วันนี้ (4 เมษายน) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวประเด็นการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดในประเทศไทย โดยระบุว่า ขณะนี้สัดส่วนการระบาดของสายพันธุ์โควิดต่างๆ ในไทย ข้อมูลวันที่ 26 มีนาคม – 1 เมษายน 2565 เป็นสายพันธุ์โอมิครอน 99.84 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เดลตาพบเพียง 0.16 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ขณะที่การตรวจรหัสพันธุกรรมเพื่อลงลึกถึงสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนในแล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ช่วงวันที่ 26 มีนาคม – 1 เมษายน 2565 ตอนนี้พบสายพันธุ์ย่อย BA.2 จำนวน 1,765 ราย และสายพันธุ์ย่อย BA.1 เพียง 150 ราย
ส่วนกรณีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม ‘XE’ (เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565) ที่แพร่เชื้อติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วกว่าโควิดทุกสายพันธุ์นั้น และศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่า ตรวจพบสายพันธุ์ลูกผสม XE จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่าง Swab ผู้ติดเชื้อชาวไทย 1 ราย
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า XE คือโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสมของ 2 สายพันธุ์ย่อยอย่าง BA.1 และ BA.2 ซึ่ง XE เป็นชื่อที่ใช้เรียกกันในประเทศอังกฤษเท่านั้น ขณะที่หลายประเทศก็พบการผสมของ BA.1 และ BA.2 เช่นกัน เพียงแต่เรียกในชื่อย่อที่ต่างกันออกไป เช่น XG (เดนมาร์ก), XJ (ฟินแลนด์) เพราะแต่ละประเทศมีรหัสพันธุกรรมที่ต่างกัน
ส่วนผลการถอดรหัสพันธุกรรมของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่ามี 1 ราย เป็นผู้ติดเชื้อโควิดที่ผ่านการถอดรหัสพันธุกรรมแบบทั้งตัว พบว่าเชื้อมีความใกล้เคียงที่จะเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม XJ มากกว่าเป็น XE โดยผู้ป่วยดังกล่าวคือชายไทย อายุ 34 ปี อาชีพพนักงานบริษัทขนส่ง ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ในโรงพยาบาลของกรุงเทพฯ และได้รับวัคซีน Sinopharm 2 เข็ม
นพ.ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสมของ 2 สายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.2 ที่ถูกเรียกในชื่อต่างๆ ทั้ง XE หรือ XJ ยังไม่ถูกกำหนดอย่างเป็นทางการในภาพรวม เพราะยังอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ความสามารถที่แท้จริง และยังต้องการข้อมูลจำนวนมากเพื่อยืนยันประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อมีข้อมูลมาประกอบกันมากพอแล้ว สายพันธุ์ลูกผสมนี้อาจมีชื่อเรียกอย่างอื่นก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกได้เปิดเผยข้อมูลออกมาหลังจากประเทศอังกฤษรายงานพบสายพันธุ์ลูกผสม XE ในฐานตัวอย่างที่ส่งตรวจและถอดรหัสพันธุกรรมแล้ว 763 ตัวอย่าง และเมื่อเทียบกับตัว BA.2 พบว่า XE มีอัตราการเพิ่มขึ้นมากถึง 9.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จึงทำให้องค์การอนามัยโลกต้องจับตาว่าลูกผสมเหล่านี้จะมีอัตราการแพร่ระบาดเร็วขึ้นกว่าเดิมหรือไม่
“ในหลายๆ เรื่องผมจึงเรียนต่อพี่น้องประชาชนว่า อย่าเพิ่งไปวิตกกังวลจนเกินเหตุ เพราะสิ่งเหล่านี้ยังมีข้อมูลบางอย่างที่ค่อนข้างจำกัด ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเชื้อเหล่านี้ประสิทธิภาพเป็นอย่างไร ซึ่งยังต้องจับตาดูข้อมูลกันต่อไป” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ก่อนหน้านี้ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิดคนไทย มีสายพันธุ์ลูกผสม XE จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจำนวน 1 ราย
สำหรับโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม XE พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 โดยเป็นสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.2 ไม่ใช่ ‘เดลตาครอน’ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ลูกผสมระหว่าง ‘เดลตา และโอมิครอน’ โดยมีการกลายพันธุ์ใหม่อีก 3 ตำแหน่งที่ไม่พบในสายพันธุ์โอมิครอนดั้งเดิมในยีน NSP3 คือ C3241T และ V1069I และยีน NSP12 คือ C14599T
WHO ประเมินว่าสายพันธุ์ลูกผสม XE มีอัตราการแพร่ระบาด (Growth Advantage) เหนือกว่า BA.2 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามยังต้องรอข้อมูลจากทั่วโลกที่ร่วมด้วยช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมอีกระยะหนึ่งเพื่อยืนยัน
อ้างอิง: