วันนี้ (1 กรกฎาคม) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ถึงงบประมาณกระทรวงกลาโหม และการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ซึ่งใช้งบประมาณผูกพันข้ามปี ว่าในเรื่องการผูกพันงบประมาณข้ามปีได้ตรวจสอบกับสำนักงบประมาณแล้วเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทุกประการ โดยในเรื่องการผูกพันงบประมาณข้ามปีเนื่องจากการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ต่างๆ ต้องใช้เวลาการผลิต และผ่อนชำระเพราะราคาแพง
วันนี้เราต้องปรับยุทโธปกรณ์ของเรา อยากเรียนว่าในช่วงที่ผ่านมาเราไม่ได้รับการสนับสนุนในเรื่องยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ เลย ทำให้ปัจจุบันมียุทโธปกรณ์เก่ากว่า 70-80% ดังนั้น ส่วนที่จัดหามาทดแทนเพื่อไม่ให้ไปเสียงบประมาณซ่อมบำรุง เพราะภารกิจของเราคือการป้องกันอธิปไตยตามแนวชายแดน ซึ่งอาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่เราต้องเตรียมความพร้อมไว้ในการเตรียมกำลังและยุทโธปกรณ์ ที่สำคัญวันนี้เทคโนโลยีต่างๆ ก้าวไกล เพราะฉะนั้นยุทโธปกรณ์ที่ไม่ทันสมัยอาจเป็นปัญหากับเราในอนาคต การบรรจุข้าราชการทหารในปัจจุบันมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นตามหลักการที่ควรจะมี เพราะเราเห็นถึงความขาดแคลนงบประมาณ
พล.อ. ประยุทธ์ ย้ำถึงการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ว่าไม่ใช่สั่งวันนี้แล้วเดือนหน้ามันได้ เพราะต้องไปผลิตใหม่ขึ้นมา ไม่ได้สร้างรองรับไว้ขายหน้าร้านจึงขอให้เข้าใจด้วย
ภารกิจสำคัญอีกอันหนึ่งคือการป้องกันแนวชายแดน ซึ่งปัจจุบันมีคนหลายหมื่นคนไปเฝ้าตามแนวชายแดน ทำให้การแก้ปัญหาตามแนวชายแดนเราสามารถยุติความรุนแรงได้มากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นภัยรูปแบบใหม่ใดๆ ก็ตาม
นอกจากนี้ เรายังมีภารกิจสนับสนุนองค์การสหประชาชาติ ซึ่งเราก็มีภารกิจต่อประชาคมโลกด้วย ตนในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมจะจัดทำอย่างดีที่สุด
“หลายคนลูกหลานก็เป็นทหารทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นคงต้องห่วงใยเขา ถ้าหากว่าเราไม่มียุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย ยุทโธปกรณ์ที่ป้องกันตัวเองได้ในขณะที่อาวุธต่างๆ มีความร้ายแรงขึ้น มันก็อาจทำให้เกิดการสูญเสียของลูกหลานของท่าน และของพวกเรากันเอง” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
ขณะที่ พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ชี้แจงว่า กองทัพมีภารกิจหลัก 2 ประการคือ การเตรียมกำลังกองทัพ และการใช้กำลังกองทัพ การเตรียมกำลังพลก็ต้องพร้อมทั้งในยามปกติ ทั้งกำลังพล การศึกษา และอาวุธยุทโธปกรณ์
ส่วนการใช้กำลังนั้น กระทรวงกลาโหมทราบดีว่าภัยคุกคามในอนาคตนั้นมีภัยคุกคามรูปแบบใหม่ทั้งยาเสพติด การหลบหนีข้ามชาติ ภัยพิบัติ โรคติดต่อ ซึ่งกองทัพได้พิจารณาปรับโครงสร้างและการบริหารจัดการเพื่อรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ซึ่งจะเห็นจากโควิด-19 กองทัพได้มีการเข้าไปช่วยเหลือด้านสาธารณสุขในด้านต่างๆ มีชุดแพทย์ และสถานกักกันโรค 32 แห่ง
ส่วนการปฏิรูปกระทรวงกลาโหม ได้มีแผนปรับปรุงกองทัพมาโดยตลอด มีการยุบหน่วย ปรับถึงระดับกองพลเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ มีการปรับระบบกำลังโดยรับกำลังพลสำรองเข้ามาทำงานปกติเพื่อลดภาระงบประมาณแทนที่จะเข้ามารับราชการประจำการตั้งแต่เริ่มต้น อีกทั้งต่อไปยังมีกำลังพลเรือนกลาโหมทำงานในด้านธุรการ และอื่นๆ ที่ไม่ใช่ด้านทหาร
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์