วันนี้ (28 เมษายน) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ประชาชนทุกคนเริ่มที่จะหยุดอยู่บ้านหรือทำงานที่บ้านตามสโลแกนที่ว่า ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและควรปฏิบัติ และเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดีระหว่างที่ต้องเก็บตัวอยู่บ้านนั้น การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่เกินความต้องการของร่างกาย และออกกำลังกาย จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเราเลือกรับประทานอาหารอย่างไม่ระมัดระวัง เกินความจำเป็นที่ร่างกายต้องการ และขาดการออกกำลังกาย หรือขยับร่างกายน้อย พฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้ร่างกายมีภาวะไขมันสะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และยังเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคอ้วนลงพุง ซึ่งมีการสะสมไขมันที่บริเวณช่องท้อง หากมีมากเกินไปจะทำให้เห็นพุงยื่นออกมาชัดเจนทำให้เสียบุคลิกภาพ
ด้าน นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคอ้วนลงพุงอาจส่งผลทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนหรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังร้ายแรงอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหลอดเลือดสมอง ไตเสื่อม โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และไขมันพอกตับ ดังนั้นการควบคุมพฤติกรรมการทานอาหารและการออกกำลังกายจึงเป็นสิ่งที่เราต้องปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวัน ดังนี้
- ลดปริมาณข้าว เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีเส้นใย เช่น ข้าวซ้อมมือ ผัก และผลไม้หวานน้อย
- รับประทานอาหารประเภทอบ ตุ๋น ต้ม นึ่ง ย่าง และเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา เนื้อหมูไม่ติดมัน เนื้อไก่ไม่ติดหนัง และเต้าหู้ เลี่ยงเมนูอาหารทอดหรือแกงกะทิ
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอต่อวัน เลี่ยงน้ำหวาน น้ำอัดลม รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ควรระวังอาหารจานเดียวที่ให้พลังงานสูง เช่น ผัดซีอิ๊ว ข้าวมันไก่ บะหมี่แห้ง ราดหน้า
- เลือกออกกำลังกายให้มีความเหมาะสมต่อตนเอง มีความพอดีต่อสภาพร่างกายและสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3-5 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที
หากสามารถปฏิบัติได้ตามที่กล่าวมาทั้งหมด ก็สามารถลดโอกาสที่จะเป็นโรคอ้วนลงพุงและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ ได้ ส่งผลให้เรามีสุขภาพดีทั้งในระหว่างการหยุดอยู่บ้าน หรือทำงานที่บ้าน และสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงในระยะยาว
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า