การประกาศลาออกจากราชการกระทรวงสาธารณสุขของ ปุยเมฆ-พญ.นภสร วีระยุทธวิไล นักแสดง และแพทย์พี่เลี้ยงออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลราชบุรี เป็นชนวนครั้งสำคัญที่ทำให้การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในระบบสาธารณสุขเป็นที่สนใจของสังคมอีกครั้ง
พญ.นภสรได้โพสต์ระบายสาเหตุที่ลาออกจากราชการบนทวิตเตอร์ส่วนตัวที่มีผู้ติดตามกว่า 7 แสนบัญชีว่า ไม่สามารถทนกับระบบการทำงานอันหนักหน่วงของบุคลากรทางการแพทย์
บทความที่เกี่ยวข้อง:
“งานในระบบหนักจริง แต่ถามว่าอยู่ในระดับทนได้ไหม ทนได้ ไม่ตาย แต่ใกล้ตาย เสียทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต…
“วินาทีที่ตัดสินใจลาออกคือตอนนั้นวน Med (อายุรกรรม) อยู่เวรทั้งคืน มาราวด์เช้า (ตรวจคนไข้ตามเตียงในห้องสามัญหรือห้องพิเศษ) ต่อ ชาร์จกองตรงหน้าเกือบ 40 คนไข้ นอนล้นวอร์ดเสริมเตียงไปถึงหน้าลิฟต์ ภาพหดหู่มาก แถมเหนื่อยและง่วง ราวด์คนเดียวทั้งสาย สตาฟฟ์มา 10 โมง เดินมาถามน้องยังราวด์ไม่เสร็จหรอ ต้องเร็วกว่านี้นะ วินาทีนั้นตัดสินใจเลย ดอบบี้ขอลา” ข้อความตอนหนึ่งบนโซเชียลมีเดียของ พญ.นภสร
เนื้อหาขอโพสต์ของ พญ.นภสร อธิบายถึงระบบการทำงานเพื่อรักษาคนไข้ที่ล้มเหลวของกระทรวงสาธารณสุข ในยุคมี อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก่อนที่จะลบโพสต์ดังกล่าวออกไปเพื่อไม่ให้เกิดผลกับกระทบเพื่อนร่วมงานคนอื่น
การลาออกครั้งนี้ของ พญ.นภสร เป็นที่สนใจของสังคมอย่างมาก และเรื่องถึงหู ‘ผู้ใหญ่’ ในกระทรวงต้องรีบตั้งโต๊ะเพื่อชี้แจงถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
สธ. แถลงยอมรับ หมอทำงานหนัก-ขาดแคลนแพทย์ในระบบ
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ยอมรับว่าปัญหาเรื่องขาดแคลนกำลังคนในระบบสาธารณสุขเกิดขึ้นทั้งวิชาชีพแพทย์ และวิชาชีพอื่นๆ เช่น พยาบาล นักรังสีการแพทย์ ฯลฯ โดยในส่วนของแพทย์อยู่ในระบบของกระทรวงสาธารณสุข 24,649 คน คิดเป็น 48% ของแพทย์ทั้งประเทศ ต้องดูแลประชากรประมาณ 75-80% คิดเป็นสัดส่วนแพทย์ต่อประชากร 1 ต่อ 2,000 คน พร้อมทั้งมองว่าเป็น ‘ภาระการทำงานหนัก’
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อไปว่า จากการศึกษาแผนปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี 2561-2570 พบว่าต้องการแพทย์เข้าสู่ระบบปีละ 2,055 คน แต่ได้รับการจัดสรรประมาณปีละ 1,800-1,900 คน โดยปี 2566 มีผู้สำเร็จการศึกษา 2,759 คน ได้รับการจัดสรร 1,960 คน ที่เหลือจัดสรรให้กระทรวงกลาโหม คณะแพทยศาสตร์ 6 แห่งในภูมิภาค และส่วนราชการหน่วยงานต่างๆ สอดคล้องกับจำนวนแพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือแพทย์อินเทิร์นที่แพทยสภากำหนดให้ฝึกทักษะในโรงพยาบาล 117 แห่ง ซึ่งปี 2565 ศักยภาพในการรับอยู่ที่ 3,128 คน แต่ได้รับจัดสรร 2,150 คน คิดเป็น 68.7%
