×

กรมวิทย์ฯ ตรวจพบโควิดสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลาน เช่น BN.1, BL.2 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเร็ว ยังไม่พบกลายพันธุ์ แต่อาจแพร่-ติดง่ายขึ้น

โดย THE STANDARD TEAM
22.11.2022
  • LOADING...
โควิดสายพันธุ์ BA.2.75

วันนี้ (22 พฤศจิกายน) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์สายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปี 2565 พบสายพันธุ์เดลตาถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ได้แก่ BA.1, BA.2, BA.4, BA.5 และสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ปัจจุบันสายพันธุ์โอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่กระจายอยู่ในประเทศไทย

 

จากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิดที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง นำไปสู่วิวัฒนาการการกลายพันธุ์ภายในสายพันธุ์เดียวกันอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นสายพันธุ์ย่อยหลากหลายกลุ่มในตระกูล ซึ่งมีตำแหน่งกลายพันธุ์ต่างๆ กันไป

 

ข้อมูลล่าสุดที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่าย ตรวจเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดในประเทศ และติดตามสายพันธุ์น่ากังวลที่อาจพบจากผู้เดินทางเข้าประเทศ โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 12-18 พฤศจิกายน 2565 ผลการตรวจเฝ้าระวังแบบ SNP/Deletion ด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 246 ราย

 

พบว่าในภาพรวมพบสัดส่วนของ BA.2.75 เพิ่มขึ้นเป็น 42.9% จากสัปดาห์ก่อนที่มีสัดส่วน 23.6% และเมื่อแยกตามกลุ่ม พบว่าส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศจาก 23.2% เป็น 43.9% โดยเฉพาะพื้นที่เขตสุขภาพที่ 2, 6, 11 และ 12 ที่พบสัดส่วนมากกว่าครึ่งเป็นสายพันธุ์ BA.2.75

 

จากการถอดรหัสพันธุกรรมแบบทั้งตัว (Whole Genome Sequencing) ของตัวอย่างในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน พบสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลานของ BA.2.75 เช่น BA.2.75.2, BA.2.75.5.1 (BN.1), BA.2.75.1.2 (BL.2) จำนวนมากกว่า 138 ราย

 

นอกจากนี้ยังพบสายพันธุ์ BQ.1 ที่ระบาดในสหรัฐอเมริกาและยุโรป จำนวน 9 ราย ส่วนสายพันธุ์ XBB ที่ระบาดมากในสิงคโปร์ พบจำนวน 13 ราย ทั้งนี้ยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์ แต่อาจจะทำให้มีการแพร่และติดเชื้อง่ายขึ้น

 

นพ.ศุภกิจกล่าวต่อไปว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์ BA.2.75 ตรวจพบครั้งแรกในอินเดียเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2565 และได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สายพันธุ์ BA.2.75 มีการกลายพันธุ์อย่างหนึ่งที่สำคัญ คือ G446S บนโปรตีนหนาม ซึ่งจับกับตัวรับในเซลล์ของมนุษย์ และเกี่ยวข้องกับการหลบภูมิคุ้มกัน การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บ่งชี้ว่าอาจมีข้อได้เปรียบในการแพร่ระบาด โดยในประเทศไทยรายงาน BA.2.75 ครั้งแรกเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2565

 

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดร่วมกับเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามผลกระทบจากสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์น่ากังวลที่อาจมีต่อการแพร่เชื้อ ความรุนแรงของโรค ประสิทธิผลของมาตรการทางสาธารณสุข และคุณสมบัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของเชื้อไวรัส เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการออกแบบการรักษา การให้ยาต้านไวรัสหรือแอนติบอดีสังเคราะห์ อย่างไรก็ตาม มาตรการทางสาธารณสุข การสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่แออัด การล้างมือ ยังรับมือกับการระบาดได้ทุกสายพันธุ์ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถช่วยลดความรุนแรงของเชื้อได้” นพ.ศุภกิจกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising