×

ความในใจ ณ ดอยอ่างขาง จากช่างภาพชื่อ ณัฐ ประกอบสันติสุข

16.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • จากวัยเด็กที่มองเรื่องราวของพระมหากษัตริย์ผ่านข่าวในพระราชสำนักที่แสนไกลตัว แต่การได้ลงพื้นที่จริงเพื่อเก็บภาพรอบ ‘สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง’ นอกจากณัฐจะได้ภาพชีวิตที่สวยงาม แต่เรื่องราวความเป็นมาของโครงการหลวงแห่งแรก ยังได้เปลี่ยนแปลงทั้งมุมมองและความรู้สึกที่เขามีต่อ ‘พระเจ้าแผ่นดิน’ รัชกาลที่ 9 อย่างลึกซึ้งและเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ
  • เดิมทีภาพถ่ายชุดนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2555 เมื่อครั้ง พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ‘รักในสายพระเนตร’ เพื่อให้คนไทยมีโอกาสชื่นชมพระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยจัดแสดงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ และภาพถ่ายในโครงการพระราชดำริ ผ่านมุมมอง 9 ช่างภาพชั้นนำของเมืองไทย ซึ่ง ณัฐ ประกอบสันติสุข ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย  
  • จากโจทย์ที่ต้องการให้ช่างภาพเป็นผู้เลือกหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 9 แห่ง เพื่อลงพื้นที่จริงและเก็บภาพ ณัฐก็เลือกชื่อ ‘อ่างขาง’ ทันทีแบบไม่ต้องคิดอะไร สาเหตุเพราะไม่ค่อยทราบชื่อโครงการอื่น และเพิ่งมารู้ทีหลังว่า  ‘ดอยอ่างขาง’ ถือเป็นโครงการหลวงแห่งแรกที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริขึ้นในปี 2512

 

     ตลอด 1 ปีหลังการจากไปของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ความเศร้าโศกและอาลัยของประชาชนคนไทยยังคงมีให้เห็น แต่ถึงอย่างนั้นพระองค์ยังทรงทิ้ง ‘มรดก’ ที่เรียกว่า ‘แรงบันดาลใจ’ ไว้ให้แก่ประชาชนทั้งในแผ่นดินของพระองค์และรุ่นลูกหลานได้สืบต่อ ผ่านโครงการพระราชดำริหลายพันแห่ง

     THE STANDARD มีโอกาสได้สัมภาษณ์หนึ่งในช่างภาพแฟชั่นแถวหน้าของเมืองไทยอย่าง ณัฐ ประกอบสันติสุข ในช่วงที่มีโอกาสไปถ่ายรูปและศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง’ เมื่อครั้งที่ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ริเริ่มโครงการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ‘รักในสายพระเนตร’ เพื่อหวังให้คนไทยมีโอกาสชื่นชมพระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพของรัชกาลที่ 9 โดยจัดแสดงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์และภาพถ่ายในโครงการพระราชดำริ ผ่านมุมมอง 9 ช่างภาพชั้นนำของเมืองไทย ในช่วงปี 2555

     ณัฐเผยความรู้สึกระหว่างคุยกันให้ฟังว่า เดิมทีจากวัยเด็กที่เคยรู้จักและเข้าใจ ‘รัชกาลที่ 9’ จากข่าวในพระราชสำนักที่แสนไกลตัว แต่หลังจากได้ไปสัมผัสถึง ‘ของจริง’ ผลงานจริงแบบจับต้องได้ที่ ‘สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง’ ซึ่งเรื่องเล่าจากความประทับใจในพระเจ้าแผ่นดินพร้อมหยดน้ำตา ทำให้เรารับรู้ได้ว่าช่างภาพชื่อดังได้เข้าใจถึงความเหนื่อยยากในงานที่พระองค์ทรงทำอย่างลึกซึ้ง

Photo: NAT PRAKOBSANTISUK

 

  1. จากภาพข่าวพระราชสำนัก สู่ภาพความจริงที่จับต้องได้    

     ผมเกิดมาในครอบครัวคนไทยแท้ๆ บ้านผมเป็นพื้นไม้กระดาน ไม่มีเก้าอี้ ผู้ใหญ่ก็นั่งอยู่ตรงพื้น และถ้าจะเดินผ่านหรือจะส่งของให้ผู้ใหญ่ เด็กๆ ก็ต้องคลานเข่า หมายความว่าผมถูกเลี้ยงดูมาแบบไทย เพราะฉะนั้นอะไรที่คนเคารพกันมา เราก็เคารพด้วย เราไม่รู้อะไรหรอก เพราะโตมาเราก็มีพระองค์แล้ว

