เงินดอลลาร์ดูเหมือนจะมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปจะขึ้นอยู่กับข้อมูลทางเศรษฐกิจ ซึ่งหนุนความเชื่อมั่นของเหล่าเทรดเดอร์ว่า นโยบายความเข้มงวดทางการเงินของสหรัฐอเมริกาใกล้สิ้นสุดลงแล้ว
ดัชนีวัดค่าเงินสหรัฐฯ ของ Bloomberg ปรับตัวลงในวันพฤหัสบดีนี้ (27 กรกฎาคม) ส่งผลให้ปีนี้ดัชนีลดลงมากกว่า 3% หลังจาก Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% และย้ำว่า การเคลื่อนไหวครั้งต่อไปจะขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจที่แสดงออกมา ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่ากว่า 10 สกุลเงินของประเทศในเอเชียที่มีการซื้อ-ขายสูงสุด โดยสกุลเงินของนิวซีแลนด์และออสเตรเลียทำกำไรเหนือตลาดมากที่สุด
คำแถลงของ Fed สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนที่เดิมพันว่าดอลลาร์จะอ่อนค่าลง เช่น AllianceBernstein Holding LP และ M&G Investments มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวทำให้ความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจของ Fed เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเป็นสถานการณ์ที่ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ผู้จัดการสินทรัพย์ได้เพิ่มระดับการชอร์ตเงินดอลลาร์สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์ก็พลิกสถานะกลับมาเป็นชอร์ตสุทธิสำหรับสกุลเงินสหรัฐฯ ในเดือนนี้ ตามข้อมูลของ Commodity Futures Trading Commission
โนเอล ดิซอน นักยุทธศาสตร์มหภาคของ State Street Global Markets กล่าวว่า บริษัทพบการขายดอลลาร์จำนวนมากจากลูกค้าสถาบัน ตลาดยังคงยึดติดกับสถานการณ์ที่เงินเฟ้อลดลงตามความคาดหมาย อ้างอิงจากฐานข้อมูลของบริษัทเอง
ดัชนี Bloomberg Dollar Spot ลดลง 0.3% ในวันพฤหัสบดีนี้ ในทางกลับกันสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ในเอเชียต่างปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะสกุลเงินบาทของไทยและเงินริงกิตของมาเลเซียที่แข็งค่าขึ้นมากที่สุด ดัชนี MSCI ของสกุลเงินประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นเกือบ 3% ในปีนี้ หลังจากที่ขาดทุน 4% ไปเมื่อปีที่แล้ว
ด้าน ดาราจ เมเฮอร์ นักยุทธศาสตร์ของ HSBC ระบุว่า กุญแจสำคัญของสกุลเงินสหรัฐคือ การที่อัตราเงินเฟ้อสามารถชะลอตัวต่อไปตามเป้าหมายของ Fed ได้หรือไม่ โดยที่เศรษฐกิจไม่ตกต่ำตามไปด้วย
“หากข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สนับสนุนต่อสถานการณ์ Goldilocks กล่าวคือเป็นสถานการณ์ที่เอื้อต่อราคาหุ้น โดยเศรษฐกิจอยู่ในแนวโน้มเติบโต การว่างงานลดลง เงินเฟ้อและดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งได้เกิดขึ้นไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ เงินดอลลาร์อาจกลับมาแข็งค่าได้
“อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่เหนียวแน่นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด จึงน่าจะได้เห็นการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ผ่านอัตราดอกเบี้ยและการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของ Fed มากกว่า” เมเฮอร์เผย
อ้างอิง: