ทางการสหรัฐอเมริกา นำโดยรองอัยการสูงสุด ร็อด โรเซนสไตน์ เปิดเผยว่าได้ตั้งข้อหาเตรียมดำเนินคดีกับแฮกเกอร์ชาวจีนจำนวน 2 ราย หลังมีความพยายามจะโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานรัฐและบริษัทหลายแห่งในกว่า 12 ประเทศ โดยหน่วยงานที่ตกเป็นเป้าหมายของแฮกเกอร์ 2 รายนี้มีชื่อขององค์การนาซาและกองทัพเรือสหรัฐอเมริการวมอยู่ด้วย
นอกจากนี้กระทรวงยุติธรรมยังระบุอีกด้วยว่าธนาคารใหญ่ๆ หลายแห่ง บริษัทโทรคมนาคม บริษัทรับปรึกษาและจัดหาข้อมูลในสหรัฐฯ หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ก็ตกเป็นเป้าโจมตีของสองแฮกเกอร์ชาวจีนเช่นกัน สร้างความไม่พอใจให้กับโรเซนสไตน์และสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก เพราะมองว่าจีนได้ละเมิดคำสัญญาของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงที่เคยให้ไว้เมื่อปี 2015 ว่าจะยุติการโจมตีทางไซเบอร์กับบริษัทสหรัฐฯ และโครงสร้างพื้นฐานเชิงพาณิชย์
“มันเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ที่เราพบว่าจีนยังคงเปิดฉากโจมตีก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์กับชาติอื่นๆ
“เราต้องการให้จีนยุติกิจกรรมทางไซเบอร์ทุกชนิดที่ผิดกฎหมาย และให้เกียรติสัญญาที่เคยให้ไว้ต่อประชาคมโลก แต่หลักฐานในครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าจีนอาจไม่เคร่งครัดที่จะรักษาสัญญาของตัวเอง” โรเซนสไตน์กล่าว
ด้านสหราชอาณาจักรก็ร่วมประณามการกระทำในครั้งนี้ของสองแฮกเกอร์จีนด้วย โดยเลขานุการต่างประเทศ เจเรมี ฮันต์ ระบุว่าปักกิ่งยังคงพยายามจะแฮกระบบคอมพิวเตอร์ในประเทศของตนเพื่อการพาณิชย์และแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ โดยเรียกร้องให้หยุดการโจมตีทางไซเบอร์โดยเร็ว
อย่างไรก็ดี ทางการจีนได้ตอบปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดย ฮั่วชุนหยิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้เปิดเผยล่าสุดว่าสหรัฐอเมริกาเป็นผู้กุเรื่องทั้งหมดขึ้นมา แถมยังประณามจีนอย่างไม่สมเหตุสมผลในประเด็นปัญหาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ โดยเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยุติข้อกล่าวหาดังกล่าวโดยด่วนเพื่อหลีกเลี่ยงการเติมเชื้อเพลิงกระตุ้นความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ
แม้ความบาดหมางในครั้งนี้อาจจะเป็นคนละประเด็นกับสงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างสองประเทศ แต่หากมองออกไปให้ไกลกว่านั้นก็จะพบว่าในช่วงระยะหลังๆ ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างก็พยายามกดดันและเปิดศึกสงครามทางอ้อมกันนอกสังเวียนเวทีการค้าอยู่บ่อยๆ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: