×

ขนส่งทางบกแจง ไม่ห้ามวินมอเตอร์ไซค์ใช้แอปฯ รับผู้โดยสาร แต่ต้องเป็นป้ายเหลือง-ไม่รับข้ามเขต

โดย THE STANDARD TEAM
21.10.2018
  • LOADING...

กรณีที่มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวว่าตัวแทนกรมการขนส่งทางบก ในฐานะอนุกรรมการประจำเขตท้องที่ห้วยขวาง ได้ประกาศห้ามวินมอเตอร์ไซค์เข้าร่วมกับทุกแอปพลิเคชัน หากฝ่าฝืนจะตัดสิทธิ์การเป็นผู้ขับขี่ทันที ทำให้เกิดความสับสนในกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

 

ล่าสุด นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เผยว่าจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ปรากฏว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในการเรียกรายงานตัวผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะในเขตห้วยขวางเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2561 ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่ 4 ฝ่าย (ทหาร ตำรวจ เทศกิจ และกรมการขนส่งทางบก) ภายใต้ภารกิจการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3

 

โดยระหว่างการเรียกรายงานตัว เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ได้กำชับให้ผู้ขับขี่ฯ ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนเป็นผู้ให้บริการที่ดี มีมารยาท แต่งกายสะอาดเรียบร้อยและถูกระเบียบ ใส่ใจในความสะดวกปลอดภัยของผู้โดยสาร ตลอดจนกำชับให้ปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย

 

สำหรับประเด็นที่เป็นข่าวว่าตัวแทนกรมการขนส่งทางบกสั่งห้าม ‘วินมอเตอร์ไซค์’ ร่วมกับทุกแอปพลิเคชันน่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะสื่อสารว่าทางกรมการขนส่งทางบกไม่ขัดข้องหากมีการใช้แอปพลิชันเรียกแล้วใช้รถจักรยานยนต์สาธารณะถูกกฎหมาย (ป้ายเหลือง) ในการให้บริการ และต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการรับผู้โดยสารนอกพื้นที่สถานที่ตั้งวินของตน (ไม่รับข้ามเขต)

 

ทั้งนี้การใช้แอปพลิเคชันเรียกรถจักรยานยนต์รับจ้างถือเป็นการยกระดับการให้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร ซึ่งกรมการขนส่งทางบกพร้อมที่จะสนับสนุน แต่บริษัทผู้ให้บริการแอปพลิเคชันดังกล่าวจะต้องควบคุมให้รถจักรยานยนต์ที่มาเข้าร่วมให้บริการรับ-ส่งผ่านแอปพลิเคชันต้องเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะ (ป้ายเหลือง) ตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 และไม่รับผู้โดยสารนอกพื้นที่ซึ่งตัวเองได้รับอนุญาต (ข้ามเขต) ตามประกาศคณะกรรมการประจำกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2561

 

อย่างไรก็ดี กรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างดำเนินการสรุปและวิเคราะห์ผลรายงานการศึกษาการนำรถส่วนบุคคลมารับจ้างให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสาร เพื่อศึกษาถึงข้อดี ข้อเสียและผลกระทบในด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างละเอียด โดยจัดตั้งคณะทำงานในการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลง โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการใช้บริการรถสาธารณะในภาพรวมเป็นหลัก และจัดชุดผู้ตรวจการขนส่งทางบกลงพื้นที่ร่วมกับฝ่ายทหาร ตำรวจ และเทศกิจ เพื่อควบคุมดูแลการใช้รถจักรยานยนต์รับจ้างที่ผิดกฎหมาย

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising