลกคาดว่าเราจะต้องเผชิญในปีหน้า

17.09.2022
  • LOADING...

เงินดอลลาร์สหรัฐ อาจเป็นเพียงทางเลือกเดียวเพื่อประกันความเสี่ยงจากการที่สินทรัพย์ลงทุนทั่วโลกกำลังดิ่งลงต่อเนื่อง เราจึงเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง

 

มูลค่าของตลาดหุ้นทั่วโลกหายไป 23 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์มีทิศทางตรงกันข้ามกับสินทรัพย์เสี่ยง กลายเป็นหลุมหลบภัยเดียวในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากการเปิดเผยของ Citigroup ซึ่งมองว่าค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นไปอีก สอดคล้องกับ Brown Brothers Harriman & Co. ที่ระบุว่า การลดลงของสินทรัพย์ทั่วโลกจะยังคงเป็นปัจจัยหนุนค่าเงินดอลลาร์ต่อไป

 

Jamie Fahy และ Adam Pickett นักกลยุทธ์ของ Citigroup กล่าวว่า “หลุมหลบภัยเดียวในตอนนี้คือเงินดอลลาร์” ขณะที่ The Bloomberg Dollar Spot Index ซึ่งติดตามค่าเงินดอลลาร์กับสกุลเงินหลักอีก 10 สกุล สะท้อนว่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 11% ในปีนี้ ถือเป็นสถิติสูงสุดนับแต่ที่ดัชนีดังกล่าวเริ่มติดตามค่าเงินมาตั้งแต่ปี 2004

 

เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าต่อเนื่องเป็นผลจากปัจจัยสำคัญคือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ขณะที่สกุลเงินหลักอื่นๆ เช่น ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษ อ่อนค่า 16% ในปีนี้ นับเป็นการอ่อนค่าในระดับมากกว่า 10% เป็นครั้งที่ 4 นับแต่ปี 1992

 

การที่ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าหลุดระดับ 1.14 ดอลลาร์ ถือเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดนับแต่ปี 1985 และเป็นค่าเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดในกลุ่มประเทศ G10

 

การอ่อนค่าของเงินปอนด์ในปัจจุบันส่งผลให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่าค่าเงินปอนด์แทบจะไม่ต่างไปจากสินทรัพย์ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ และมีโอกาสจะเกิดวิกฤตค่าเงินตามมา ซึ่งปัจจัยกดดันสำคัญมาจากเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็ดิ่งลง แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาค่าไฟฟ้า

 

ด้านธนาคารโลกเปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกอาจเผชิญกับภาวะถดถอยในปีหน้า จากการที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าว เพื่อพยายามจะลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ

 

ขณะที่นักลงทุนต่างคาดว่าธนาคารกลางต่างๆ จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปจนถึงระดับ 4% ในปีหน้า เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากค่าเฉลี่ยเมื่อปี 2021 แต่การขึ้นดอกเบี้ยนี้จะช่วยให้เงินเฟ้อลดลงมาสู่ระดับเพียงแค่ 5% แต่หากจะทำให้เงินเฟ้อลดลงมาสู่กรอบเป้าหมาย อาจจะต้องเห็นการขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 6%

 

ทั้งนี้ ธนาคารโลกคาดว่า GDP โลกในปี 2023 จะเติบโตเพียง 0.5% ซึ่งจะถือเป็นการเกิดภาวะถดถอยทางเทคนิคของเศรษฐกิจโลก

 

David Malpass ประธานของธนาคารโลก กล่าวว่า “ผู้กำหนดนโยบายควรเปลี่ยนจุดโฟกัสจากการลดการบริโภค มากระตุ้นการเพิ่มการผลิต นโยบายต่างๆ ควรจะช่วยกระตุ้นการลงทุนและช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการจัดสรรเงินทุนให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญต่อการเติบโตและลดความยากจน”

 

ด้านราคาน้ำมันดิบโลกอย่าง WTI ซึ่งเคยพุ่งขึ้นมาก่อนหน้านี้ และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นให้เงินเฟ้อพุ่งสูง โดยเฉพาะในยุโรปที่กำลังเผชิญกับวิกฤตพลังงาน ล่าสุดราคาน้ำมันปรับตัวลดลงสู่ระดับ 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มีแนวโน้มจะลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน

 

Warren Patterson หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์สินค้าโภคภัณฑ์ของ ING Groep N.V. ในสิงคโปร์ กล่าวว่า “Sentiment ในตลาดน้ำมันยังคงเป็นลบ ด้วยความต้องการในจีนที่อ่อนลง ขณะที่การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการที่ Fed จะยังคงใช้นโยบายการเงินตึงตัว จะไม่ส่งผลดีต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์”

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising