เมื่อประเทศไทยกำลังพัฒนา จึงต้องเปิดให้ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศสามารถทำธุรกิจและพัฒนาธุรกิจง่ายขึ้น ทำให้หลายปีมานี้รัฐหันมาโฟกัส Ease of Doing Business คือการปรับทุกขั้นตอนสนับสนุนให้การทำธุรกิจในไทยง่ายขึ้น
ล่าสุดมีข่าวดีว่า ไทยปรับอันดับขึ้นมาอยู่ที่ 21 ของโลกในเรื่องนี้ แต่รายละเอียดเป็นอย่างไร?
อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ธนาคารโลกเผยแพร่การจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจประจำปี 2563 (Doing Business 2020) โดยประเทศไทยอยู่อันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศ ปรับตัวดีขึ้น 6 อันดับ จากปีที่แล้วอยู่อันดับที่ 27 ซึ่งอันดับปี 2020 นี้ถือเป็นอันดับที่ดีที่สุดในรอบ 6 ปี
ทั้งนี้รายงาน Doing Business 2020 ไทยได้คะแนน 80.10 คะแนน เพิ่มขึ้น 1.65 คะแนนจากปีที่แล้ว โดยมีประเทศในอาเซียนที่อยู่อันดับก่อนหน้า เช่น สิงคโปร์ อันดับที่ 2 ของโลก ที่มี 86.20 คะแนน และมาเลเซีย อยู่อันดับที่ 12 มี 81.50 คะแนน
อย่างไรก็ตาม การที่ไทยปรับอันดับที่ดีขึ้นมาจากคะแนนเพิ่มขึ้นสูงใน 2 ด้าน ได้แก่
1. ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง (Dealing with Construction Permits) รายงานปี 2020 ได้คะแนน 71.86 คะแนน อยู่อันดับที่ 34 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งอยู่อันดับ 67 มี 77.30 คะแนน เป็นผลมาจากการดำเนินการลดขั้นตอนในการขออนุญาตก่อสร้าง (Procedures) ลงจาก 19 ขั้นตอน เหลือ 14 ขั้นตอน และลดระยะเวลาดำเนินการ (Time) ลงจาก 118 วัน เหลือ 113 วัน
2. ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย (Protecting Minority Investors) รายงานปี 2020 ไทยได้คะแนน 86.00 คะแนน อยู่อันดับ 3 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่อยู่อันดับ 15 อยู่ที่ 75.00 คะแนน สาเหตุเพราะคะแนนด้านการคุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้น (Ease of Shareholder Suits Index) ที่เพิ่มขึ้นเป็น 9 คะแนนจากปีที่แล้วได้จาก 8 คะแนนเต็มสิบคะแนน
หลายปีมานี้ภาครัฐพยายามทำมาตรการต่างๆ เช่น การลดขั้นตอนการขออนุมัติ การใช้ระบบดิจิทัลในงานบริการภาครัฐ การคุ้มครองผลประโยชน์ของนักลงทุน และการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้ทันการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในปัจจุบัน ทั้งนี้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ดีขึ้น
“หลังจากนี้ไทยยังจำเป็นต้องดำเนินการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้มีความสะดวก และเอื้อต่อการแข่งขันของผู้ประกอบการในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ในระยะยาว และผลประโยชน์จากการปฏิรูปสภาพแวดล้อมทางธุรกิจจะนำมาซึ่งการเพิ่มการลงทุน และมีการจ้างงานคุณภาพมากขึ้นในอนาคต”
ทั้งนี้รายงาน Doing Business ของธนาคารโลก กำหนดตัวชี้วัดรวม 10 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ 2) ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง 3) ด้านการขอใช้ไฟฟ้า 4) ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน 5) ด้านการได้รับสินเชื่อ 6) ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย 7) ด้านการชำระภาษี 8) ด้านการค้าระหว่างประเทศ 9) ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และ 10) ด้านการแก้ปัญหาการล้มละลาย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์