ทั้งนี้ จากการสำรวจภาระงานช่วงวันที่ 15-30 พฤศจิกายน 2565 พบว่า โรงพยาบาลที่ปฏิบัติงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มี 65 แห่ง แบ่งเป็นมากกว่า 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 9 แห่ง, มากกว่า 59 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 4 แห่ง, มากกว่า 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 11 แห่ง, มากกว่า 46 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 18 แห่ง และมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 23 แห่ง ได้มีการวางแผนแก้ไขเป็นระยะ 3, 6, 9, 12 เดือน สามารถลดชั่วโมงการทำงานได้แล้ว 20 แห่ง
ขณะที่ข้อมูลการลาออกของแพทย์ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2556-2565) พบว่า มีการบรรจุแพทย์รวม 19,355 คน แพทย์ใช้ทุนปีแรกลาออก 226 คน คิดเป็น 1.2% เฉลี่ยปีละ 23 คน ซึ่งจำนวนค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีข้อกำหนดให้แพทย์ต้องผ่านการเพิ่มพูนทักษะก่อนไปศึกษาต่อ, แพทย์ใช้ทุนปี 2 ลาออก 1,875 คน คิดเป็น 9.69% เฉลี่ยปีละ 188 คน กลุ่มนี้จะมากสุดเนื่องจากสามารถไปศึกษาต่อได้แล้ว, แพทย์ใช้ทุนปี 3 ลาออก 858 คน คิดเป็น 4.4% เฉลี่ยปีละ 86 คน
นอกจากนี้ มีแพทย์ลาออกหลังใช้ทุนครบ 1,578 คน คิดเป็น 8.1% เฉลี่ยปีละ 158 คน รวมแพทย์ลาออกปีละ 455 คน รวมกับแพทย์ที่เกษียณปีละ 150-200 คน จึงมีแพทย์ออกจากระบบปีละ 655 คน ซึ่งหากดูแพทย์ที่คงอยู่ในระบบพบว่า แพทย์ของโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) จะคงอยู่ในระบบได้มากถึง 80-90% เนื่องจากเป็นการคัดเลือกนักศึกษาแพทย์จากคนในพื้นที่
หมอเก่ง ก้าวไกล ชี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ให้ถูกจุด
นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะทำงานด้านสาธารณสุข พรรคก้าวไกล กล่าวกับ THE STANDARD ถึงปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ลาออกเนื่องจากไม่สามารถทนกับภาระงานหนักได้ว่า นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่องทุกปี และอาจจะมีแนวโน้มขาขึ้น (Up Trend) จริงๆ ซึ่งต้องยอมรับว่าจำนวนการผลิตแพทย์นั้นก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวยังคงเป็นปัญหา ‘รูรั่ว’ ที่ยังไม่ได้ถูกอุด
นพ.วาโย กล่าวว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี อย่างตนเองจบแพทย์มาแล้ว 10 ปี ตอนนั้นก็มีปัญหาในลักษณะนี้เช่นกัน พร้อมทั้งมองว่าการเกิดปัญหานี้ขึ้นเป็นสิ่งที่ดีที่สังคมเริ่มให้ความสนใจกับปัญหาการทำงาน คุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์
นพ.วาโย กล่าวอีก มีงานวิจัยการศึกษาของอาจารย์แพทย์หลายคนออกมาพูดถึงผลกระทบจากการทำงานหนักของแพทย์ว่ามีผลกระทบด้านความแม่นยำเรื่องการให้บริการของแพทย์ต่อผู้ป่วยจริงๆ เช่น การตรวจการวินิจฉัยมีประสิทธิภาพลดลง ถึงขนาดที่ว่ามีการศึกษาว่ามีแพทย์จำนวนร้อยละ 15 ที่มีภาวะโอเวอร์โหลด และทำให้ความแม่นยำในการตรวจรักษาต่ำลง จนทำให้เกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ทางการแพทย์ขนาดที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบขั้นรุนแรงถึงเสียชีวิตได้
“ต้องยอมรับว่าเมื่อใครก็ตามทำงานติดต่อเกิน 8 ชั่วโมงนั้น ความเหนื่อยล้า ทั้งร่างกาย จิตใจ และสมอง การคิดวิเคราะห์จะลดลง… เราจึงมองร่วมกันว่าสิ่งนี้เป็นปัญหา และปัญหาอยู่ที่ตรงไหน เกิดขึ้นจากตัวบุคคล หรือโครงสร้าง
“ยังมีบางชุดความคิดของสังคมที่มองว่าปัญหาเกิดจากกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ไม่มีความอดทนอดกลั้น แต่คุณหมอที่เติบโตมาในแต่ละยุคมีค่านิยมที่ต่างกัน ถ้าจะบอกว่าเป็นปัญหาในยุคนั้นๆ คิดว่าคงไม่ใช่แล้ว”
นพ.วาโย กล่าวถึงปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์นี้ ‘เป็นปัญหาเชิงระบบ’ พร้อมเล่าย้อนถึงฉากทัศน์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ เมื่อเทียบกับตอนที่ตนเองจบแพทย์เมื่อ 10 ปีที่แล้วว่า “แทบไม่ได้แตกต่างกันเลย”
พร้อมยกตัวอย่างเช่น ปัญหาเงินตกเบิก 3-6 เดือน ในสมัยนั้นเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้น หรือแม้แต่เรื่องอำนาจการกดทับที่เกิดความอยุติธรรมในองค์กร ทั้งการโยนงานให้รุ่นน้อง การพูดไม่ให้เกียรติรุ่นน้อง เป็นต้น พร้อมมองว่าเป็นปัญหาเรื้อรังและไม่ง่ายที่จะแก้ไข แต่ว่าต้องใช้นโยบายการบูรณาการในหลายกระทรวง รวมไปถึงการกระจายอำนาจการพัฒนาท้องถิ่นด้วย
นพ.วาโย ในฐานะแพทย์ และผู้แทนราษฎรที่ขับเคลื่อนด้านสาธารณสุข กล่าวถึงวิธีแก้ปัญหาต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ‘เราต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด’ พร้อมทั้งเห็นด้วยกับการแถลงข่าวตามที่ นพ.ทวีศิลป์ ถึงเรื่องการผลิตแพทย์ เพื่อเป็นการเติมแพทย์ลงไปในระบบ เป็นอีกหนึ่งวิธีในการแก้ไขปัญหา
“เหมือนกับการเป่าลมลงไปในถุงก้นรั่ว ไม่ว่าเราจะเป่าไปแค่ไหน แต่เมื่อถุงก้นรั่วและใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ การเป่าลมลงไปก็ไม่สามารถทำให้ถุงของลูกโป่งนั้นพองขึ้นมาได้”
นพ.วาโย กล่าวว่า อย่างแรกต้อง Identified ก่อนว่าปัญหาอยู่ที่ตรงไหน ปัญหาคืออะไร และจะแก้ไขปัญหาอย่างไร หากเรามองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องของระบบ ปัญหานี้เกิดจาก 2 ส่วน
- ข้อจำกัดเรื่องตัวบุคลากร การเร่งผลิตแพทย์
- ข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ พรรคก้าวไกลได้เสนอปฏิรูปการจัดเก็บภาษีรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะสามารถทำให้เก็บเม็ดเงินขึ้นมาได้ปีละ 6.5 แสนล้านบาท เพื่อเอามาใช้ในด้านสวัสดิการก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล
ขณะที่ปัญหา Work-Life Balance จากภาระงานที่มากจนเกินไป ต้องพิจารณาจาก 2 ปัจจัย จำนวนแพทย์ไม่พอ ต้องเพิ่มการผลิต อาจจะมีการดึงภาคเอกชน สถาบันการผลิตแพทย์ในต่างประเทศ แต่ว่าต้องมีการควบคุมมาตรฐานและยกระดับมาตรฐานให้มีความรัดกุม
รวมถึงต้องหาตัวช่วยอื่นๆ เพิ่ม เช่น การใช้เทคโนโลยี Telemedicine หรือโทรเวชกรรม เพื่อกระจายคนไข้ไม่ให้แออัดในโรงพยาบาล รวมถึงการกระจายช่วงเวลาให้เหมาะสม และให้หมอมีช่วงระยะเวลาที่จะสามารถพักได้อย่างเหมาะสม จะทำให้เวิร์กโหลดนั้นลดลง จะเป็นการช่วยลดภาระของหมอได้ดี
นอกจากนี้ยังต้องทำให้ห้องฉุกเฉินเป็นห้องฉุกเฉิน เราต้องทำอย่างไรให้มีข้อบังคับ ซึ่งอาจจะต้องมีการประกาศอยู่ในกฎกระทรวง ทำให้มีสภาพบังคับว่าห้องฉุกเฉินนั้นจะต้องรับแค่เพียงเคสที่ฉุกเฉินเท่านั้น รับเฉพาะกรณีฉุกเฉินที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต ซึ่งจะเป็นการช่วยลดภาระงานของหมอไปได้มาก จะได้มีเวลาไปพักมาก มีสติสัมปชัญญะ มีกำลังแรงกายเพิ่มมากขึ้น และได้รับการตรวจจากคุณหมอที่มีกำลังวังชามากขึ้นด้วย
นพ.วาโย ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงการลาออกของแพทย์จบใหม่ว่า เป็นการสะท้อนว่าหมอในปัจจุบันนั้นมีค่านิยมแตกต่างกับหมอในยุคก่อน เราจะเห็นว่าหมอในยุคเบบี้บูมเมอร์ ไม่ว่างานจะหนักแค่ไหนก็อดทนยอมทุกอย่าง เพื่อสร้างครอบครัว สร้างฐานะได้อย่างเต็มที่ แต่หมอในยุคปัจจุบันนั้นจะมองหา Work-Life Balance เวลาทำงานทำเต็มที่ แต่จะต้องมีเวลาพักผ่อน มีเวลาให้กับตัวเอง และไม่สามารถที่จะไปโยนภาระไปตีตราคุณหมอเป็นรายบุคคลได้ แต่เป็นแนวคิดที่เป็นไปตามยุคของโลกาภิวัตน์
“หมอเองก็ควรที่จะต้องดูแลตัวเอง หากเรามีดูอายุขัยของหมอก็จะพบว่า โดยเฉลี่ยอายุขัยของเพศชายในประเทศไทยนั้นไม่เกิน 60 ปี ก็จะเสียชีวิตจากการโหมทำงานหนักโดยที่ไม่ได้ดูแลสุขภาพของตนเอง ดังนั้นคงจะต้องมีการปรับเรื่องการทำงานต่างๆ การทำงานมากจนเกินไป ความก้าวหน้าในสายอาชีพ
“ถึงเวลาที่จะต้องกางข้อมูลกันจริงๆ เรียงลำดับความสำคัญการแก้ปัญหา อันไหนที่แก้ปัญหาไปพร้อมกันได้ก็ควรจะแก้ไปพร้อมกัน แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาโดยการคิดไปเองหรือการแก้ปัญหาแบบสุ่ม” นพ.วาโย กล่าวทิ้งท้ายถึงปัญหาการเกิดภาระงานหนักเกินไปจนส่งผลกระทบให้ขาดแคลนบุคลากรในวงการแพทย์ของประเทศไทย