สองสิ่งที่มักปรากฏอยู่ในผลงานส่วนใหญ่ของ เบิ้ล-นนทวัฒน์ นำเบญจพล คือการพูดถึงสภาวะความเป็นอยู่ของคนชายขอบและการเมือง ซึ่งในสารคดีหลายเรื่องของเขามันได้กลายเป็นหัวใจสำคัญที่พาคนดูไปสำรวจขอบเขตของชีวิตในแบบที่หลายคนอาจไม่เคยนึกถึงมาก่อน
แต่สำหรับ ดอยบอย (DOI BOY) ซึ่งเป็นผลงานเรื่องล่าสุด แม้จะจั่วหัวว่าเป็นการนำเสนอในรูปแบบภาพยนตร์ แต่กลิ่นอายของสารคดีก็ดูเหมือนจะไม่ได้จางหายไปไหน เมื่อมันเปลี่ยนนัยจากการนำเสนอเรื่องราวของคนอื่นมาเป็นความนึกคิดของตัวเอง โดยใช้ตัวละครเป็นสื่อกลางคอยส่งสาส์นถึงคนดู หรือในทางเดียวกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้คือสิ่งที่ต่อยอดมาจากประสบการณ์การทำงานของผู้กำกับที่คลุกคลีอยู่บนเส้นทางนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะหัวใจสำคัญในภาพยนตร์ของเขายังคงเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบและวิธีการให้ดูเข้าถึงผู้คนมากขึ้น
ดอยบอย เลือกพูดถึง 3 ตัวละครซึ่งมีสถานะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เริ่มจาก ศร (อัด-อวัช รัตนปิณฑะ) หนุ่มแรงงานไทใหญ่ที่หนีสงครามมายังประเทศไทย, จิ (เป้-อารักษ์ อมรศุภศิริ) ผู้รักษากฎหมาย และ วุธ (เอม-ภูมิภัทร ถาวรศิริ) นักกิจกรรมที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเพื่อนที่ถูกอุ้มหายของตัวเอง โดยมีสิ่งที่ครอบชีวิตของพวกเขาเอาไว้ก็คือระบบราชการ ที่ในหลายๆ ครั้งภาพยนตร์พูดอย่างตรงไปตรงมาว่ามันเป็นต้นสายปลายเหตุที่บีบรัดสถานการณ์ของตัวละครทั้งหมดภายในเรื่อง
สิ่งที่น่าสนใจคือ ภาพยนตร์ไม่ได้เล่าในมุมของเหยื่อเพียงอย่างเดียว แต่เล่าในมุมของคนกระทำที่ตกเป็นเหยื่ออีกทีหนึ่ง หรืออีกนัยหนึ่งมันกลายเป็น Dilemma หรือสภาวะกระอักกระอ่วนของตัวละครที่ผู้สร้างภาพยนตร์ตั้งใจแสดงให้เห็นถึงความก้ำกึ่งระหว่างการตัดสินใจเพื่อรักษาบางอย่างกับความเป็นมนุษย์ ซึ่งด้านหนึ่งมันถูกสะท้อนออกมาอย่างเด่นชัดผ่านคนที่อยู่ในองค์กรเดียวกันแต่อุดมการณ์ต่างกัน
แต่ภายใต้สภาวะที่หวานอมขมกลืน ก็ดูเหมือนว่าผู้สร้างภาพยนตร์จะใช้ประเด็นที่ร่วมสมัยในการนำเสนอ ซึ่งกลายเป็นแง่งามและพิษร้ายในโลกของพวกเขา เมื่อตัวละครหลักทั้งหมดถูกเชื่อมโยงเข้าหากันด้วยความรักแบบไบเซ็กชวล ท่ามกลางการมาถึงของโรคร้ายที่กำลังทำให้ทุกสิ่งอย่างกลับตาลปัตร ซึ่งโรคที่ว่าคนดูก็คงคาดเดาได้ไม่ยาก เพราะมันเพิ่งผ่านพ้นไปได้ไม่นาน และใกล้ตัวเราทุกคนจนสัมผัสได้แบบเดียวกับตัวละครว่ามันช่างเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและอับจนหนทางที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดูเป็นเสียงสะท้อนอันอื้ออึงของ ดอยบอย คือการที่มันวิพากษ์วิจารณ์การถูกบังคับสูญหาย เพียงเพราะอยากจะใช้สิทธิและเสียงของตัวเองในการบอกกล่าวความจริงให้แก่คนในสังคม
ที่น่าทึ่งคือ กลไกนี้ไม่ได้ใช้แค่กับตัวละคร แต่รวมถึงตัวภาพยนตร์ที่ในหลายๆ ทางกลายเป็นคำประกาศเจตนารมณ์ของผู้กำกับที่มีต่อความดำมืดในสังคมไทย ซึ่งทุกวันนี้ก็อาจเป็นเฉกเช่นเดียวกับฉากสุดท้ายในภาพยนตร์ที่ไร้ซึ่งเสียงใดๆ มีเพียงแค่ความเงียบงันของธรรมชาติและชะตากรรมที่น่าเศร้าของคนที่ถูกทำให้หายไป
ทั้งนี้ เมื่อนำบริบทของ ดอยบอย มาเทียบเคียงกับความจริงในสังคม เช่น กรณีการหายตัวไปของ บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2557 โดยทุกวันนี้ผ่านมานานถึง 9 ปี การเสียชีวิตของเขายังคงไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งนัยหนึ่งของการเรียกร้องให้กับคนเหล่านั้น รวมถึงครอบครัวของพวกเขา จึงเป็นการต่อสู้เพื่อให้สังคมหันมามองความเลวร้ายที่เกิดกับคนที่ถูกบังคับสูญหาย เพราะการยอมศิโรราบให้กับมันอาจทำให้มีผู้เคราะห์ร้ายเพิ่มขึ้น ซึ่งวันหนึ่งอาจจะขยับมาเป็นคนใกล้ชิดหรือลูกหลานของเราก็ได้เช่นกัน
ในทำนองเดียวกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงทำหน้าที่เป็นเหมือนภาพสะท้อนที่กล่าวถึงชีวิตของคนที่ต้องจากบ้านเกิด หรือถูกพลัดพรากไปจากอ้อมอกของคนรักอย่างไม่มีหวนกลับ และไม่ว่าจะเพราะเหตุใด อิสรภาพในการพูดก็เป็นสิ่งที่ควรมีในสังคม โดยที่ไม่ถูกจับจ้องเอาชีวิตหรือถูกครอบงำด้วยความกลัวต่อผู้มีอำนาจ
แต่ก็ใช่ว่าการที่ภาพยนตร์มีองค์ประกอบที่ดีและชัดเจนจะสามารถไปถึงฝั่งฝันได้ด้วยตัวของมันเอง ส่วนสำคัญที่ทำหน้าที่ประกอบจิ๊กซอว์ต่างๆ เข้าด้วยกันคือนักแสดง โดยเฉพาะ อัด-อวัช รัตนปิณฑะ ในบทบาทของหนุ่มไทใหญ่ที่นำเสนอความไร้เดียงสาท่ามกลางกลิ่นอายของความรักได้อย่างลุ่มลึกทางอารมณ์ อีกทั้งยังช่วยขยับขยายภาพใหญ่ของคนชายขอบได้อย่างน่าเชื่อถือและมีมิติ จนอาจจะพูดได้ว่าการแสดงของเขาช่างเหมาะสมกับรางวัล Rising Star Award ที่ได้มาจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน (BIFF) ทุกประการ
โดยปริยาย นี่จึงเป็นอีกครั้งที่พิสูจน์ว่านอกจากภาพยนตร์จะเป็นสิ่งที่ให้ความบันเทิงและแง่คิดแก่คนดูแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่คนทำภาพยนตร์เอาไว้ใช้เป็นกระบอกเสียงของตัวเองด้วย เพราะการชำแหละถึงหัวจิตหัวใจของคนชายขอบ นักกิจกรรม หรือแม้กระทั่งตัวของผู้รักษากฎหมายเอง ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความฟอนเฟะและน่าหดหู่ของระบบราชการไทยที่พอดูจบแล้วอาจจะถอนหายใจเฮือกใหญ่ โดยที่ได้แต่หวังว่าวันหนึ่งพวกเขาทุกคนจะได้รับความยุติธรรมในแบบที่ควรจะเป็น ไม่ว่าคนคนนั้นจะยังอยู่หรือจากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม
สามารถรับชม ดอยบอย (DOI BOY) ได้ทาง Netflix
รับชมตัวอย่างได้ที่: https://youtu.be/cJKt1Ni-3kk