การเปิดเผยตัวเลขงบการเงินของบริษัทหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีการปรับตัวเลขย้อนหลังจากกำไรเป็นขาดทุน และปรับมูลค่าทุนจากบวกเป็นติดลบ และการเปิดเผยข้อสงสัยเรื่องธุรกรรมอำพรางที่มีผู้บริหารและผู้ถือหุ้นมาเกี่ยวข้องด้วย กำลังเป็นประเด็นที่น่ากังวลมากกับระบบการเงินไทย เพราะเกี่ยวข้องกับนักลงทุนจำนวนมาก ทั้งผู้ถือหุ้นรายย่อย ผู้ถือหุ้นกู้ ธนาคารที่มีการปล่อยกู้ และผู้ถือหน่วยกองทุนรวมที่เข้าไปลงทุน และน่าจะเป็นเคสที่สร้างความเสียหายในตลาดทุนมากที่สุดกรณีหนึ่ง
เราควรคิดถึงเรื่องนี้อย่างไร และใครควรมีบทบาทในการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก เพราะถ้าเราไม่เรียนรู้และปรับปรุงกลไก อาจจะเกิดวิกฤตศรัทธากับตลาดทุนและภาคการเงินได้เลย
ถ้าเรามองในภาพใหญ่ ภาคการเงินทำหน้าที่รวบรวมทรัพยากรทุนจากคนที่มีเงินเหลือ (นักลงทุนและสถาบันการเงิน) ไปให้คนที่ขาดเงิน (ผู้กู้ทั้งครัวเรือนและบริษัท และผู้ต้องการระดมทุนไปใช้) และจัดสรรทรัพยากรทุนเหล่านี้ไปหาผู้ที่ใช้เงินได้ดีที่สุด (มีความเสี่ยงต่ำและให้ผลตอบแทนสูง)
แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดในกระบวนการนี้คือ Asymmetric Information หรือภาวะที่คนสองฝั่งมีข้อมูลไม่เท่ากัน ผู้ถือหุ้นรายย่อย นักลงทุน และสถาบันการเงิน ไม่มีทางรู้ดีไปกว่าผู้บริหารบริษัทได้เลยว่าเอาเงินไปใช้อย่างไร ฐานะทางการเงินที่แท้จริงและธุรกิจเป็นอย่างไร ผลการดำเนินงานจริงๆ เป็นอย่างไร และการบริหารเป็นไปอย่างโปร่งใสหรือไม่
โดยเฉพาะมีผู้ลงทุนรายย่อยที่มีต้นทุนการติดตามเงินลงทุนสูง และเสี่ยงต่อการเอาเปรียบจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีอำนาจควบคุม และผู้บริหารที่ทำหน้าที่ตัดสินใจแทนผู้ถือหุ้นโดยรวม
การกำกับดูแลบริษัท การคานอำนาจ (Check and Balance) และการตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูลของบริษัท กลไกกำกับดูแลผู้บริหารให้มีมาตรฐาน การมีระบบกำกับดูแลภายใน การมีคณะกรรมการบริษัท โดยเฉพาะกรรมการตรวจสอบ ที่ทำหน้าที่สอบทานรายงานทางการเงิน ระบบควบคุมภายใน รวมทั้งให้มีการเปิดเผยข้อมูลรายการเกี่ยวโยงให้ครบถ้วน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์สถานะของบริษัทได้อย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมในการตัดสินใจร่วมลงทุนกับบริษัทในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้หรือตราสารทุน และปกป้องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย
นอกจากนี้ การมีผู้ตรวจสอบบัญชีที่เป็นอิสระจากผู้บริหาร ปฏิบัติหน้าที่อย่างรอบคอบ ครบถ้วน และเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพก็เป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อสร้างระบบการกำกับดูแลอีกชั้นหนึ่งว่าข้อมูลที่เปิดเผยออกมาสะท้อนการดำเนินการที่แท้จริงของธุรกิจ เพราะสถาบันการเงิน กองทุนรวม นักวิเคราะห์ และบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ก็ต้องพึ่งข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยออกมา และนำไปวิเคราะห์เพื่อให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนอีกที และผู้เล่นเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญมากของภาคการเงิน และต้องแน่ใจว่าทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของวิชาชีพอย่างรอบคอบ สุจริต และเป็นมืออาชีพ
แต่หากผู้บริหารมีเจตนาบิดเบือนตัวเลข หรือทุจริต ในขณะที่ระบบการกำกับดูแลภายในล้มเหลว คณะกรรมการตรวจสอบไม่ทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบดูแล คณะกรรมการบริษัทไม่ทำตัวเป็น ‘สติ’ ที่ดี ผู้ตรวจสอบบัญชีละเลยหรือร่วมมือกับผู้บริหารแล้ว แทบไม่มีทางที่คนภายนอกจะตรวจพบเจอก่อนที่จะสายเกินไปได้เลย
ผู้กำหนดนโยบายและผู้กำกับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมีหน้าที่สำคัญในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของกลไกทุกส่วนให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพและกฎหมาย ไม่เช่นนั้นแล้วตลาดการเงินและระบบการเงินจะไม่สามารถทำงานต่อได้ หรือมีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น เพราะนักลงทุนต้องคิดหนักขึ้น ไม่กล้าซื้อหุ้น ไม่กล้าให้กู้ หรือให้โดยต้องการผลตอบแทนชดเชยสูงขึ้นกว่าความจำเป็น และหากไม่มีการดำเนินการอย่างเข้มงวดจะยิ่งเปิดช่องให้ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่บริษัทอื่นๆ เอาเยี่ยงอย่าง เอาเปรียบนักลงทุนรายย่อยได้อีก
หวังว่ากรณีนี้จะเป็นบทเรียนสำคัญในตลาดทุน และจะมีการดำเนินการค้นหาข้อเท็จจริงและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด เพื่อปรามไม่ให้กรณีแบบนี้เกิดขึ้นได้อีก ก่อนที่จะเกิดวิกฤตศรัทธาในตลาดทุนไทย
ก่อนที่ตลาดไทยจะกลายเป็นตลาดร้าง