สำรวจความร้อนแรงหุ้น DITTO พบราคาพุ่งทะยานเกือบ 720% จากราคา IPO ในปีที่ผ่านมา ส่วนค่า P/E พุ่งแตะ 161 เท่า นักวิเคราะห์เตือนเลี่ยงลงทุน เหตุราคาวิ่งแรง ขณะพื้นฐานยังคงเดิม เตือนระวังขาดทุน
หุ้น บมจ.ดิทโต้ (ประเทศไทย) หรือ DITTO นับเป็นหนึ่งในหุ้นที่จี๊ดจ๊าดร้อนแรงนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 โดยนับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ (29 มีนาคม 2565) ราคาหุ้น DITTO ปรับตัวขึ้นมาแล้วเฉียด 720% และโดนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยใช้มาตรการกำกับดูแลการซื้อขายรวมกันถึง 6 ครั้ง เพื่อดับความร้อนแรง
โดย DITTO เสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ราคาหุ้นละ 7.50 บาท และวันแรก (6 พฤษภาคม 2564) ที่เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai หุ้นตัวนี้ราคาพุ่งทะยานถึง 140% มาปิดตลาดที่ระดับ 18 บาท
หลังจากนั้นราคาหุ้นเคลื่อนไหวร้อนแรงเป็นระยะจนกระทั่งถูก ตลท. สั่งใช้มาตรการกำกับดูแลการซื้อขายในระดับที่ 1 โดยให้ซื้อขายด้วยบัญชีเงินสด (Cash Balance) เป็นครั้งแรก ในช่วงระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม – 25 มิถุนายน 2564 และอีกครั้งเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2564
แต่หลังจากนั้นหุ้น DITTO ยังคงมีวอลุ่มการซื้อขายที่คึกคักผิดปกติจน ตลท. ต้องใช้มาตรการกำกับการซื้อขายในระดับ 1 ต่ออีกครั้ง ด้วยการให้ซื้อขายด้วยบัญชี Cash Balance ในช่วงระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2564 – 17 มกราคม 2565 ซึ่งก็ยังไม่สามารถคุมความร้อนแรงของหุ้นดังกล่าวเอาไว้ได้ ทำให้ ตลท. ตัดสินใจใช้มาตรการในระดับเดียวกันนี้ต่อออกไปอีกระยะ คือ ช่วงระหว่างวันที่ 18 มกราคม – 7 กุมภาพันธ์ 2565
ทว่าในระหว่างนี้หุ้น DITTO ยังคงพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่องจน ตลท. ต้องใช้ยาที่แรงขึ้นด้วยการยกระดับมาตรการกำกับการซื้อขายเป็นระดับ 2 โดยการห้ามนำหุ้น DITTO มาคำนวณวงเงินซื้อขาย และต้องซื้อขายด้วยบัญชี Cash Balance ในช่วงระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม 2565
อย่างไรก็ตามราคาหุ้นยังคงพุ่งทะยานต่อเนื่อง ทำให้ ตลท. ตัดสินใจใช้มาตรการกำกับการซื้อขาย ‘ขั้นสูงสุด’ ด้วยการห้ามซื้อขายหุ้น DITTO ในลักษณะหักกลบลบหนี้ (Net Settlement) รวมทั้งห้ามนำหุ้นดังกล่าวมาคำนวณวงเงินซื้อขาย และต้องซื้อขายด้วยบัญชี Cash Balance มีผลระหว่างวันที่ 24 มีนาคม – 12 เมษายน 2565
จนถึงขณะนี้ราคาหุ้น DITTO ยังคงปรับตัวขึ้นร้อนแรง ล่าสุดปิดการซื้อขายเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 ที่ระดับ 61.50 บาท หากเทียบกับราคา IPO ที่ระดับ 7.50 บาท เท่ากับว่าหุ้น DITTO ปรับขึ้นมาแล้วราว 54 บาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 720% และมีอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) สูงถึงระดับ 161 เท่า
สำหรับ DITTO ประกอบธุรกิจ 3 ด้านหลัก ได้แก่
- ธุรกิจจำหน่ายและให้บริการระบบบริหารจัดการเอกสาร
- ธุรกิจให้เช่า จำหน่าย และให้บริการด้านเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์ และสินค้าเทคโนโลยีอื่นๆ
- ธุรกิจรับเหมาวิศวกรรมด้านเทคโนโลยีสำหรับโครงการของหน่วยงานราชการต่างๆ
โดย ศราวุธ เตโชชวลิต ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวถึงราคาหุ้น DITTO ที่เคลื่อนไหวร้อนแรงต่อเนื่องว่า การพุ่งขึ้นของหุ้นตัวนี้เกิดจากการคาดหวังของนักลงทุนที่หวังว่าราคาหุ้นจะไปได้ต่อ จึงเข้ามาเล่นเก็งกำไรกันอย่างคึกคัก
โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า เซียนฮง หรือ สถาพร งามเรืองพงศ์ นักลงทุนรายใหญ่ ได้เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 จำนวน 2.58 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนราว 0.5868% ที่ระดับราคา 51 บาท ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของเซียนฮงเพิ่มขึ้นเป็น 5.579% จากเดิมที่ถืออยู่สัดส่วน 4.96%
ณ วันที่ 16 มีนาคม 2565 DITTO มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 3 อันดับแรก ประกอบด้วย ธีระชัย รัตนกมลพร จำนวน 157.5 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 35.80%, ฐกร รัตนกมลพร จำนวน 67.5 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 15.34% และสถาพร งามเรืองพงศ์ จำนวน 21.82 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 4.96%
ศราวุธกล่าวว่า ปัจจุบันพื้นฐานหุ้นตัวนี้ยังไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่ราคาหุ้นกลับปรับตัวขึ้นร้อนแรงจนเกินพื้นฐานไปแล้ว และยังไม่สามารถระบุได้ว่าผู้ถือหุ้นรายนี้จะถือหุ้นนานแค่ไหน ดังนั้นการเข้าไปไล่ราคาจนเกินพื้นฐานทำให้นักลงทุนมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนหรือติดดอยได้
“หุ้นตัวนี้คาบเกี่ยวการใช้มาตรการกำกับการซื้อขายแบบเก่ากับแบบใหม่ที่จะเริ่มใช้วันที่ 4 เมษายน ดูๆ แล้วถ้ายังร้อนแรงไม่เลิก ตลท. อาจสั่งห้ามการซื้อขาย (SP) 1 วันได้ ถือเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องนำมาพิจารณาด้วย”
ด้านนักวิเคราะก์จาก บล.บัวหลวง กล่าวว่า ราคาหุ้น DITTO ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างตึงตัวแล้ว และเมื่อพิจารณาปัจจัยพื้นฐาน แม้จะมีศักยภาพรองรับการเติบโตระยะยาว แต่ด้วยมูลค่าหุ้นปัจจุบันที่ค่อนข้างตึงตัวจากราคาที่ปรับขึ้นเร็วและแรงเกินไป จึงต้องติดตามความชัดเจนใน 3 ปัจจัยที่จะมาสนับสนุนการเติบโตในระยะถัดไป คือ
- การเข้าประมูลโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐในช่วงปลายปีนี้ มูลค่า 5,000 ล้านบาท
- การศึกษาโครงการคาร์บอนเครดิต ว่าจะเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้หรือไม่
- รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะกำหนดกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลภายใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งองค์กรของรัฐทั้งหมดจะต้องมีแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อลดการใช้กระดาษอีกด้วย
สำหรับความเคลื่อนไหวหุ้น DITTO วันนี้ (29 มีนาคม 2565) ปิดที่ระดับ 61.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.25% บาท หรือเพิ่มขึ้น 0.41%
บทความที่เกี่ยวข้อง
- หุ้น DELTA ทะลุ 1,000 บาท ดันมาร์เก็ตแคปแตะ 1.26 ล้านล้านบาท สูงกว่าบริษัทแม่ที่ไต้หวันเกือบ 50%
- ‘DELTA’ มาร์เก็ตแคปขึ้นเบอร์ 1 เป็นครั้งแรก ทะลุ 1.1 ล้านล้านบาท โค่นแชมป์เก่า AOT หลังกลับติด SET50 ดันราคาหุ้น All Time High
- หุ้นเดลต้า พุ่งเฉียด 700 บาท นิวไฮรอบ 1 ปี และอาจป่วนตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง โบรกเตือนราคาพุ่งเกินพื้นฐานแม้กำไรเติบโตได้จริง