     ตั้งแต่เด็กเราได้เห็นพระราชกรณียกิจเยอะมากในทีวี พระองค์ก็เสด็จฯ ไปตามที่ต่างๆ ซึ่งเราก็ดูจนชินตา โดยเราคิดเสมอมาว่า จริงๆ แล้วพระองค์ไม่จำเป็นต้องทำ ที่ว่าไม่จำเป็นต้องทำหมายถึง พระองค์อยู่ในสถานภาพที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่พระองค์เลือกที่จะทรงงาน

     ถามว่าประทับใจไหม ตอนนั้นเรายังเด็กเกินกว่าจะรู้สึกถึงเหตุ หรือที่มาที่ไปของความประทับใจในอะไรแบบนี้ จนกระทั่งโตขึ้น ความรู้สึกก็ยิ่งเพิ่มขึ้นว่าพระองค์ทรงงานจริง สิ่งที่พระองค์ทำ พระองค์ทำจริงๆ แต่ก็ยังไม่ได้รู้สึกประทับใจมาก

 

Photo: NAT PRAKOBSANTISUK


     จนกระทั่งวันหนึ่งผมถูกเชิญให้เป็น 1 ใน 9 ช่างภาพไทยเพื่อเข้าไปถ่ายภาพในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 9 โครงการ ซึ่งตอนนั้นก็แก่แล้วล่ะ ทีมงานก็เข้ามาหาผมเป็นคนแรกๆ ถามผมว่าจะเลือกไปที่ไหน ผมก็ตอบไปทันทีโดยไม่คิดอะไรมากว่า “ผมเลือกอ่างขาง” อาจเป็นเพราะไม่ค่อยทราบโครงการอื่นด้วยแหละมั้ง รู้แค่ว่าอ่างขางคือที่ไหน มีอะไร แต่ก็ไม่ได้รู้ลึกจริงๆ ว่าทำอะไร อย่างไร กระทั่งได้ขึ้นไปถ่ายรูปบนดอยอ่างขาง (สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง) ถึงเพิ่งรู้ว่าที่นี่เป็นโครงการหลวงโครงการแรก

     อีกอย่าง ความจริงเรารู้แหละว่าพระองค์เสด็จพระราชดำเนินอย่างไร ลำบากอย่างไร แต่เมื่อได้ฟังเรื่องเล่าในตอนที่มีภาพภูเขาเยอะๆ อยู่ตรงหน้า ได้ฟังว่าเมื่อก่อนภูเขาทั้งหมดตรงนี้คือไร่ฝิ่น เลยทำให้เราฉุกคิดขึ้นมาว่า คนๆ หนึ่งสามารถเปลี่ยนให้ภูเขาบริเวณนี้เป็นร้อยๆ ลูกหายจากการปลูกฝิ่น และภายในเวลา 30-40 ปีกลายเป็นไร่ชา ไร่ผลไม้ โดยเริ่มต้นจากการปลูกกอกล้วย เพราะพระองค์บอกว่า กล้วยมันจะปรับสภาพดิน

     พอเจอเรื่องแบบนี้ ทำให้เราคิดขึ้นมาอีกว่า ใครนะช่างบอกว่าพระองค์สร้างภาพ พระองค์อย่างนั้นอย่างนี้ แต่เขาเคยมาเห็นบ้างไหมว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นจริง คือถ้าเป็นการสร้างภาพแล้วมันจะเกิดขึ้นให้เราเห็นจริงๆ ได้อย่างไร

     จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็พาเราไปดูตรงนั้น อธิบายตรงนี้ว่ามีอะไรบ้าง แล้วยิ่งอธิบายเรายิ่งจุกไง เพราะภาพที่เราเคยเห็นพระองค์สมัยเด็กๆ ที่เห็นพระองค์ทรงขับรถลุยน้ำ ก็เพราะพื้นที่ที่พระองค์ไปมันเป็นแบบนี้ไง ขนาดเรามาในตอนนี้ มีถนน มีทางรถขึ้น เรายังลำบากเลย แล้วตอนพระองค์เสด็จฯ มาในสมัยนั้นเมื่อ 40-50 ปีที่แล้วเนี่ย มันไม่มีอะไรเลย

     พระองค์เริ่มต้นจากความคิดที่ว่าให้ทุกคนสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งอ่างขางเป็นแห่งแรกที่ทดลอง ‘การปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง’ ไม้ 3 อย่างก็คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ และไม้เศรษฐกิจ ส่วนประโยชน์อย่างที่ 4 คือ ไม้ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ บำรุงดินและน้ำ และถ้าจะตัดไม้ ไม้ที่ตัดมาใช้ต้องเป็นไม้ที่ตัดได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ตัดแล้วปลูกเติม

     สิ่งที่พระองค์ทรงทำนั้นแสดงให้เห็นว่าพระองค์เป็นคนที่คิดถึงคนอื่นมากๆ คิดถึงอนาคตของพวกเขา คิดว่าถ้าพระองค์หรือคนของพระองค์ไม่ได้อยู่ตรงนี้แล้ว ชีวิตของคนที่นี่จะเป็นอย่างไร ผมว่าน้อยคนที่จะคิดอะไรได้รอบคอบขนาดนี้

 

Photo: NAT PRAKOBSANTISUK

 

  1. พระราชอำนาจที่มีไว้เพื่อประชาชน

     พระองค์ให้เกียรติประชาชนของพระองค์ ให้เกียรติทุกสิ่งทุกอย่าง ให้เกียรติแม้กระทั่งคนที่พระองค์ช่วยเหลือว่าเขาต้องอยู่ได้เองในอนาคต ที่ดินก็เป็นที่ดินพระราชทาน เอาไว้ใช้ทำมาหากิน ไม่เยอะไม่น้อย ให้ได้ทำผลผลิตกันไป พอทำผลผลิตไปแล้วก็เกิดปัญหา เพราะอยู่บนดอย กว่าจะเอาผลผลิตลงมาถึงข้างล่างสตรอว์เบอร์รีก็เหี่ยวบ้าง เน่าบ้าง พระองค์ก็ทรงดำริให้เปิดโรงงานแปรรูป สุดท้ายจึงเกิด ‘โครงการหลวงดอยคำ’ ขึ้นมา เพื่อที่จะได้นำผลผลิตของชาวบ้านมาแปรรูป ส่งลงมาขายได้ และพระองค์ก็ยังทรงรับซื้อเอง

     พระองค์เคยตรัสไว้ในเรื่องที่ต้องการให้ประชาชนอยู่ได้ด้วยตัวเอง ทุกที่ที่พระองค์ลงไป พระองค์จะไม่ได้เอาของไปให้ เอาเงินไปให้  อย่างอ่างขางนี่ถือเป็นสิ่งที่ชัดเจนมาก และเมื่อเกิดปัญหาใดขึ้นมา พระองค์ก็ทรงแก้ด้วยวิธีการอันชาญฉลาดมาก

     ความจริงแล้วพระองค์ทรงมีพระราชอำนาจ สามารถสั่งอะไรก็ได้ และโดยปกติมนุษย์ก็มักจะหลุดไปกับอำนาจนั้นๆ สั่งอย่างนี้ ต้องได้อย่างนี้ แต่พระองค์ทรงเลือกที่จะไม่ทำแบบนั้น พระองค์เลือกลงพื้นที่เพื่อไปศึกษาชีวิตก่อน ลงไปทอดพระเนตร ลงไปคลุกคลี พบปะชาวบ้าน ไปหาต้นตอของปัญหาว่าจริงๆ แล้วเขาขาดอะไร ซึ่งนั่นทำให้โครงการสามพันกว่าโครงการยั่งยืน

     ยกตัวอย่างไร่ฝิ่น ถามว่าทำไมถึงต้องปลูกฝิ่น เพราะชาวบ้านยากจน ไม่มีทางเลือก เขามาเสนอให้ปลูกฝิ่น ปลูกแล้วขายได้ราคา ได้เงิน ก็ต้องทำ ซึ่งถ้าพระองค์แก้ปัญหาว่า จนหรือ งั้นเอาเงินไป แบบนั้นมันเป็นประถมเหตุไหม ไม่ใช่ พระองค์ก็แก้ปัญหาด้วยการให้ทางเลือก ชาวบ้านเขาก็เลือกสิ เพราะตอนนี้เขามีทางเลือกที่ดีกว่า ใครบ้างล่ะจะอยากปลูกฝิ่น แล้วหลังจากนั้นถ้ามีปัญหาอะไร พระองค์ก็ทรงรับฟังแล้วแก้ปัญหานั้น

 

Photo: NAT PRAKOBSANTISUK

 

