วานนี้ (14 พฤศจิกายน) นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือที่รู้จักกันในชื่อหมอเลี้ยบ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และปัจจุบันเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘เศรษฐกิจไทยเหมือนคนไข้อ่อนแอที่เลือดกำลังไหลไม่หยุด’
นพ.สุรพงษ์ระบุว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา นักวิชาการ 99 คนออกมาคัดค้านนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยให้เหตุผลว่า เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวและคาดว่า GDP จะขยายตัว 2.8% ในปีนี้และ 3.5% ในปีหน้า จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภคเพราะการบริโภคภายในประเทศขยายตัวถึง 7.8% สูงที่สุดในรอบ 20 ปี อีกทั้งการกระตุ้นการใช้จ่ายจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นหลังจากลดลงมาจาก 6.1% เหลือ 2.9%
นักวิชาการเหล่านี้เป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยบ้าง อดีตรัฐมนตรีบ้าง อาจารย์มหาวิทยาลัยบ้าง ทุกคนจึงเชื่อมั่นว่าข้อมูลที่ท่านเหล่านั้นให้มาถูกต้อง เป็นเหตุให้น่าเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตอีก
“คำถามที่ผุดขึ้นมาในใจของผม คือตัวเลขของนักวิชาการ 99 คน กับตัวเลขของ ดร.ชาติชัย พาราสุข นักเศรษฐศาสตร์และคอลัมนิสต์อิสระของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ที่ผมติดตามอ่านเป็นประจำนั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ผมควรจะเชื่อใครดี
“ผมคิดว่าตัวเลขก็คือตัวเลข ตัวเลขเศรษฐกิจย่อมฟ้องในตัวเองอยู่แล้ว ยกเว้นแต่ว่ามีใครตั้งใจปกปิดหรือดัดแปลงตัวเลขเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ซึ่งคนคนนั้นต้องรับผิดชอบหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากการปกปิดตัวเลขเหล่านั้น เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540”
3 ความกังวลของ นพ.สุรพงษ์ ต่อเศรษฐกิจไทย
1. กังวลว่า GDP ในปี 2566 จะเติบโตต่ำกว่า 2% ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิชาการ 99 คนคาดการณ์ไว้อย่างน้อย 0.8%)
ปลายปีที่แล้ว สำนักงานเศรษฐกิจการคลังของกระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า GDP ปี 2565 จะเติบโต 3.4% และ GDP ปี 2566 จะเติบโต 3.8%
แต่ปรากฏว่าในความเป็นจริง GDP ปี 2565 เติบโตเพียง 2.6% น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 0.8% ในขณะที่ปัจจุบัน สำนักงานเศรษฐกิจการคลังลดการคาดการณ์ GDP ปี 2566 เหลือเติบโตเพียง 2.7% (น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อปลายปีที่แล้วถึง 1.1%) ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยก็คาดการณ์ว่า ปีนี้ GDP จะเติบโต 2.8%
แต่เมื่อย้อนดูข้อมูลการเติบโตของ GDP ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 พบว่าเติบโตเพียง 2.6% ในไตรมาสที่ 2 เติบโตเพียง 1.8% ส่วนไตรมาสที่ 3 ซึ่งยังไม่มีการประกาศออกมา ดร.ชาติชัย คาดการณ์ว่าจะเติบโตเพียง 1.4%
ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ GDP รวมทั้งปี 2566 จะสามารถเติบโตถึง 2.8% ได้
“ทำไม ดร.ชาติชัย ถึงคาดการณ์ว่า GDP ในไตรมาสที่ 3 จะเติบโตเพียง 1.4% และ GDP ปี 2566 จะเติบโตต่ำกว่า 2% ตัวเลขที่ ดร.ชาติชัย คาดการณ์คือ 1.8% เหตุผลอยู่ในความกังวลข้อที่ 2”
2. กังวลว่าปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นในระบบ (Money Supply Growth) เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยลงทุกไตรมาส สภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity) ลดลงจนกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง
มิลตัน ฟรีดแมน กูรูทางเศรษฐศาสตร์เคยเสนอวิธีการคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณเงินกับ GDP ไว้ว่า ถ้ามีการเติบโตของปริมาณเงินสูง การเติบโตของ GDP ก็จะสูงตาม แต่ถ้าการเติบโตของปริมาณเงินลดลง GDP ก็จะเติบโตน้อยลงด้วย
ในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 พบว่า ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้น 3.3%GDP เติบโต 2.6%
ในไตรมาสที่ 2 ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น 2.0%GDP เติบโต 1.8%
เริ่มไตรมาสที่ 3
เดือนกรกฎาคม ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น 1.6%
เดือนสิงหาคม ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น 1.4%
เดือนกันยายน ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น 1.8%
ดังนั้น ดร.ชาติชัย จึงคาดการณ์ว่า GDP ในไตรมาสที่ 3 น่าจะเติบโตเพียง 1.4%
สำหรับไตรมาสที่ 4 พบว่า เพียง 3 สัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม มีปริมาณเงินไหลออกนอกประเทศอีก 7.73 หมื่นล้านบาท
ดังนั้น จึงน่าสงสัยว่าจะมีการเติบโตของ GDP อย่างก้าวกระโดดในไตรมาสที่ 4 จนทำให้ GDP รวมในปี 2566 เติบโตถึง 2.8% อย่างที่นักวิชาการ 99 คนบอกไว้ ได้อย่างไร
“ใช่หรือไม่ว่า ในท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกเช่นนี้ การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยvจะทำได้ถูกต้องต่อเมื่ออยู่ในภาวะปกติที่ไม่มีเงินไหลออกนอกประเทศอย่างผิดปกติเท่านั้น”
เศรษฐกิจของไทยเริ่มพบปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity) ติดลบมาตั้งแต่กลางปี 2566
ในเดือนพฤษภาคม 2566 สภาพคล่องทางการเงินติดลบ 7.156 แสนล้านบาท จนธนาคารต้องรอการคืนเงินจากลูกหนี้เก่า กว่าจะสามารถปล่อยกู้ใหม่ได้
ในเดือนกรกฎาคม สภาพคล่องทางการเงินติดลบ 8.58 แสนล้านบาท, ในเดือนสิงหาคม สภาพคล่องทางการเงินติดลบเกิน 1,000,000 ล้านบาท
“สภาพคล่องทางการเงินติดลบเนื่องจาก 2 สาเหตุคือ สาเหตุแรก มีเงินไหลออกจากประเทศไทย สาเหตุที่สอง ธนาคารไม่ปล่อยเงินกู้ และสาเหตุที่สองนี้เองนำมาสู่ข้อกังวลที่ 3”
หนี้กำลังจะท่วมหัว ประชาชนกำลังเอาตัวไม่รอด
ความกังวลข้อที่ 3 ของ นพ.สุรพงษ์ ระบุว่า บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร ให้ข้อมูลว่า หนี้ครัวเรือนซึ่งมีขนาด 90.6% ของ GDP นั้น ในจำนวนนี้มีอยู่ถึง 7.4% ของหนี้ครัวเรือนเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไปแล้วตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2566
และหนี้ครัวเรือนอีก 4.8 แสนล้านบาทกำลังจะกลายเป็น NPL ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า หรือหมายความว่า 11% ของหนี้ครัวเรือนจะเป็น NPL หรือหนี้เสีย
มีตัวเลขที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีกว่า ในปี 2565 หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.39 แสนล้านบาทต่อไตรมาส แต่ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเพียง 8.8 หมื่นล้านบาท และมีเพียง 1.1 พันล้านบาทเท่านั้นที่เป็นหนี้ซึ่งกู้จากธนาคาร
ความหมายของตัวเลขข้างบนคือ เกิดการก่อหนี้ครัวเรือนลดน้อยลง เพราะผู้ต้องการเงินเริ่มไม่สามารถขอกู้หนี้ยืมสินได้อีกแล้ว และมีผู้สามารถกู้จากธนาคารได้เพียง 1.2% ของเงินกู้เท่านั้น ที่เหลือต้องกู้หนี้นอกระบบ ซึ่งตอนนี้เจ้าหนี้นอกระบบก็เริ่มไม่ปล่อยกู้แล้วเช่นกัน
“ผมกังวลว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้จะไม่สามารถเอาตัวรอด และดำรงชีวิตเป็นปกติสุขอยู่ได้ โดยการบริหารประเทศด้วยแนวทางปกติแบบเดิมๆ ที่ทำกันมา 9 ปีได้อีก”
ผมกังวลว่า สภาพคล่องทางการเงินที่ติดลบมากขึ้น กำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นทุกที ถ้าไม่มีมาตรการเพิ่มปริมาณเงินด้วยการอัดฉีด ‘เงินใหม่’ ก้อนโตเข้าหมุนเวียนในระบบ (ไม่ใช่แค่การเกลี่ยวงเงินงบประมาณเดิมที่เตรียมไว้อยู่แล้ว)
ผมกังวลว่า GDP ปี 2566 ที่อาจเติบโตต่ำกว่า 2% เป็นสัญญาณเตือนภัยวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังรออยู่ข้างหน้า ถ้าเรายังวางเฉย ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่
“ข้อกังวลทั้ง 3 ประการนี้ ผมควรกังวลต่อไปหรือไม่ วานผู้รู้ทั้งหลายช่วยบอกทีว่า ผมควรเชื่อตัวเลขของใคร ระหว่าง นักวิชาการ 99 คน หรือ ดร.ชาติชัย พาราสุขและที่สำคัญซึ่งผมอยากย้ำอีกครั้งคือ คนที่ตั้งใจปกปิดหรือบิดเบือนตัวเลขทางเศรษฐกิจต้องรับผิดชอบ หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นแล้วสร้างความเสียหายต่อประชาชนและประเทศชาติ” นพ.สุรพงษ์ ระบุทิ้งท้าย
นพ.สุรพงษ์ คือใคร
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เข้าสู่เส้นทางการเมืองในนามพรรคไทยรักไทย เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในปี 2554 รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีผลงานเด่นคือการผลักดันหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคที่ใช้มาจนทุกวันนี้
ต่อมา นพ.สุรพงษ์ ได้เป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และในปี 2548 เขายังเคยเป็นโฆษกรัฐบาลอีกด้วย
หลังการรัฐประหาร 2549 นพ.สุรพงษ์ กลับมามีบทบาทการเมืองในฐานะแกนนำพรรคพลังประชาชน และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ก่อนที่พรรคพลังประชาชนจะถูกยุบพรรคพร้อมตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 5 ปี นพ.สุรพงษ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชาชนในขณะนั้นก็ถูกตัดสิทธิเช่นเดียวกันชั่วคราว 5 ปีเช่นเดียวกัน
ทว่าหลังการรัฐประหาร 2557 เขาเผชิญคดีความหลายคดี และถูกศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ในข้อกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ทำให้ต้องถูกสิทธิการดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิตโดยปริยายตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ยังคงมีบทบาทในฐานะ Think Tank หรือมันสมองของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะในช่วงการก่อตั้งกลุ่ม CARE
อ้างอิง: