×

นับถอยหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ: ประมวล-วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศที่ ‘เดาไม่ได้ แต่คาดการณ์ได้’ ของโดนัลด์ ทรัมป์

07.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 MINS. READ
  • ตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เมื่อปี 2017 การเมืองโลกก็เข้าสู่ภาวะคาดเดาไม่ได้มากขึ้นจากการดำเนินนโยบาย ‘America First’ ที่มีเป้าหมายสู่การทำให้สหรัฐฯ กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
  • แต่ในความคาดเดาไม่ได้นั้น หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เราจะเริ่มเห็นรูปแบบซ้ำๆ เป็นแบบแผนคล้ายๆ กันในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของเขา เช่น ในกรณีเกาหลีเหนือ จีน และอิหร่าน ทรัมป์จะเริ่มจากการสร้างประเด็นปัญหาเพื่อให้สามารถเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างชอบธรรม

ตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ คนที่ 45 เมื่อปี 2017 การเมืองโลกเข้าสู่ภาวะการคาดเดาไม่ได้มากขึ้นจากการดำเนินนโยบาย ‘America First’ ที่มีเป้าหมายสู่การทำให้สหรัฐฯ กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ‘Make America Great Again’ ของทรัมป์ซึ่งเป็นเหตุให้ทั่วโลกต้องคอยจับตาดูท่าที ถ้อยแถลง หรือข้อความผ่านทวิตเตอร์ของประธานาธิบดีคนนี้อยู่อย่างสม่ำเสมอ และครั้งหนึ่งทรัมป์เคยเรียกนโยบายต่างประเทศของตัวเองว่า ‘Doctrine of Unpredictability’ (หลักการแห่งการคาดเดาไม่ได้) 

 

ย้อนมองนโยบายต่างประเทศที่สำคัญภายใต้การบริหารงานของทรัมป์ตลอดช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมาว่ามีนโยบายใดที่สร้างเซอร์ไพรส์ให้คนทั่วโลกบ้าง 

 

ปี 2017 

  • หลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เขาลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) เพื่อถอนสหรัฐฯ ออกจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership – TPP) ที่รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา เป็นผู้ผลักดันให้เกิด โดยให้เหตุผลว่าเงื่อนไขความตกลง TPP ที่รัฐบาลโอบามาเจรจาไว้นั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งการถอนตัวจากความตกลง TPP นั้นหมายถึงการที่ทรัมป์ไม่สนใจเวทีการเจรจาแบบพหุภาคีอีกต่อไป เพราะทำให้สหรัฐฯ เสียเปรียบ นโยบายนี้จึงเป็นการตอบโจทย์ ‘อเมริกาต้องมาก่อน’
  • ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้นโยบายกีดกันพลเมืองไม่ให้เข้าประเทศ โดยอ้างว่าพลเมืองประเทศมุสลิมทั้ง 6 ชาติอาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ โดยพุ่งเป้าไปที่ประเทศมุสลิม ทำให้ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และประเทศมุสลิมเหล่านี้มีความตึงเครียดขึ้น แต่สิ่งนี้ตอกย้ำได้ว่าสิ่งที่ทรัมป์ทำลงไปนั้นก็เพื่อต้องการปกป้องคนอเมริกันนั่นเอง
  • ทรัมป์ประกาศว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวจากความตกลงปารีส ปี 2015 (The Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการสร้างภาระทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมให้แก่คนอเมริกัน โดยเฉพาะกลุ่มภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งชัดเจนว่าผลประโยชน์ของคนในชาตินั้นสำคัญกว่าประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมของโลก
  • ผู้นำสหรัฐฯ เริ่มทำสงครามน้ำลาย (A War of Word) อย่างดุเดือดกับ คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ หลังจากเกาหลีเหนือขู่ว่าจะยิ่งขีปนาวุธไปยังน่านน้ำบริเวณเกาะกวมของสหรัฐฯ โดยเขาเตือนเกาหลีเหนือว่าจะต้องพบกับ ‘ไฟและความเกรี้ยวกราด’ (Fire and Fury) อย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน จากนั้นการตอบโต้ ปะทะ และข่มขู่กันก็มีเรื่อยมา อีกทั้งคำพูดก็ดุเดือดมากขึ้นจนทั่วโลกสงสัยว่าความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีจากสงครามน้ำลายจะนำไปสู่สงครามจริงหรือไม่
  • ทรัมป์เดินทางสู่เอเชีย โดยเดินทางไปญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ และพูดถึงยุทธศาสตร์ใหม่อันได้แก่ ‘อินโด-แปซิฟิก’ (Indo-Pacific) ดังที่ปรากฏใน ‘ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ 2017’ (The 2017 National Security Strategy) ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะผนวกพื้นที่ทางรัฐศาสตร์ของมหาสมุทรอินเดียเข้ากับมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งเสริมบทบาทของออสเตรเลียและอินเดียให้มาร่วมกันสร้างดุลยภาพเพื่อคานอิทธิพลอำนาจของจีนที่มีมากขึ้น และถือได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่สหรัฐฯ นำมาใช้เพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วยการส่งเสริมความร่วมมือในมิติต่างๆ รวมถึงการเพิ่มโอกาสทางการค้าการลงทุนในภูมิภาคด้วย โดยเขาได้กล่าวถึงความสำคัญของยุทธศาสตร์ใหม่นี้ในการประชุมเอเปก (The Asia-Pacific Economic Cooperation – APEC) ที่เวียดนามด้วย อาจกล่าวได้ว่ายุทธศาสตร์นี้เป็นการสนับสนุนนโยบาย America First ในทางการค้านั่นเอง

 

ปี 2018

  • เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2018 ทรัมป์ประกาศว่าสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก 25% และอะลูมิเนียม 10% โดยอ้างถึงความมั่นคงของชาติ อุตสาหกรรมเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ เผชิญกับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมมานานหลายสิบปี ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมีการค้าที่เสรีและเป็นธรรม ดูเหมือนมาตรการนี้จะมุ่งตรงไปที่จีน เพราะสำหรับแคนาดา ประเทศที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ รวมถึงสหภาพยุโรป ยังได้รับการยกเว้นไปก่อนจนกว่าจะมีการเจรจาการค้าตามมา อาจกล่าวได้ว่าเหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนก็ว่าได้ เพราะทรัมป์เชื่อว่าการทำสงครามภาษีกับจีนจะช่วยลดการขาดดุลการค้ากับจีนลงได้
  • สหรัฐฯ และจีนเข้าสู่สงครามการค้าอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน 2018 จีนตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการใช้มาตรการทางภาษีกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ โดยรัฐบาลจีนให้เหตุผลว่าการนำมาตรการนี้มาใช้กับสหรัฐฯ ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของจีน และทำให้เกิดความสมดุลจากความสูญเสียที่มีสาเหตุจากอัตราภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐฯ นั่นเอง ซึ่งทรัมป์ก็ไม่ได้หวั่นเกรง พร้อมกับกล่าวอย่างมั่นใจว่าสหรัฐฯ จะชนะสงครามการค้าในครั้งนี้อย่างแน่นอน แต่ในช่วงปลายปีสหรัฐฯ และจีนต่างกลับมาตกลงพักรบยุติสงครามการค้าเป็นการชั่วคราวหลังจากที่ทรัมป์ได้ร่วมหารือกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่อาร์เจนตินา ซึ่งทั้งสองประเทศจะทำการยับยั้งการใช้มาตรการทางภาษีซึ่งกันและกันเป็นระยะเวลา 90 วัน และจะใช้เวลาดังกล่าวเจรจาหาทางเปิดตลาดต่อไป
  • เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2018 ทรัมป์ประกาศว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจต่อพันธมิตรของสหรัฐฯ ในยุโรป และอาจมีผลทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในตะวันออกกลางได้ ข้อตกลงที่กล่าวมานี้คือ ‘ข้อตกลงร่วมว่าด้วยแผนปฏิบัติการครอบคลุม’ (Joint Comprehensive Plan of Action – JCPOA) ซึ่งอิหร่านทำกับ 5 ชาติสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา รวมเยอรมนี) และสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2015 โดยภายใต้ความตกลงนี้ อิหร่านตกลงจะจำกัดปริมาณการสะสมยูเรเนียมเสริมสมรรถนะ ซึ่งสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ แต่ขณะเดียวกันก็ใช้ในอาวุธนิวเคลียร์ได้ด้วยเป็นเวลา 15 ปี และจำกัดจำนวนเครื่องหมุนเหวี่ยงที่ใช้ในการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเป็นเวลา 10 ปี นอกจากนี้อิหร่านยังตกลงทำการเปลี่ยนแปลงโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แบบน้ำมวลหนักเพื่อไม่ให้สามารถใช้ผลิตพลูโตเนียมสำหรับทำระเบิดได้ เพื่อแลกกับการที่สหประชาชาติ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ยกเลิกการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรที่ใช้ต่ออิหร่านก่อนหน้านี้ โดยทรัมป์ต้องการถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้ เพราะเขาเห็นว่าความตกลงที่ทำไว้ตั้งแต่ในสมัยโอบามานั้นไม่ได้ช่วยยับยั้งให้อิหร่านหยุดพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่เป็นอันตรายต่อประชาคมโลก และเห็นสมควรให้ใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจระดับสูงสุดเพื่อกดดันอิหร่าน แต่ในขณะเดียวกันก็ยินดีจะเปิดการเจรจากับอิหร่านครั้งใหม่ ทั้งนี้นอกจากจะเป็นการลดขีปนาวุธของอิหร่าน ยังต้องการลดบทบาทของอิหร่านในซีเรีย เยเมน และประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลางอีกด้วย
  • ทรัมป์สร้างความประหลาดใจให้ทั่วโลกอีกครั้งเมื่อได้เดินทางไปพบกับ คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือที่ประเทศสิงคโปร์ เพราะก่อนหน้านี้สงครามน้ำลายระหว่างทั้งสองนั้นร้อนระอุเกินกว่าจะคาดเดาได้ว่าจะมีเหตุการณ์การประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ขึ้น โดยการประชุมสุดยอดครั้งนี้ประธานาธิบดีทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะให้หลักประกันความมั่นคงต่อเกาหลีเหนือ ขณะที่ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือก็ยืนยันถึงคำมั่นสัญญาที่จะปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีอย่างสิ้นเชิง (Complete Denuclearization)
  • สหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ซึ่งก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เคยขู่ว่าจะถอนตัวโดยอ้างว่าคณะมนตรีนี้มีอคติกับอิสราเอล พันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ และยังมองว่าชาติที่เป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เช่น เวเนซุเอลา จีน คิวบา และคองโก ไม่ได้เคารพสิทธิพื้นฐานของประชาชนเหมือนกัน

 

 

ปี 2019 

  • สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อการเจรจาการค้าของทั้งสองชาติไม่เป็นผล สหรัฐฯ ขึ้นกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจีน และจีนก็ตอบโต้กลับเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ข่มขู่ที่จะขึ้นภาษีจีนหลายครั้ง แต่ก็ถูกเลื่อนออกไป และมีการเปิดเจรจาอย่างต่อเนื่องกับจีน แม้ว่าจะมีความคืบหน้าและบรรเทาความตึงเครียดระหว่างกันลงบ้าง แต่ยังคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายพอใจได้
  • สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านตึงเครียดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2019 โดรนลาดตระเวนของกองทัพสหรัฐฯ ถูกกองกำลังของอิหร่านยิงตกขณะที่บินอยู่เหนือช่องแคบฮอร์มุซ โดยอิหร่านอ้างว่าโดรนดังกล่าวล่วงล้ำน่านฟ้าอิหร่าน โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นการเผชิญหน้ากันโดยตรงครั้งแรกระหว่างกองทัพของสหรัฐฯ และอิหร่าน ทรัมป์ขู่อิหร่านว่าเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะโจมตีเป้าหมายสำคัญ 3 แห่งในอิหร่าน เพื่อตอบโต้ที่อิหร่านยิงโดรนของสหรัฐฯ แต่ยังไม่รีบที่จะทำ เพราะเกรงว่าจะทำให้ประชาชนชาวอิหร่านบาดเจ็บและเสียชีวิต ในขณะเดียวกันอิหร่านก็ขู่ว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุซอันเป็นเส้นทางการเดินเรือที่สำคัญ โดยเฉพาะการขนน้ำมันดิบ อาจสันนิษฐานได้ว่าการกระทบกระทั่งกันมากขึ้นของสองประเทศนี้มาจากการที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการลงโทษอิหร่านขั้นสูงสุดเพื่อให้อิหร่านกลับเข้าสู่การเจรจาเรื่องโครงการนิวเคลียร์อีกครั้ง
  • ทรัมป์เยือนเกาหลีเหนือ ซึ่งถือว่าเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่เข้าไปยังเขตแดนเกาหลีเหนือ โดยก้าวเท้าข้ามจากเขตปลอดทหารระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ (Demilitarized Zone) การพบปะกันครั้งนี้มีข้อตกลงว่าจะมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อรื้อฟื้นการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง หลังจากที่ผู้นำทั้งสองพบกันที่การประชุมสุดยอดที่ประเทศเวียดนามในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 แต่ครั้งนั้นไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด
  • ทรัมป์ให้การสนับสนุนซาอุดีอาระเบียโดยการส่งทหารและยุทโธปกรณ์ไปประจำการ หลังจากซาอุดีอาระเบียถูกโจมตีโรงน้ำมัน โดยสหรัฐฯ เชื่อว่าผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีในครั้งนี้คืออิหร่าน ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านตึงเครียดมากขึ้น

 

เริ่มต้นปี 2020

  • หลังจากทั่วโลกเฉลิมฉลองการเข้าสู่ศักราชใหม่ของปี 2020 ได้ไม่นาน วันที่ 3 มกราคม สหรัฐฯ ได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศด้วยอากาศยานไร้คนขับต่อขบวนรถที่กำลังเดินทางออกจากท่าอากาศยานแบกแดดในอิรัก ซึ่งทำให้ กัสเซม โซเลมานี นายพลคนสำคัญของอิหร่านเสียชีวิต โดยทรัมป์เชื่อว่านายพลผู้นี้อยู่เบื้องหลังการโจมตีกองทัพสหรัฐฯ ในอิรัก และทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิตและสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย การกระทำครั้งนี้ของสหรัฐฯ เข้าใกล้การเริ่มก่อสงครามกับอิหร่านมากที่สุด ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2020 อิหร่านตอบโต้กลับด้วยการยิงขีปนาวุธโจมตีฐานทัพที่มีกองกำลังของสหรัฐฯ และพันธมิตรประจำการอยู่ในอิรัก ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้ทั่วโลกเป็นกังวลว่าจะนำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน หรืออาจกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 
  • หลังจากที่โลกจับตามองว่าสหรัฐฯ จะทำการตอบโต้อิหร่านอย่างไร ทรัมป์ได้ออกมาแถลงว่าจะไม่ใช้มาตรการตอบโต้ทางทหาร แต่จะยกระดับการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแทน ขอให้ชาติพันธมิตรในยุโรปยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน และขอให้กองกำลังนาโตเข้ามาเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการในตะวันออกกลางมากขึ้น อันนำมาซึ่งความโล่งใจ เพราะแสดงให้เห็นว่าสองประเทศไม่ต้องการให้เกิดการเผชิญหน้ากันครั้งใหญ่
  • ภายในไม่กี่วันต่อมาหลังจากสถานการณ์อิหร่านผ่อนคลายลง ศึกสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนก็มีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2020 สหรัฐฯ และจีนได้ทำข้อตกลงการค้าฉบับแรกที่เรียกว่า ‘ข้อตกลงการค้าเฟส 1’ (Phase 1 Trade Deal) โดยในเนื้อหาของข้อตกลงฉบับนี้คือจีนจะให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดมากขึ้น ให้บริษัทของสหรัฐฯ เข้าไปดำเนินธุรกิจในจีนได้มากขึ้น และจีนจะซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น

 

จากเหตุการณ์ข้างต้นได้แสดงให้เห็นว่านโยบายต่างประเทศของทรัมป์นั้นไม่อาจคาดเดาได้ในหลายๆ ครั้ง ท่ามกลางความรู้สึกของคนทั่วโลกที่เฝ้ามองดูอยู่ว่าทำไมจึงมีลักษณะของการกลับไปกลับมา เดี๋ยวพร้อมจะเจรจาสงบศึก เดี๋ยวพร้อมก่อศึกได้ทุกเมื่อ  

 

 

แต่ในความคาดเดาไม่ได้นั้น หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เราจะเริ่มเห็นรูปแบบซ้ำๆ เป็นแบบแผนคล้ายๆ กันในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของเขา เช่น ในกรณีเกาหลีเหนือ จีน และอิหร่าน ทรัมป์ใช้รูปแบบการจัดการต่อศัตรูของเขาคล้ายๆ กัน โดยสามารถอธิบายได้ดังนี้ 

 

ขั้นตอนที่ 1 เริ่มต้นจากการสร้างประเด็นปัญหาเพื่อให้สามารถเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างชอบธรรม

 

ขั้นตอนที่ 2 ทรัมป์จะเริ่มจัดการกับปัญหานั้น เช่น ในกรณีเกาหลีเหนือที่ดำเนินการทดสอบขีปนาวุธและนิวเคลียร์ในปี 2017 ซึ่งเป็นการแสดงศักยภาพของประเทศที่เพิ่มความตึงเครียดระหว่างประเทศทั้งในและนอกภูมิภาค อันเป็นสาเหตุที่สหรัฐฯ ต้องเข้าไปจัดการโดยการข่มขู่และปราม

 

ส่วนในกรณีจีน การที่สหรัฐฯ มองว่าอำนาจของจีนเพิ่มมากขึ้น การขาดดุลการค้ากับจีนคือปัญหาที่ต้องเข้าไปจัดการโดยทำสงครามการค้ากับจีน หรือในกรณีอิหร่าน การที่อิหร่านมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทั้งยังมีความสามารถที่อาจจะผลิตอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐฯ จึงต้องใช้มาตรการกดดันอิหร่านขั้นสูงสุดด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และนำไปสู่การลอบสังหารโซเลมานี เพราะเชื่อว่าเขาอยู่เบื้องหลังการโจมตีกองทัพสหรัฐฯ ในอิรักในหลายๆ ครั้ง

 

ขั้นตอนที่ 3 เมื่อมีการปะทะกัน ทรัมป์จะพูดจาตอบโต้โดยใช้ภาษาที่รุนแรง ข่มขู่ ดุดันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งฝ่ายตรงข้ามก็จะตอบโต้กลับอย่างรุนแรงในลักษณะเดียวกัน ในกรณีของเกาหลีเหนือมีสงครามน้ำลายเกิดขึ้นระหว่างทรัมป์กับคิมจองอึน เช่น คิมจองอึนได้ขู่ว่าเกาหลีเหนือกำลังเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายของการทดสอบขีปนาวุธที่ยิงไปไกลถึงสหรัฐฯ ได้ โดยทรัมป์ได้กล่าวสุนทรพจน์กับสมัชชาสหประชาชาติ ขู่ว่าจะทำลายเกาหลีเหนือ และเรียกคิมจองอึนว่าคนบ้าและมนุษย์จรวด ขณะที่คิมจองอึนเรียกทรัมป์กลับว่าคนปัญญาอ่อนที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย เป็นต้น ส่วนในกรณีจีนหรืออิหร่านก็มีการโต้ตอบด้วยการใช้วาจารุนแรงและข่มขู่เช่นกัน

 

ขั้นตอนที่ 4 มีการกระทำที่ตอบโต้กันแบบ Tit for Tat หรือที่เรียกว่า ตาต่อตา ฟันต่อฟัน และแข็งกร้าวทั้งสองฝ่าย เช่น การตอบโต้ด้วยมาตรการทางภาษีอย่างไม่มีใครยอมใครของจีนและสหรัฐฯ หรือการยิงขีปนาวุธโจมตีของอิหร่านต่อกองทัพสหรัฐฯ ในอิรักเพื่อตอบโต้การที่โซเลมานีถูกสหรัฐฯ ลอบสังหาร เป็นต้น

 

ขั้นตอนที่ 5 ทรัมป์จะข่มขู่หรือมีปฏิบัติการที่แข็งกร้าวจนฝ่ายตรงกันข้ามล่าถอยไปในที่สุด 

 

ขั้นตอนที่ 6 สถานการณ์ผ่อนคลาย แต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายไม่ได้ดีขึ้น ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง และจะกลายมาเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรังต่อไป เช่น ในกรณีเกาหลีเหนือ แม้ว่าทรัมป์และคิมจองอึนจะพูดคุยกันเบื้องต้นเกี่ยวกับการเจรจาการปลดอาวุธนิวเคลียร์ แต่ก็ยังไม่มีการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด เช่นกันกับกรณีอิหร่าน บรรยากาศคลี่คลายลง แต่สหรัฐฯ ยังคงคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อไป

 

และในกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน การเจรจาอันนำไปสู่ข้อตกลงเฟส 1 ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าสงครามการค้าจะจบสิ้นลง เพราะดูเหมือนจะเป็นเพียงการผ่อนคลายสถานการณ์ตึงเครียดลงเท่านั้น

 

ขั้นตอนที่ 7 ตราบใดที่ทรัมป์ไม่พอใจกับการเจรจาหรือสถานการณ์ใด ก็จะแก้ปัญหาโดยย้อนกลับเข้าไปสู่ขั้นตอนที่ 1 ใหม่อีกครั้ง

 

กล่าวโดยสรุป หากเกิดเหตุการณ์ที่ทรัมป์สร้างปรากฏการณ์ช็อกโลกที่คาดไม่ถึงอีกครั้งหน้า เราคงต้องใจเย็นลงเพื่อพิจารณาดูสถานการณ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป นโยบายคาดเดาไม่ได้ของทรัมป์นั้น เราสามารถคาดการณ์ได้ว่านี่อาจจะเป็นรูปแบบกลยุทธ์ที่ทรัมป์ใช้เพื่อดึงให้ประเทศต่างๆ เข้ามาเจรจากับสหรัฐฯ และทรัมป์เองก็พร้อมเจรจาเช่นเดียวกัน เพราะการปะทะกันจนเกิดเป็นสงครามบานปลายเป็นไปได้ยากในโลกยุคสมัยนี้    

 

อย่างไรก็ตาม หากทรัมป์มีรูปแบบการดำเนินนโยบายแบบนี้ต่อไป กว่าจะมาสู่ขั้นตอนการเจรจานั้นดูเหมือนจะต้องแลกด้วยชีวิต ด้วยความสัมพันธ์อันดีของประเทศและทรัพยากร มันคุ้มแล้วหรือ?

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X