หลังจากวงการบันเทิงสูญเสีย ดอกดิน กัญญามาลย์ นักแสดงระดับบรมครูและตำนานผู้กำกับภาพยนตร์ เจ้าของวลี “ล้านแล้วจ้า” ไปอย่างสงบแล้วเมื่อเวลา 03.00 น. ของวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 ด้วยโรคชรา ขณะอายุ 94 ปี โดยจะมีกำหนดพระราชทานน้ำหลวงอาบศพในวันนี้ เวลา 16.00 น. ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ศาลา 6 และสวดพระอภิธรรม 7 วัน เวลา 18.00 น.
ขณะเดียวกันชะตาชีวิตของ ดอกดิน กัญญามาลย์ นั้นเหมือนเกิดมาเพื่อโลกบันเทิงอย่างแท้จริง เมื่อย้อนกลับไป ธำรง กัญญามาลย์ มีชื่อเล่นว่า ‘ดิน’ ซึ่งมีที่มาจากสีผิวที่ขลับเข้มมาแต่เกิด
ดอกดินชื่นชอบลิเกไปจนถึงเพลงพื้นบ้านมาตั้งแต่เด็ก กระทั่งเขาเริ่มฝึกฝนและออกแสดงครั้งแรกเมื่ออายุ 11 ขวบ จากนั้นเข้าสู่วงการ ‘แสดงจำอวด’ หน้าม่านลิเก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ต่อมาในปี 2493 ดอกดินได้รับโอกาสสำคัญจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เจ้าของคณะอัศวินการละคร ให้รับหน้าที่แสดงเป็นตัวตลก และเริ่มใช้ชื่อในการแสดงว่า ดอกดิน กัญญามาลย์ นับแต่นั้นเป็นต้นมา
แต่ฝันของดอกดินไม่ได้หยุดเพียงแค่นักแสดงตลก เพราะหลังจากแจ้งเกิดในวงการได้ 2 ปี ดอกดินเริ่มสนใจงานสร้างภาพยนตร์ จากการได้เข้าไปมีส่วนร่วมในงานพากย์เสียงภาพยนตร์ฮ่องกงและภาพยนตร์ฮอลลีวูด เขาศึกษางานผ่านสคริปต์ที่ตัวเองพากษ์ และตัดสินใจสร้างภาพยนตร์ขาวดำ 16 มม. ชุดสามเกลอ ร่วมกับอีกหนึ่งตำนานตลกอย่าง ล้อต๊อก และ สมพงษ์ พงษ์มิตร ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง
หากแต่ก้าวสำคัญในชีวิตจริงๆ ที่ส่งให้ ดอกดิน กัญญามาลย์ ได้รับการจดจำในระดับตำนานวงการบันเทิงไทย คือผลงานสร้างภาพยนตร์ภายใต้ชื่อ ‘กัญญามาลย์ภาพยนตร์’ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นภาพยนตร์แอ็กชันผสมคอเมดี้ ซึ่งดอกดินนี่เองที่เป็นผู้จุดกระแสพระ-นางคู่ขวัญ มิตร ชัยบัญชา และ เพชรา เชาวราษฎร์ ผ่านงานสร้างภาพยนตร์ของตนเอง อาทิ นกน้อย (2507), ลมหวน (2508), เงิน เงิน เงิน (2508), แสงเทียน (2509), มดแดง (2510), ปูจ๋า (2510) ฯลฯ
มิตร ชัยบัญชา และ เพชรา เชาวราษฎร์ คู่ขวัญยอดนิยมของวงการจากภาพยนตร์ ลมเหนือ (2512) ซึ่งเป็นผลงานเรื่องสุดท้ายที่ทั้งคู่เล่นคู่กันให้กับ ‘กัญญามาลย์ภาพยนตร์’
ตลอดช่วงชีวิต ดอกดินสร้างและกำกับภาพยนตร์ออกมาทั้งสิ้น 32 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ประสบความสำเร็จ โดยทำรายได้ทะลุเกิน ‘หนึ่งล้านบาท’ ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่สูงมากของวงการภาพยนตร์ในยุคนั้น เอกลักษณ์สำคัญคือวลีอมตะ “ล้านแล้วจ้า” ที่ดอกดินมักจะใช้พูดและใช้ประชาสัมพันธ์หลังจากภาพยนตร์ที่ตนสร้างได้รับความนิยมจนทำรายได้เกินหนึ่งล้านบาท
ด้านเกียรติยศ ดอกดิน กัญญามาลย์ ได้รับการเชิดชูเกียรติรางวัลนราธิป ประจำปี 2550 และต่อมาได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2555 สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์) ซึ่งนั่นจะส่งให้เขาได้รับการจดจำในฐานะผู้สร้างและผู้กำกับภาพยนตร์ที่สร้างผลงานโดดเด่น มีเอกลักษณ์ และประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทย
ขอบคุณภาพจาก: www.thaifilm.com