วันนี้ (5 กรกฎาคม) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย จากข้อมูลการเฝ้าระวังระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 พบว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
- สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพบ 487 ราย (52%)
- สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 447 ราย (47.8%)
- สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) 2 ราย (0.2%)
โดยผู้ป่วยสายพันธุ์เบตาทั้ง 2 ราย เป็นครอบครัวเดียวกับที่พบรายแรกที่ติดเชื้อจากลูกชายที่เดินทางมาจากจังหวัดนราธิวาส
ส่วนภูมิภาคพบสายพันธุ์อัลฟา 1,011 ราย (77.6%) สายพันธุ์เดลตา 234 ราย (18%) และสายพันธุ์เบตา 57 ราย (4.4%) โดยพบว่าสายพันธุ์เดลตามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์ ส่วนสายพันธุ์อัลฟาและเบตามีแนวโน้มลดลง ซึ่งสายพันธุ์เบตาส่วนใหญ่ยังพบในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดนราธิวาสมากที่สุด
ดังนั้นข้อมูลการเฝ้าระวังทั้งประเทศตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 สายพันธุ์อัลฟา จำนวน 9,209 ราย (81.98%) สายพันธุ์เดลตา จำนวน 1,838 ราย (16.36%) และสายพันธุ์เบตา จำนวน 186 ราย (1.66%)
สัดส่วนสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังสะสมทั้งประเทศพบว่า สายพันธุ์อัลฟายังมากที่สุดในประเทศไทยแต่มีแนวโน้มลดลง ส่วนสายพันธุ์เดลตามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์
นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เพาะเลี้ยงเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ เพื่อนำมาทดสอบกับเซรั่มคนที่ได้รับวัคซีนโควิดว่าสามารถป้องกันหรือลดฤทธิ์ไวรัสกลายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์อัลฟา เดลตา และเบตา ได้มากน้อยเพียงใด โดยจะใช้วิธีมาตรฐานคือ Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ซึ่งเป็นการทดสอบกับไวรัสจริงภายในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 รวมถึงการทดสอบกับเซรั่มของผู้ที่ได้รับวัคซีนต่างชนิดกันอีกด้วย
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น