×

สนช. มติเอกฉันท์รับหลักการ ‘พ.ร.ป. ศาล รธน.’ ห้ามวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ-ฝ่าฝืนติดคุก

28.09.2017
  • LOADING...

     (28 ก.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 198 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง รับหลักการ ‘ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ’ ในวาระที่ 1 ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอ พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 22 คน ประกอบด้วยตัวแทนจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี และสมาชิก สนช. เช่น สุพจน์ ไข่มุกด์,  อุดม รัฐอมฤต, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, สมคิด เลิศไพฑูรย์ ฯลฯ พร้อมกับกำหนดเวลาการทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 50 วัน ก่อนส่งกลับมาให้ที่ประชุม สนช. ลงมติต่อไป

     มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวต่อที่ประชุม สนช. ก่อนลงมติว่า ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการให้มีกลไกการทำงานเพิ่มมากขึ้น ส่วนเรื่องความคงอยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ทางกรรมการร่างฯ ได้กำหนดเป็นมาตรฐานเดียวกันกับทุกองค์กร คือการให้ดำรงตำแหน่งต่อไปได้เฉพาะบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น จะมีเพียงเฉพาะกรณีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เท่านั้นที่บัญญัติให้แตกต่างออกไปเพื่อให้สอดคล้องกับนานาชาติ

     สำหรับสาระสำคัญที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้คือ การให้ประชาชนร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง เมื่อไปฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่มีการตอบรับหรือครบกำหนด แต่หากมีการวินิจฉัยโดยองค์กรใดแล้วให้ถือเป็นที่สุด ไม่อาจนำมาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกได้

     ทั้งนี้ร่าง พ.ร.ป. ศาลรัฐธรรมนูญฯ ถูกวิจารณ์อย่างมากในประเด็นที่เพิ่มบทบัญญัติ ‘การห้ามละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ’ ตามมาตรา 38 วรรคสอง ห้ามวิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่กระทำด้วยความไม่สุจริต และใช้ถ้อยคำหรือความหมายที่หยาบคาย เสียดสี อาฆาตมาดร้าย ให้เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ามาตราดังกล่าวอาจเป็นการพยายามห้ามวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญโดยสื่อมวลชนหรือประชาชนในโลกออนไลน์ เนื่องจากมีการมอบอำนาจให้ศาลฯ ลงโทษผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X