เมื่อวันที่ (22 เมษายน) ที่ผ่านมา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือหมอเลี้ยบ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายกระทรวง ที่ปรึกษา อนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึงการเปิดเมือง หลังรัฐบาลมีมาตรการปิดหลายสถานที่เพื่อรับมือกับการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ว่า ปิดเมืองคือ ‘ยาแรง’ ถึงเวลาหยุดให้ยา 1 พฤษภาคม ได้เวลาเปิดเมือง และว่าด้วยปฏิญญาสำคัญของแพทย์ First, Do No Harm
ถึงวันนี้เรา ‘ปิดเมือง’ มาครบ 1 เดือนพอดี การปิดเมืองหรือกึ่งปิดเมืองคือยาแรงที่ถูกใช้เพื่อจำกัดการระบาดของโควิด-19 ผมเองเห็นด้วยกับการใช้ยาแรงในช่วงวิกฤต และเคยเสนอให้กึ่งปิดเมืองหรือหรี่ไฟเมืองเมื่อวันที่ 19 มีนาคม โดยเสนอให้ปิด 21 วันเพื่อครอบคลุมระยะเวลาฟักตัวของไวรัส (ประมาณ 14 วัน)
คำถามคือผ่านการปิดเมืองมา 31 วันแล้ว ถึงเวลาหยุดให้ยาแรงหรือยัง ในทางการแพทย์ ยาแรง หรือยาอันตราย หรือการรักษาที่อันตรายมีข้อบ่งชี้ในการใช้และมีข้อกำหนดที่ต้องหยุดใช้ เราไม่ใช้ยาแรงโดยไม่ระมัดระวัง เพราะการใช้ยาแรงทำให้เกิดอาการข้างเคียงหรือแม้แต่เกิดโทษถึงแก่ชีวิตได้ แพทย์จึงใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิดเมื่อจำเป็นอย่างยิ่งและรีบหยุดยาเมื่อครบกำหนด
แพทย์จึงให้ยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาเมื่อจำเป็นอย่างยิ่ง และหยุดการรักษาเมื่อครบคอร์สแล้วรอผลลัพธ์ที่ตามมา เพราะยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาไม่เพียงทำลายเซลล์มะเร็ง แต่มีผลต่อเซลล์ปกติ และทำให้ร่างกายอ่อนแอลงด้วย
ดังนั้นปฏิญญาสำคัญของแพทย์ทุกคนที่ต้องยึดถือคือ “First, Do No Harm เหนือสิ่งอื่นใด ห้ามทำให้เกิดอันตราย” เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจแพทย์ทุกคนว่าการรักษาที่ให้ต้องไม่ทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย ยิ่งทำให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วยมากกว่าโรคที่เป็นอยู่เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำเลย
การปิดเมืองคือยาแรงหรือยาอันตราย มีผลดีในการจำกัดการระบาดให้น้อยลง และซื้อเวลาในการเพิ่มศักยภาพการควบคุมโรคและเตรียมทรัพยากรในการรักษาโรค แต่ก็มีข้อเสียคือส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงทุกหย่อมหญ้า ยิ่งคนหาเช้ากินค่ำยิ่งทุกข์มากเป็นทวีคูณ
ยิ่งปิดเมืองนานเท่าใด ผลกระทบต่อคนจนและคนชั้นกลางจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้นจนทำให้ระบบเศรษฐกิจพังทลาย เพราะเมื่อฐานรากอ่อนแอ ยอดพีระมิดก็จะถล่มลงมาด้วย
ด้าน ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ เปรียบการปิดเมืองเหมือนการกลั้นหายใจ คนเรากลั้นหายใจได้นานไม่เท่ากัน คนที่พอมีทุนรอนสะสมย่อมกลั้นหายใจได้นานกว่าคนที่ขาดแคลน
ดังนั้นจึงไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้องที่คนกลั้นหายใจได้นานกว่าจะพร่ำบอกว่ากลั้นหายใจกันต่อไปเถิดเพื่อความปลอดภัยของเราทุกคน ในขณะที่คนกลั้นหายใจได้สั้นกว่ากำลังจะขาดใจตาย
จริงหรือที่บางคนบอกว่าวันที่ 1 พฤษภาคม เรายังไม่พร้อมเปิดเมือง (ทั้งๆ ที่เราสามารถสร้างมาตรการป้องกันโรคและควบคุมโรคภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดอย่างรัดกุมรอบคอบได้) ผมตอบได้เลยว่า “ไม่จริง”
ไม่มีประเทศไหนรอเปิดเมืองในวันที่ผู้ป่วยใหม่เป็นศูนย์ เพราะเรารู้ว่าโควิด-19 ยังอาจอยู่กับเราและมีผู้ป่วยใหม่ประปรายไปอีกช่วงหนึ่ง (วันที่ 8 เมษายนซึ่งเปิดเมืองอู่ฮั่น จีนยังมีผู้ป่วยใหม่ในวันนั้น 63 คน)
ไม่มีประเทศไหนตัดสินใจเปิดเมืองเพราะเส้นกราฟหรือสูตรคณิตศาสตร์ชี้ว่า “เอาล่ะ… เปิดเมืองได้แล้ว” เพราะไม่เคยมีเส้นกราฟหรือสูตรคณิตศาสตร์ใดๆ ที่แม่นยำเช่นนั้นจริง
เนื่องจากปัจจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข ปัจจัยทางวัฒนธรรม การบริหารจัดการ เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องโควิด-19 มีมากมายและซับซ้อนเกินกว่าสูตรคณิตศาสตร์ใดๆ จะคำนวณได้
แต่การตัดสินใจ ‘เปิดเมือง’ เกิดขึ้นได้ ถ้าคลื่นของการระบาดกำลังเป็นขาลงใกล้แตะฐานแล้ว การตัดสินใจ ‘เปิดเมือง’ เกิดขึ้นได้ ถ้าการรับรู้ของประชาชนในการป้องกันโรคเป็นไปอย่างกว้างขวาง (ไม่ต้องถึง 100% ขอเพียง 80% ก็เพียงพอแล้ว ตามหลักการภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ Herd Immunity)
การตัดสินใจ ‘เปิดเมือง’ เกิดขึ้นได้ถ้าความพร้อมในการควบคุมโรคและการรักษาโรคถึงจุดที่พร้อม ‘เต็มอัตราศึก’ แล้ว
เราปิดเมืองมา 31 วัน วันนี้มีผู้ป่วยใหม่เพียง 15 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,826 ราย รักษาหายแล้ว 2,352 ราย เสียชีวิต 49 ราย คงเหลือผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาลเพียง 425 ราย อาการหนัก 61 ราย
เรามี 9 จังหวัดที่ไม่เคยมีผู้ป่วยโควิด-19 แม้แต่คนเดียว เรามี 36 จังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยใหม่มาแล้ว 14 วัน เราเห็นผู้คนใส่หน้ากากอนามัยและเฟซชีลด์กันเกิน 90% เราเห็นเจลล้างมือแอลกอฮอล์ทั่วทุกหนแห่ง เรามีอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) 1,040,000 คนทั่วประเทศที่เฝ้าระวังผู้ติดเชื้อและค้นหาผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยเพื่อกักกันตัว 14 วัน
เราตรวจ RT-PCR หาเชื้อไวรัสมาแล้ว 142,589 ตัวอย่าง (ตัวเลข ณ วันที่ 17 เมษายน) และมีขีดความสามารถตรวจได้วันละ 20,000 ตัวอย่าง แต่ทุกวันนี้มีผู้เข้าเกณฑ์ตรวจหาเชื้อเพียง 3,000-4,000 ตัวอย่าง (ทั้งๆ ที่เกณฑ์ตรวจเชื้อเปิดกว้างมากแล้ว) ดังนั้นจึงมีขีดความสามารถคงเหลืออีก 16,000 ตัวอย่างต่อวัน
วันนี้เรามีเตียงที่รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งประเทศ 15,095 เตียง เป็นเตียงไอซียู 4,681 เตียง, ห้องแยก (Isolation Room) 3,748 เตียง, ห้องผู้ป่วยรวม (Cohort Ward) 4,533 เตียง, Hospitel (กรุงเทพมหานคร) 522 เตียง และเตียงสนาม (ต่างจังหวัด) 1,611 เตียง และเรามีเครื่องช่วยหายใจ (Ventilator) รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ถึง 12,735 เครื่อง
จากข้อมูลข้างต้นนี้ เราพร้อม ‘เปิดเมือง’ อย่างมีขั้นตอนและปลอดภัยตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขหรือยัง ผมตอบได้เลยว่า ‘ยิ่งกว่าพร้อม’ ถ้าเช่นนั้นรออะไรอยู่ คำตอบคือรอการพิจารณาจาก ศบค. กระทรวงสาธารณสุขส่งข้อเสนอ ‘เปิดเมือง’ ตามแนวทางที่มีขั้นตอนปลอดภัยและรัดกุมถึง ศบค. แล้ว ถ้าจะ ‘เปิดเมือง’ วันที่ 1 พฤษภาคม วันนี้ (22 เมษายน) ศบค. ต้องประกาศให้เกิดความชัดเจนเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรีบเตรียมการ
ส่วนใครที่ ‘กลั้นหายใจ’ ได้นานกว่าคนอื่น และยังเรียกร้องให้คนที่กำลังจะขาดใจขอให้กลั้นหายใจต่อไป ขอให้ท่านกลับไปทบทวนปฏิญญาสำคัญของแพทย์ที่ว่า “First, Do No Harm เหนือสิ่งอื่นใด ห้ามทำให้เกิดอันตราย”
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์