วันนี้ (23 มีนาคม) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวประเด็นความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด โดยระบุว่า การระบาดของโรคโควิดในประเทศไทยเกือบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์โอมิครอน คิดเป็น 99.95% และเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 (78.5%) มากกว่า BA.1 (21.5%) ส่วนสายพันธุ์เดลตาพบในผู้ป่วยรายใหม่เพียง 0.05%
ขณะที่ประเด็นสายพันธุ์ย่อยลงมาของโอมิครอนอย่าง BA.2.2 และ BA.2.3 ตอนนี้ทางกรมวิทย์ฯ ตรวจตัวอย่างจากกลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศและต่างประเทศแบบถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวกว่า 500 ตัวอย่างทุกสัปดาห์ พบสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 จำนวน 22 ราย และสายพันธุ์ย่อย BA.2.3 จำนวน 61 ราย รวม 2 สายพันธุ์พบ 83 ราย
นพ.ศุภกิจกล่าวต่อไปว่า ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่จะประเมินความสามารถในการแพร่กระจาย รวมถึงความรุนแรง หรือการหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนของทั้ง 2 สายพันธุ์ย่อย ซึ่งอาจจะต้องรอผลวิเคราะห์จากหลายแล็บทั่วโลกรวมมาเพื่อสรุปกันอีกครั้ง
ส่วนกรณีของ ‘เดลตาครอน’ (BA.1 x AY.4 Recombinant) ที่ถูกองค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องติดตาม (Variant under monitoring) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 โดยทั่วโลกมีรายงานพบแล้ว 64 ราย และรอตรวจสอบอีกกว่า 4,000 ราย (เป็นส่วนที่ส่งจากประเทศไทยไปตรวจ 73 ราย) ยังถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องศึกษาและตามดูข้อมูลเพิ่มเติม ยังไม่ถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ดังนั้นเดลตาครอนยังไม่มีอะไรให้น่าตื่นเต้นหรือตกใจ เพราะยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเรื่องการแพร่เร็ว ความรุนแรง หรือหลบภูมิคุ้มกันในตอนนี้