     อำนาจมันเป็นของหอมหวานนะ คุณอยากรู้ว่าใครเป็นอย่างไร คุณลองโยนอำนาจให้เขาสิ โยนเงินให้เขาสิ คุณจะรู้ทันทีเลยว่าคนนั้นใช้อำนาจอย่างไร แต่พระองค์ไม่ทำนะ แล้วมันไม่ใช่เวลาแค่ปี 2 ปี หรือ 5 ปี 10 ปี แต่มัน 70 ปี  

     ยิ่งถ้าคุณไปเห็นสิ่งที่ทั้งสองพระองค์ทรงทำลงไปตลอด 50-60 ปี ผมรู้สึกว่ามันมากมายเสียจนแบบ…เกินมนุษย์มากเลย ทั้งพระวรกาย ทุกสิ่งอย่าง มันช่างมากเหลือเกิน ถ้าเป็นไปได้ให้ตายแทนก็ตายได้นะ ไม่เสียดาย เพราะผมรู้สึกว่า ชีวิตของผมคงทำอะไรไม่ได้สัก 1% ของพระองค์ ต่อให้พยายามเต็มที่เลยก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะให้คนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมีชีวิตอยู่ต่อ แล้วผมต้องหายไปเนี่ย ผมหายไปก็ได้ เพราะผมก็แค่คนๆ หนึ่ง  

 

Photo: NAT PRAKOBSANTISUK

 

  1. ไม่ใช่แค่บันทึกภาพ แท้จริงคือเรียนรู้คนผ่านวิถีชีวิต และบันทึกชีวิตกลับมา

     ภาพที่ถ่ายมาส่วนใหญ่จะเป็นรูปคนทำงาน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่คนงานนะ แต่เขาเป็นเจ้าของ ทุกคนก็ทำงานของตัวเองอยู่ที่นั่น คอยสร้างผลผลิตให้เรากิน คือถ้าไม่มีเขา เราคงไม่มีผลไม้ ไม่มีข้าวกิน อยู่กรุงเทพฯ ก็แห้งตาย  

     การไปอยู่ตรงนั้นมันทำให้ผมรู้สึกว่าอะไรที่อยู่ในเมือง อะไรที่เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกสุขอนามัย แล้วก็ไปบอกชาวบ้านว่าที่เธอทำอยู่น่ะมันสกปรกมากนะ มันไม่ดี ไม่เก๋ ไม่ทันสมัย ฯลฯ เอานี่ไปใช้สิ เสร็จแล้วเราก็กลับบ้าน โดยที่เราไม่เคยไปรับรู้ว่าจริงๆ แล้วเขาใช้ชีวิตอยู่กันอย่างไร ซึ่งผมรู้สึกว่าการทำแบบนั้นมันโง่มาก

     การไปอยู่ตรงนั้น ผมก็ได้หันมามองว่าสายตาที่เขามองเรามันไม่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง มันไม่มีการมองว่าคุณมากจากไหน เรามาจากไหน เพราะพระองค์ทรงดำริโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อนผู้คนเหล่านี้เป็นคนหนึ่งคน เป็นคนที่มีเลือดเนื้อ มีความคิด มีตัวตน ซึ่งตัวตนของเขาคือมีชีวิตอยู่อย่างที่เขาเคยชิน  

     บางทีเขาอาจจะมีรองเท้าผ้าใบบ้างเพื่อเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เขาก็ตัดสินใจของเขากันเอง พูดง่ายๆ ว่าชาวบ้านเขามีตัวตนที่แข็งแรงพอที่จะทำให้ผมเกรง คือเขาไม่ต้องมาเป็นอย่างเรา และเราก็ไม่ต้องไปเป็นอย่างเขา ทุกคนมีทางเลือก มีที่เกิด มีชีวิตที่แตกต่าง และเขาก็ภูมิใจกับมัน

     ตอนนี้โครงการพระราชดำริ ‘สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง’ ดำเนินงานผ่านมาได้ 40 ปี ซึ่งตอนนี้พระองค์ก็ไม่ได้เสด็จไปแล้ว แต่ชาวบ้านเหล่านี้ยังสืบสานกันอยู่จนรุ่นลูกหลาน และยังคงมีตัวตนที่แข็งแรง เขาเคารพเรา เราเคารพเขา มันเป็นการเคารพที่สวยงาม แล้วพอนึกถึงคนที่ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ มันยิ่งใหญ่มากนะครับ ในชีวิตของเราเนี่ย เราจะสามารถทำให้คนในชีวิตรู้สึกแบบนี้ได้สักกี่คน อาจจะได้แค่คนหรือสองคน แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ทรงทำได้เป็นหมื่นเป็นแสนคน ซึ่งยิ่งใหญ่มาก

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X