×

กรมการแพทย์-ไฟเซอร์ ลงนามจัดซื้อยา ‘แพ็กซ์โลวิด’ ยาต้านโควิดชนิดเม็ด จำนวน 50,000 คอร์สการรักษา

โดย THE STANDARD TEAM
24.03.2022
  • LOADING...
กรมการแพทย์-ไฟเซอร์ ลงนามจัดซื้อยา ‘แพ็กซ์โลวิด’ ยาต้านโควิดชนิดเม็ด จำนวน 50,000 คอร์สการรักษา

วันนี้ (24 มีนาคม) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคโควิดคือโรคที่มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้เกิดการติดเชื้อเป็นวงกว้าง และมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการพัฒนาวิธีการรักษารวมถึงการจัดหายารักษาโควิดจึงมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่ง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายการจัดหายารักษาโควิดที่สำคัญ คือ การเข้าถึงยาที่มีประสิทธิผลในการรักษา โดยมีข้อมูลทางวิชาการหรือผลการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพเพียงพอในการสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อพิจารณาเลือกและจัดหายาที่เหมาะสมในการนำมาใช้ในกับผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทย 

 

ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยาต้านไวรัสเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยโควิด ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir), ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir), ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) และยาใหม่ที่อยู่ระหว่างการจัดหาและลงนามจัดซื้อกับบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในวันนี้ คือ ยาแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) ซึ่งจากข้อมูลการศึกษาวิจัย 1,379 คน พบว่า ช่วยลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตลงได้ ร้อยละ 88 เมื่อผู้ป่วยได้รับยาภายใน 5 วัน นับตั้งแต่เริ่มมีอาการ กลุ่มที่ให้ยาแพ็กซ์โลวิด มีอัตรานอนโรงพยาบาล ร้อยละ 0.77 และไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนกลุ่มยาหลอก (Placebo) มีผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต ร้อยละ 6.31 โดยมีผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ได้ยาหลอกจำนวน 13 คน 

 

ทั้งนี้ยาแพ็กซ์โลวิดเหมาะสำหรับผู้ติดเชื้อโควิดที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง เช่น คนอายุมากกว่า 60 ปี มีภาวะอ้วน เป็นเบาหวาน เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคไตเรื้อรัง ภูมิต้านทานร่างกายต่ำ เป็นต้น สำหรับยาแพ็กซ์โลวิดมีประสิทธิผลในการลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลและเสียชีวิตลงได้อย่างมีนัยสำคัญ 

 

ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ รับผิดชอบสัญญาการจัดหาและจัดซื้อยาแพ็กซ์โลวิด จำนวน 50,000 คอร์สการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยโควิดได้เข้าถึงยาต้านไวรัสชนิดใหม่ และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือการรักษาตัวในโรงพยาบาล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X