×

กรมการแพทย์ยืนยัน ฟาวิพิราเวียร์ใช้ได้ผลในผู้ป่วยโควิดไทย พร้อมรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หลังถูกตั้งคำถาม ‘เดินผิดทางหรือไม่’

โดย THE STANDARD TEAM
20.08.2021
  • LOADING...
Favipiravir

จากกรณีที่ รสนา โตสิตระกูล อดีตวุฒิสภา ตั้งคำถามเกี่ยวกับการนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด โดยระบุว่ายาดังกล่าวมีประสิทธิผลต่ำมากในการรักษาโควิด โดยอ้างอิงรายงานของ HITAP พร้อมระบุว่าการใช้งบประมาณเงินกู้เพื่อแก้ปัญหาโควิดในการซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ถึง 13,992 ล้านบาท เป็นการเดินผิดทางหรือไม่ 

 

ล่าสุดวันนี้ (20 สิงหาคม) สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แถลงชี้แจงในประเด็นดังกล่าวว่า สำหรับที่มาของยาฟาวิพิราเวียร์ เดิมถูกใช้เป็นยาต้านไวรัสที่เคยใช้กับไวรัสตัวอื่นๆ มาแล้ว ซึ่งในทางการแพทย์เรียกว่า Broad Spectrum คือใช้กับไวรัสหลายๆ ตัว เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงมีการนำมาใช้กับผู้ป่วยโควิด 

 

นพ.สมศักดิ์ ระบุว่าปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสตัวไหนที่ขึ้นทะเบียนว่าเป็นยารักษาโควิดอย่างเป็นทางการ เพราะจะรักษาได้ต้องมีการทำการศึกษาโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ให้ยาหลอก ซึ่งสำหรับการใช้ยารักษาโควิดอยู่ในระหว่างการทดลอง และประเทศไทยมีความสนใจสั่งจองยาตัวนั้นเช่นกัน 

 

สำหรับข้อมูลการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในต่างประเทศ มีหลายประเทศที่ทดลองแล้วได้ผล และไม่ได้ผล ช่วงที่ระบาดแรกๆ มีรายงานจากจีนว่าการวิจัยพบว่าฟาวิพิราเวียร์สามารถลดการติดเชื้อได้ดีกว่ายาต้านไวรัสตัวอื่น (LPV/RTV) เช่นเดียวกับรัสเซียที่พบว่าฟาวิพิราเวียร์สามารถกำจัดเชื้อได้ดีกว่าการรักษาตามมาตรฐานในวันที่ 5 ดังนั้นในประเทศไทยจึงมีคณะผู้เชี่ยวชาญในหลายสถาบันได้รวบรวมการศึกษาต่างๆ มาจัดทำเป็นแนวทางการรักษา

 

สำหรับการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในประเทศไทย ข้อมูลที่กรมการแพทย์ร่วมกับคณะแพทย์ในหลายๆ แห่งช่วยกันทำ จากกลุ่มตัวอย่าง 424 คนที่ทำการศึกษาเมื่อปีที่ผ่านมาพบว่า ผู้ติดเชื้อที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ภายใน 4 วันที่มีอาการ สามารถลดอาการรุนแรงได้ 28.8% ส่วนค่ามัธยฐานของระยะเวลาเริ่มการให้ยาจนผู้ป่วยอาการดีขึ้น กลุ่มผู้ป่วยโรคปอดบวมรุนแรงใช้เวลา 17 วัน ส่วนกลุ่มผู้ป่วยโรคปอดบวมไม่รุนแรงใช้เวลา 9 วัน

 

ส่วนรายงานประสิทธิภาพยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโควิดของ HITAP ซึ่งเป็นการทบทวนรายงานใน 12 ประเทศพบว่า บางรายงานพบว่ามีประสิทธิผล ขณะที่บางรายงานพบว่าไม่มีประสิทธิผล โดยประเมินจากความรุนแรงของผู้ป่วย สถานที่ศึกษา ขนาด และปริมาณยาที่ใช้โดยเทียบกับการใช้ยาชนิดอื่นๆ 

 

อย่างไรก็ตามจากรายงานดังกล่าวระบุว่า ข้อมูลเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าฟาวิพิราเวียร์มีประสิทธิผลในการลดอาการทางคลินิกใน 7 วันและ 14 วัน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นการสนับสนุนการรักษาในแนวทางการรักษาฉบับที่ 17 ของกรมการแพทย์ที่ระบุว่า ให้เริ่มให้ยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด 

 

ทั้งนี้ แนวทางการรักษาดังกล่าวเกิดขึ้นจากคณะกรรมการกำกับดูแลรักษาโควิด ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน คือ กรมต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข  ราชวิทยาลัย และสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง โรงเรียนแพทย์ ดังนั้นแต่ละครั้งในการปรับแนวทางการรักษาจึงมีการถกเถียงกันอย่างมาก เพราะอาจารย์แต่ละท่านจะนำประสบการณ์ ผลวิจัยจากต่างประเทศ รวมทั้งผลการศึกษายาใหม่ๆ ที่สนับสนุนให้มีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อจะนำมาปรับปรุงวิธีการรักษาผู้ป่วยต่อไป 

 

“เรายินดีรับฟังความเห็นที่แตกต่าง ตอนนี้ต้องยอมรับว่าสภาวะการระบาดของโควิดในประเทศไทยยังค่อนข้างวิกฤต ถึงแม้ตัวเลขวันนี้จะเป็นวันแรกในรอบหลายๆ สัปดาห์ที่มีผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 20,000 ราย แต่เราก็ไว้ใจไม่ได้ เรายอมรับความเห็นที่แตกต่าง แต่เราจะไม่แตกแยก เอาความเห็นแต่ละความเห็นมาคุยกัน ทำให้เกิดมุมมองที่หลากหลายได้ เพื่อให้ได้การตัดสินใจที่ดีที่สุด

 

“ยืนยันอีกครั้งนะครับว่า กระทรวงสาธารณสุขยินดีน้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ นอกราชการ ประชาสังคม กลุ่ม NGO ชุมชน หรือพี่น้องประชาชนที่เรามานั่งคุยกันบนหลักฐานเชิงประจักษ์” 

 

นพ.สมศักดิ์ เปิดเผยว่าประเทศไทยมีการสั่งจอง และผลิตยาฟาวิพิราเวียร์หลายสิบล้านเม็ด เพื่อให้ยาที่เราจะใช้กับผู้ป่วยไม่ขาดตอน แต่จะนำเข้ามาเป็นระยะๆ และจะศึกษาผลไปด้วย 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X