×

หุ้น ‘โรงกลั่น’ ร่วงระนาว หวั่นรัฐบาลจี้ลดค่ากลั่น ด้านโบรกเกอร์มองทำได้ยาก เหตุตลาดน้ำมันในไทยเป็นเสรี

13.06.2022
  • LOADING...
โรงกลั่น

หุ้นกลุ่มโรงกลั่นปรับลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว ไทยออยล์-บางจาก นำทีมดิ่งกว่า 6% นักลงทุนผวารัฐบาลแทรกแซงค่าการกลั่นกระทบกำไร ด้านนักวิเคราะห์ประเมินการสั่งลดการค่าการกลั่นทำได้ยาก เหตุเป็นตลาดเสรี ชี้หากแทรกแซงราคาในประเทศ โรงกลั่นอาจหันไปส่งออกน้ำมันแทน มองสูตรช่วยเหลือยุครัฐบาลสมัครมีความเป็นไปได้มากสุด 

 

ราคาหุ้นกลุ่มโรงกลั่นวันนี้ (13 มิถุนายน) ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปลายสัปดาห์ที่แล้ว ด้วยแรงกดดันจากกรณีที่รัฐบาล นำโดย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ออกมาระบุว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะเข้าแทรกแซงค่าการกลั่น โดยอาจปรับลดค่าการกลั่นลง เพื่อลดราคาขายน้ำมันดีเซลและกลุ่มเบนซินที่หน้าสถานีบริการน้ำมัน เนื่องจากขณะนี้ค่าการกลั่นอยู่ในระดับ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งโรงกลั่นน้ำมันมีกำไรสูง และล่าสุดได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริการจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤตขึ้นมาศึกษากรณีดังล่าว

 

การแต่งตั้งคณะทำงานข้างต้นสะท้อนถึงความเอาจริงเอาจังของรัฐบาล ทำให้นักลงทุนวิตกว่าผลประกอบการกลุ่มโรงกลั่นจะได้รับผลกระทบ จึงเทขายหุ้นกลุ่มโรงกลั่นอย่างต่อเนื่อง โดย TOP ลดลง 6.61%, BCP ลดลง 6.57%, SPRC ลดลง 4.62%, ESSO ลดลง 1.64%, IRCP ลดลง 2.86% และ PTTGC ลดลง 3.70% 

 

จักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า สาเหตุที่ราคาหุ้นโรงกลั่นปรับตัวลดลงทั้งกลุ่ม มาจากความกังวลกรณีที่กระทรวงพลังงานกำลังอยู่ระหว่างศึกษาที่จะขอความร่วมมือปรับลดค่าการกลั่น ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาครัฐยกมาเจรจากับกลุ่มโรงกลั่นในประเทศมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และเมื่อวันศุกร์ (10 มิถุนายน) มีการแต่งตั้งคณะทำงาน ซึ่งสะท้อนถึงความคืบหน้าและเอาจริงเอาจังของภาครัฐ ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความวิตกมากขึ้น และเทขายหุ้นกลุ่มโรงกลั่น

 

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยประเมินว่าความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงหรือบิดเบือนค่าการกลั่นนั้นมีน้อยมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมโรงกลั่นเป็นตลาดเสรี และหากรัฐบาลจะเข้ามาแทรกแซงราคาจริง อาจเป็นการบีบให้โรงกลั่นเลือกที่จะขายน้ำมันสู่ต่างประเทศแแทน เนื่องจากมีราคาขายที่เสรี เป็นไปตามดีมานด์และซัพพลายมากกว่า ซึ่งจะทำให้ราคาบริโภคน้ำมันในประเทศไทยสูงขึ้นในท้ายที่สุด 

 

ทั้งนี้ ประเมินว่ารูปแบบการช่วยเหลือและลดภาระเรื่องราคาน้ำมันครั้งนี้น่าจะใกล้เคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2551 ซึ่งเป็นปีของรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช มากกว่า โดยในปีดังกล่าวกระทรวงพลังงานได้ขอความร่วมมือกับกลุ่มโรงกลั่นให้ช่วยในส่วนของราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งตอนนั้นผู้ที่เข้าร่วมประกอบด้วย TOP, PTTGC, IRPC และ BCP โดยยอมขายน้ำมันดีเซลในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด 3 บาทต่อลิตร เป็นจำนวน 122 ล้านลิตรต่อเดือน เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อจะให้กระทรวงพลังงานจัดสรรน้ำมันราคาถูกให้กับกลุ่มที่เป็นผู้มีรายได้น้อยและขนส่งสาธารณะ

 

“ทุกครั้งที่ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น รัฐบาลจะหยิบยกประเด็นลดค่าการกลั่น หรือตรึงค่าการกลั่นขึ้นมาเป็นเครื่องมือลดภาระภาคประชาชนและกองทุนน้ำมัน รอบนี้ก็เช่นเดียวกัน แต่เชื่อว่ารอบนี้ทำได้ดีที่สุดก็คือ รูปแบบของรัฐบาลสมัคร แต่ปริมาณน้ำมันที่โรงกลั่นจะนำมาออกขายในราคาต่ำอาจจะมากกว่ารอบที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าของทางภาครัฐบาล ซึ่งน่าจะได้ข้อสรุปเรื่องนี้ก่อนสิ้นเดือนมิถุนายน” จักรพงศ์กล่าว 

 

ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานว่า รัฐบาลเจรจาให้โรงกลั่นแบ่งปริมาณน้ำมันมาขายในราคาต่ำให้แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและขนส่งสาธารณะดังที่กล่าว จะทำให้กำไรของโรงกลั่นปรับลดลงโดยเฉลี่ยไม่เกิน 5% และเมื่อเทียบกับราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงรับข่าวร้ายครั้งนี้ จึงแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นกลุ่มโรงกลั่นจากอานิสงส์ความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

ฝ่ายวิจัย บล.ทรีนีตี้ มีความเห็นว่า ประเด็นการที่รัฐจะเข้ามาแทรกแซงค่าการกลั่น จะเป็น Sentiment เชิงลบต่อหุ้นกลุ่มโรงกลั่น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตลาดน้ำมันในประเทศไทยเป็นตลาดเสรี ใช้กลไกตลาดโลกตามดีมานด์และซัพพลาย ดังนั้นแล้วมองว่ารัฐจะเข้ามาควบคุมค่าการกลั่นโดยตรงนั้นอาจจะเป็นไปได้ยาก และประเมินว่ารัฐบาลอาจจะมีกลไกอย่างอื่นในการขอความร่วมมือ เช่น ขอความร่วมมือให้สถานีน้ำมันพยุงราคาดีเซลในช่วงที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยได้ทำ Sensitivity Analysis ถ้ามีการลดค่าการกลั่น 1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นระยะเวลา 6 เดือน จะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของโรงกลั่น 3-10% ทั้งนี้ ประมาณการกำไรปี 2564 ยังตั้งอยู่บนสมมติฐานของค่าการกลั่นที่ 7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ดังนั้นถ้าค่าการกลั่นในช่วงที่เหลือของปียังสูงเกินกว่า 15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ผลกระทบต่อกำไรจะต่ำกว่านี้

 

ด้าน เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า หากพิจารณาในรายละเอียดของธุรกิจโรงกลั่น พบว่าในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเป็นระบบการค้าแบบเสรี ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี ไม่มีการแทรกแซงโดยภาครัฐ กระทรวงพลังงานไม่ได้ควบคุมค่าการกลั่น ซึ่งก็มีทั้งช่วงที่โรงกลั่นได้กำไรและขาดทุน 

 

ในมุมมองของฝ่ายวิจัย ค่าการกลั่นที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบันมาจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ทำให้ซัพพลายโดยรวมของตลาดโลกปรับตัวลดลง ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในภาวะผิดปกติ และอาจจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น อีกทั้งค่าการกลั่นที่ปรับตัวสูงขึ้นก็มีเพียงประเภทดีเซลและเบนซิน แต่โรงกลั่นผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ อีกด้วย ทำให้ต้องถัวค่าการกลั่นเฉลี่ยตามสัดส่วนการผลิต รวมถึงค่าการกลั่นยังไม่ได้สะท้อนกำไรที่แท้จริงของโรงกลั่น เพราะยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้น 

 

ดังนั้นหากภาครัฐเข้ามาแทรกแซงบังคับให้ปรับลดราคาขายปลีกหน้าโรงกลั่น ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการหันไปส่งออกมากขึ้น เพราะได้ราคาสูงกว่าการขายในประเทศ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาทุกครั้งที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงก็จะมีประเด็นการแทรกแซงค่าการกลั่น แต่ยังไม่เคยทำได้ 

 

“จึงถือเป็นประเด็นที่ต้องติดตามว่าภาครัฐจะเข้ามาแทรกแซงและทำลายระบบกลไกตลาดเสรีของโรงกลั่นที่มีมาหรือไม่ ซึ่งหากยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน จะเป็นแรงกดดันต่อกลุ่มโรงกลั่น” เทิดศักดิ์กล่าว 

 

ทั้งนี้ โครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทย หลักๆ ประกอบไปด้วยราคาหน้าโรงกลั่น, ภาษีสรรพสามิตร, ภาษีเทศบาล, กองทุนน้ำมัน, ภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าการตลาด ซึ่งในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับสูงจากผลกระทบของสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ทำให้รัฐบาลเกรงว่าหลายภาคส่วนจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น จึงเข้าแทรกแซงในการกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับต่ำกว่าโครงสร้างราคาน้ำมันที่ควรจะเป็นตามสูตรราคา เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ

 

โดยในช่วงที่ผ่านมาตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30, 32 และล่าสุด 33 บาทต่อลิตร และมีแผนที่จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกินลิตรละ 35 บาท ผ่านการปรับลดการจัดเก็บกองทุนน้ำมันประเภทดีเซล ส่งผลให้สถานะกองทุนน้ำมันติดลบกว่า 8 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน รวมถึงการปรับลดภาษีสรรพสามิตรน้ำมันดีเซลเหลือเพียง 1.3 บาทต่อลิตร จากเดิม 5.9 บาทต่อลิตรในปัจจุบัน เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้

 

และล่าสุดหลังจากสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยได้ยื่นหนังสือถึงภาครัฐ เพื่อขอให้ทบทวนการปรับลดค่าการกลั่นน้ำมัน (GRM) ของผู้ประกอบการโรงกลั่น เพื่อลดราคาขายหน้าโรงกลั่นตามสูตรโครงสร้างราคาน้ำมัน ซึ่งจะเป็นอีกทางที่ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลดลงได้ (หลังจากมีการปรับลดกองทุนน้ำมันและภาษีสรรพสามิต) ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริการจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤตขึ้นมา เพื่อศึกษาประเด็นเรื่องค่าการกลั่นน้ำมันที่กำลังเป็นประเด็นในสังคม 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising