×

Diss Track การด่ากันผ่านบทเพลง การใช้ความคิดสร้างสรรค์ในเชิงทำลาย?

06.10.2020
  • LOADING...
Diss Track การด่ากันผ่านบทเพลง การใช้ความคิดสร้างสรรค์ในเชิงทำลาย?

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • Diss ย่อมาจาก Disrespect ที่เหมือนจะแปลตรงตัวแบบทื่อๆ ได้ว่า ‘ไม่เคารพ’ แต่ในบริบทบนสังเวียนดนตรี มันมีความหมายรุนแรงกว่านั้น ซึ่งควรจะตรงกับคำว่า ‘หยาม’ น่าจะเหมาะกว่า เป็นคำที่อธิบายอุณหภูมิความร้อนแรงได้ในระดับที่เอาเรื่อง
  • Diss Track เป็นหนึ่งใน Subculture ของวัฒนธรรมฮิปฮอปที่ใช้ภาษาแรปเป็นเครื่องมือในการปะทะคารมกัน และเสน่ห์ของมันคือท่าทีการตอบสนองของฝ่ายตรงข้าม ว่าจะโต้ตอบได้เผ็ดร้อนสมน้ำสมเนื้อหรือไม่ โต้กันไปโต้กันมา ด่ามาด่ากลับ ไม่โกง ช่างโดนจริตเข้าอย่างจังกับอุดมคติของชาวเน็ตในยุคปัจจุบัน ที่คลั่งไคล้ดราม่ายิ่งกว่าหน้าที่พลเมือง
  • อย่างไรก็ตามเมื่อวิถีของร็อกแอนด์โรลไม่ใช่การทำลายเครื่องดนตรีบนเวที และวิถีของฮิปฮอปก็ไม่ใช่ความเกลียดชังจองหอง ถึงแม้ว่ายุคนี้จะป็นยุคแห่งการเริ่มปฏิวัติวัฒนธรรม แต่ก็มิได้หมายความว่าเราจะไปทำอะไรใส่ใครก็ได้โดยไม่เคารพสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์

กระแทกกระทั้นกระทบกระทั่ง เป็นเรื่องธรรมดาของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมอย่างเช่นมนุษย์ แม้กระทั่งในบางคราวมนุษย์เรายังสามารถข้ามสายพันธุ์ไปทะเลาะกับสัตว์เลื้อยคลานได้เลย วิธีการโต้ตอบกันก็เป็นไปตามความถนัดและภูมิปัญญา  และในอาณาจักรภพภูมิที่สามแห่งนี้ส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะซึมซับกันมาจากไดอะล็อกละครหลังข่าว ที่เขียนมาเพื่อให้ผู้ชมคอยนั่งตบเข่าฉาดกับการเชือดเฉือนคารมที่ไม่เคยเอาชนะการแสดงออกทางสีหน้าบิดเบี้ยวของนักแสดงได้เลยตั้งแต่สมัยโบราณนานมา หรืออีกวิธีการที่ดูเผินๆ คล้ายว่าจะศิวิไลซ์กว่า เพียงเพราะมันเกิดขึ้นตามสังคมออฟฟิศที่วัดความเจริญกันที่ตึกสำนักงานมีร้านกาแฟแฟรนไชส์ระดับไฮโซเป็นที่เชิดหน้าชูตาหรือไม่ กับการใส่ร้ายป้ายสีลับหลังกันภายในองค์กร การด่าแบบโสมมให้คนทั้งเฟซบุ๊กเห็น แต่ดันซ่อนโพสต์ไม่ให้เหยื่อที่ถูกด่าเห็นจนเรางงในความย้อนแย้งว่านี่มันยังไงวะ ข้อความด่าที่ไม่ได้ด่าคนที่มองเห็น แต่คนถูกด่าไม่สามารถมองเห็นข้อความได้?

 

ส่วนกลุ่มบุคคลที่มีความสามารถพิเศษในสุนทรียศาสตร์อย่างศิลปิน ก็มีวิธีการระบาย โต้ตอบ แสดงความรู้สึกนึกคิดในแบบที่เขาถนัด ตั้งแต่ วินเซนต์ แวน โก๊ะ ที่แสดงออกถึงสภาวะทางจิตใจอันว้าวุ่นผ่านศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสม์ แต่ดันต้องรอให้ตัวตายก่อนผู้คนถึงตระหนักถึงคุณค่า ด้านกวีเอกสมัยกรุงศรีอยุธยาของไทยเราอย่างศรีปราชญ์ก็เคยใช้นิ้วเท้าละเลงบทกลอน ‘ดาบนี้คืนสนอง’ ลงบนพื้นดินในวาระที่เขาต้องโทษประหาร เพื่อสาปแช่งผู้ที่สั่งประหาร

 

มาจนถึงยุคแห่งการบันทึกเสียงที่ศิลปินน้อยใหญ่สามารถใช้เพลงเป็นสื่อในการจิกกัด กระแนะกระแหนคู่กรณีที่เป็นศิลปินด้วยกัน จึงมีการโต้ตอบกันด้วยบทเพลงที่ปรากฎอยู่ตามสื่อทั้งบนดินและใต้ดิน ขึ้นอยู่กับความดุเดือดของภาษาที่ใช้

 

Diss (ดิสส์) คืออะไร อ่านให้แตกนะ จะได้อ่านต่อได้อย่างไม่งง

 

การปะทะคารมกันผ่านบทเพลง เรามักจะเรียกเพลงเหล่านั้นว่า Diss Track หรือ Diss Song หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘Diss’ หรือ ‘ดิสส์’ ด้วยหลักการเดียวกับที่เราเรียกจังหวัดนครราชสีมาว่าโคราช

 

Diss ย่อมาจาก Disrespect ที่เหมือนจะแปลตรงตัวแบบทื่อๆ ได้ว่า ‘ไม่เคารพ’ แต่ในบริบทบนสังเวียนดนตรี มันมีความหมายรุนแรงกว่านั้น ซึ่งควรจะตรงกับคำว่า ‘หยาม’ น่าจะเหมาะกว่า เป็นคำที่อธิบายอุณหภูมิความร้อนแรงได้ในระดับที่เอาเรื่อง

 

Diss Track เป็นหนึ่งใน Subculture ของวัฒนธรรมฮิปฮอปที่ใช้ภาษาแรปเป็นเครื่องมือในการปะทะคารมกัน และเสน่ห์ของมันคือท่าทีการตอบสนองของฝ่ายตรงข้าม ว่าจะโต้ตอบได้เผ็ดร้อนสมน้ำสมเนื้อหรือไม่ โต้กันไปโต้กันมา ด่ามาด่ากลับ ไม่โกง ช่างโดนจริตเข้าอย่างจังกับอุดมคติของชาวเน็ตในยุคปัจจุบัน ที่คลั่งไคล้ดราม่ายิ่งกว่าหน้าที่พลเมือง

 

คงเป็นเรื่องสนุกของเขาล่ะ ได้ด่า และยังได้ออกเพลงใหม่ในเวลาเดียวกัน แถมถ้าฝ่ายตรงข้ามทำเพลงด่ากลับ กระแสก็ยิ่งแรงขึ้น ด่ากันไปด่ากันมา ได้ทั้งเพลงและพื้นที่สื่อ เป็นความสัมพันธ์เชิงอริแบบ Win-Win โดยไม่จำเป็นต้องแคร์รังสีอำมหิตที่แผ่เข้าสู่พื้นพิภพที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ จนน้ำแข็งขั้วโลกละลายเพราะความรุ่มร้อนของจิตใจมนุษย์ การละเล่นพื้นบ้านอันนี้เริ่มได้รับความนิยมกว้างขวางขึ้นในช่วงยุค 90 ณ เวลาที่ฮิปฮอปกำลังลงหลักปักปึ้กในอเมริกา

 

ถึงกระนั้นก็ตาม การจิกกัดเย้าแหย่ผ่านบทเพลงมีมานานก่อนการกำเนิดของฮิปฮอปแล้ว เนื่องด้วยวิสัยชอบทะเลาะกันเป็นปกติของชาวโลก อย่างเช่นศิลปิน โจ เท็กซ์ กับภรรยาที่ทิ้งเขาไปคบหากับราชาเพลงโซลอย่าง เจมส์ บราวน์ ในปี 1962 และในภายหลังเธอก็ได้เลิกรากับบราวน์ บราวน์จึงเขียนจดหมายหาเท็กซ์ว่า “นายจะเอาเธอกลับคืนไปก็ได้นะ” แต่เท็กซ์ปฏิเสธ แถมยังเขียนเพลงที่ชื่อ ‘You Keep Her’ ขึ้นมาเพื่อเย้ยหยันบราวน์อีกต่างหาก

 

 

แม้กระทั่งสองสมาชิกหลักแห่งวง The Beatles อย่าง จอห์น เลนนอน กับ พอล แม็กคาร์ตนีย์ ก็ยังเคยจิกกัดกันเองผ่านผลงานเดี่ยวของตนหลังจากที่วงสี่เต่าทองได้แยกย้ายกันไปแล้ว ซึ่งท่านเซอร์พอลเป็นคนเริ่มก่อน โดยเขียนเพลง Too Many People ซึ่งเนื้อหาเหมือนจะแว้งกัดจอห์นเป็นนัยๆ ส่วนจอห์นก็โต้กลับด้วยเพลง How Do You Sleep? ที่กระแนะกระแหนพอลด้วยเนื้อเพลงที่ว่า “The only thing you done was yesterday / And since you’ve gone you’re just another day” ซึ่งเท้าความถึงเพลง Yesterday ที่พอลแต่งและฮิตสุดขีดในสมัยที่ยังเป็น The Beatles และเมื่อวงแยกย้ายกันไป จอห์นก็เยาะเย้ยผลงานเดี่ยวของพอลอย่างเพลง Another Day ว่าโด่งดังได้ไม่เท่าเพลง Yesterday เมื่อครั้งยังรวมวง

 

https://www.youtube.com/watch?v=wQAQe24YY4A&feature=youtu.be

 

สงครามฮิปฮอประหว่าง East Coast กับ West Coast

 

ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งอันทำให้เกิด Diss Track ครั้งยิ่งใหญ่ขึ้นมากมาย ได้แก่สงครามน้ำลายระหว่างชาวฮิปฮอปจากสองภูมิภาคของอเมริกาในยุค 90 ฝ่ายแรกคือฝั่ง East Coast อันเป็นแหล่งกำเนิดดั้งเดิมของฮิปฮอป ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่มหานครนิวยอร์ก 

 

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งคือฮิปฮอปจากฝั่ง West Coast ที่เริ่มมาแรงในภายหลัง โดยมีศูนย์บัญชาการการสั่นสะเทือนอยู่ที่มหานครลอสแอนเจลิส ใครที่ไม่แม่นภูมิศาสตร์ขอให้นึกภาพง่ายๆ ว่าเป็นสงครามฮิปฮอประหว่างฝั่งขวาสุดกับซ้ายสุดของประเทศอเมริกา ที่มีฐานที่มั่นทั้งคู่เป็นเมืองใหญ่อันมีศักดิ์ศรีไม่แพ้กัน 

 

เหตุเกิดจากการแข่งขันกันระหว่างค่ายเพลงของทั้งสองฝั่ง และการเขม่นยั่วเย้ากันไปมา ในตอนนั้นผลงานจากทางฝั่ง West Coast ไม่ได้รับการชื่นชมยอมรับจากชาว East Coast เท่าที่ควร อาจเป็นเพราะศักดิ์ศรีสุญญากาศที่ค้ำคอชาว East Coast ว่าบ้านตนเป็นแหล่งกำเนิดต้นฉบับดั้งเดิมของฮิปฮอป ทั้งๆ ที่ ณ ตอนนั้นมีเครื่องการันตีที่แม่นยำถึงความสำเร็จของชาว West Coast ว่า ‘ยอดขาย’ ได้แซงหน้าตัวเลขของเพลงจาก East Coast ไปแล้วหลายหลัก และชาว West Coast เองก็แสดงความต่อต้านเหล่าดีเจที่มาจากนิวยอร์ก (East Coast) ไม่ให้ได้ผุดได้เกิดเมื่อครั้งมาเยือนเหย้าของตน

 

ทั้งสองฝั่งมีเจ้าพ่อฮิปฮอปที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันอย่าง The Notorious B.I.G. หรือ Biggie จาก East Coast และ 2Pac จาก West Coast ความขัดแย้งได้ปะทุขึ้นถึงขั้นคอขาดบาดตายเมื่อ 2Pac ได้ถูกลอบยิง และปล้นทรัพย์อย่างอุกอาจที่หน้าห้องบันทึกเสียงแห่งหนึ่งในแมนฮัตตัน เหตุการณ์ครั้งนั้น 2Pac ได้กล่าวหาว่า Biggie เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง แต่ Biggie ปฏิเสธ และหลังจากนั้นไม่นาน Biggie ก็ได้ปล่อยเพลงที่มีชื่อว่า Who Shot Ya? เพื่อ ‘ดิสส์’ 2Pac แต่เขาก็ยืนยันว่าเพลงนี้ถูกเขียนขึ้นมาก่อนเหตุการณ์ยิงกันจะเกิดขึ้น และทางฝั่ง 2Pac ก็เชื่อว่า Biggie ได้แต่งเพลงนี้ขึ้นมาเพื่อเยาะเย้ยเขา

 

 

หลังจากเหตุการณ์นั้นเป็นต้นมา เพลง ‘ดิสส์’ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมากมายจากทั้งสองฝั่งที่ปาอุจริยะใส่กันอย่างไม่หยุดยั้งและรุนแรง ด้วยพื้นเพความเป็นแก๊งสเตอร์ตามวัฒนธรรมฮิปฮอปของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะ 2Pac ที่สาดมหากาพย์แรปกลับใส่ Biggie ไปหลายหมัดด้วยเพลง Against All Odds, Bomb First (My Second Reply) และที่โด่งดังที่สุดเห็นจะเป็นเพลง Hit ’Em Up

 

 

ความขัดแย้งระหว่าง Biggie กับ 2Pac ได้สิ้นสุดลงไปโดยปริยาย ในปี 1996 เมื่อ 2Pac ได้ถูกลอบสังหารอย่างอุกอาจด้วยกระสุนปืน 4 นัด ในขณะที่เขากำลังเดินทางโดยรถยนต์ในลาสเวกัส ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถระบุผู้กระทำผิดได้ เนื่องจาก 2Pac เองมีศัตรูมากมายอยู่แล้วทั้งในวงการฮิปฮอปและวงการธุรกิจสีเทาเข้ม และแน่นอน Biggie ก็ตกเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยในคดีนี้

 

ต่อมาหลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านไปได้เพียง 6 เดือน ก็ถึงคราวของ Biggie ที่ถูกกราดยิงเช่นเดียวกันในขณะที่นั่งอยู่ในรถ เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในเมืองลอสแอนเจลิส ซึ่ง Biggie ได้เดินทางข้ามถิ่น East Coast ของตนไปเพื่อโปรโมตอัลบั้มใหม่ใน West Coast และไม่ได้กลับถิ่นเดิมอีกเลย เนื่องจากเขาเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ คดีนี้มีความซับซ้อนเต็มไปด้วยเงื่อนงำเช่นเดียวกับคดีของ 2Pac ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถปิดคดีได้ และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากมายว่าเหตุฆาตกรรมของทั้ง 2 ฝ่ายน่าจะมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสงครามความขัดแย้งระหว่างชาวฮิปฮอปฝั่ง East Coast กับ West Coast

 

เรื่องราวอันรุนแรงซับซ้อนซ่อนเงื่อนหนักขึ้นกับหลายปมปัญหาที่ถูกผูกไว้ หากใครไม่อินกับวัฒนธรรมฮิปฮอปอาจงงงวยตั้งแต่หลายบรรทัดที่ผ่านมา ราวกับแฟนหนังดิสนีย์ที่หลงเข้าไปดู Tenet โดยบังเอิญ แต่หากใครสนใจใคร่รู้ในรายละเอียดของมหากาพย์สงครามแรปเปอร์สองฟากฝั่งครั้งนั้น สามารถเข้าไปหาดูเพิ่มเติมได้จากซีรีส์สารคดีเรื่อง Hip-Hop Evolution ทาง Netflix

 

Diss Track การด่ากันผ่านบทเพลง การใช้ความคิดสร้างสรรค์ในเชิงทำลาย?

ภาพจาก: Hip-Hop Evolution ทาง Netflix

 

‘ดิสส์’ อื่นๆ ที่โด่งดัง

การ ‘ดิสส์’ กัน กลายเป็นสิ่งที่ทำโดยสากล ไม่จำกัดแค่ในวงการฮิปฮอปเท่านั้น ยังมีการลามไปถึงบุคคลที่สาม ใครก็ได้ที่อยากด่า เอาสิ ประเทศเสรีนี่เนอะ

 

มารายห์ แครีย์ ได้เคยดิสส์แรปเปอร์อย่าง Eminem ผ่านเพลง Obsessed และกล่าวว่าเธอไม่เคยมีความสัมพันธ์ฉันท์โรแมนซ์กับแรปเปอร์หนุ่ม หาว่าเขามโนไปเอง ซึ่งโดยรูปการณ์แล้ว ดูเหมือนเธอจะโกหก และ Eminem ได้ออกมาตอบโต้ด้วยเพลง The Warning เพื่อประกาศคำเตือนให้แก่คุณแม่มารายห์ ซึ่งหลังจากนั้นมารายห์ก็ปิดปากเงียบ ไม่เคยกล่าวอะไรใดๆ ถึง Eminem ออกสื่ออีกเลย นอกจากนี้ Eminem ยังแต่งเพลงดิสส์คนโน้นคนนี้อีกมากมาย ดิสส์แม้แต่แม่ของตัวเอง เพราะฉะนั้นหากใครอยากมีบทเพลงเป็นของตัวเองที่แต่งโดยศิลปินระดับโลก จงไปหาเรื่องกวนประสาทเจ้า Eminem ซะ

 

 

นิกกี้ มินาจ ก็เคยปล่อยเพลง Roman’s Revenge เพื่อดิสส์คุณน้า Lil Kim เริ่มจากที่ทั้งคู่ไม่ถูกกันอยู่แล้วเป็นทุนเดิม และคิมได้เคยกล่าวโจมตีนิกกี้หลายครั้งหลายคราว่า นิกกี้ชอบลอกเลียนแบบภาพลักษณ์และสไตล์ของเธอ นิกกี้จึงได้ออกมาโต้ตอบคิมว่า “เวลาของหล่อนภายใต้แสงอาทิตย์อันเฉิดฉายได้หมดลงไปแล้วย่ะ”

 

 

Jay-Z ฝาละมีคนดังของบียอนเซ่ก็เคยดิสส์ Nas ศิลปินดังในระดับเดียวกันเช่นกัน หลังจากที่ทั้งคู่ได้กระแนะกระแหนกันพองามให้สังคมพอจะสงสัยว่าทั้งคู่ไม่ถูกกัน จนกระทั่งความกระจ่างได้สว่างไสว เมื่อ Jay-Z ได้ปล่อยเพลง Takeover ออกมาซัด Nas เข้าอย่างจัง และฝั่ง Nas ก็สวนกลับอย่างทันควันด้วยเพลง Ether

 

 

 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ส่วนเนื้อหาความดาร์กของแต่ละเพลงนั้น ได้โปรดไปสืบเสาะหารายละเอียดกันเอาเอง เพราะคนโลกสวยอย่างเราไม่อยากเอาจิตไปพัวพันกับเรื่องขุ่นมัว จึงต้องกราบขออภัย

 

‘ดิสส์’ แบบไทยๆ

ว่าด้วยความเจ้าสำบัดสำนวน เราสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าชาติไทยไม่แพ้ใครในโลก โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เรามีมาก่อนการแรปเป็นหลายร้อยปี นับเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางภาษามานมนานก่อนจะถูกบิดเบือนให้วิบัติโดยภาษาคาราโอเกะ และภาษาแชตอุๆ อิๆ

 

ทางฝั่งเราก็มีวัฒนธรรมการดิสส์กันแบบน่ารักๆ ในเชิงหยอกเย้าไม่เอาเป็นเอาตายตั้งแต่โบราณกาล อย่างที่พบเห็นในเพลงฉ่อย เพลงเรือ เพลงอีแซว และลำตัด ที่มีพ่อเพลง แม่เพลง เป็นผู้นำทัพการประชันคารมว่าด้วยเรื่องจิปาถะ ตลกโปกฮา ลามไปถึงเรื่องทะลึ่งตึงตังต่องแต่งให้ผู้ชมได้หัวเราะกันหน้าคว่ำ สร้างสรรค์และบันเทิงในเวลาเดียวกัน แรปเปอร์ไทยที่มีใจเฉลียวน่าจะนำสิ่งนี้มาดัดแปลงต่อ คงจะสร้างสีสันให้วงการฮิปฮอปไทยไม่น้อย

 

 

ว่าด้วยกระแสฮิปฮอปที่กำลังมาแรงในสยามประเทศ ณ ขณะนี้ แรปเปอร์น้อยใหญ่ได้ผุด โผล่ หรือถึงขั้นผงาดขึ้นมากมายในวงการเพลง ปรากฏการณ์คราวนี้ทำให้ย้อนนึกไปถึงช่วงยุคอัลเทอร์เนทีฟที่เริ่มต้นในกลางยุค 90 ที่วัยรุ่นย้อมหัวหลากสีพากันตั้งวงอินดี้อัลเทอร์ฯ ขึ้นมาอย่างไม่มีการคุมกำเนิด แม้วงร็อกแฮร์แบนด์แนว 80 จ๋าๆย่านรัชดายังต้องเปลี่ยนแนวมาทำเพลงอัลเทอร์เนทีฟกับเขาบ้าง เพื่อให้ตนได้มีพื้นที่ การสาดกีตาร์เสียงแตกพร่าลั่นๆ กลายเป็นเอกสัญลักษณ์ง่ายๆ ของเพลงเด็กอัลเทอร์ฯ ยุคนั้น เปรียบได้กับเสียงร้องผ่านเอฟเฟกต์ Auto-Tune อันเป็นเอกสัญลักษณ์ที่ถูกใช้กันอย่างฟุ่มเฟือยในยุคนี้ อีกหน่อยท่านเจ้าสัวคงผลิต Auto-Tune แบรนด์ไทยมาลงที่ร้านสะดวกซื้อแฟรนไชส์ทั่วประเทศ อุ่นที่ร้านกด 4 หรืออุ่นที่บ้านใช้กำลังไฟ 800 วัตต์ 1 นาที แล้วเราก็จะได้มี Auto-Tune ใช้กันในทุกครัวเรือน

 

เนื่องด้วยฮิปฮอปเป็น ‘วัฒนธรรม’ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ ‘แนวเพลง’ ความซับซ้อนและมูลเหตุแห่งที่มาที่ไปจึงละเอียดอ่อนเกินกว่าที่จะหยิบยกวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์อื่นข้ามมหาสมุทรมาใส่ทั้งดุ้นแข็งๆ โดยไม่ได้ดัดแปลงให้เข้ากับบริบทของสังคมบ้านเรา มิใช่ว่าจับมาวางโป๊ะโดยไม่เช็กฮวงจุ้ยแล้วมันจะเวิร์กเสมอไป เห็นได้ชัดว่าศิลปินฮิปฮอปกลุ่มใดที่เลือกหยิบยกวิถีไทยอันมีความแข็งแกร่งในด้านวรรณคดีอยู่แล้วมาใช้ และมีคลังคำศัพท์ไทยในหัวมากพอให้นำมาประยุกต์กับรูปการณ์ เขาเหล่านั้นย่อมโดดเด่นทะลุโด่งออกมาจากฝูงแรปเปอร์ที่ยังไม่แตกฉานในภาษาแม่ เพราะภาษาไทยเรามีความสนุก คำหนึ่งแปลได้หลายความหมาย และการสื่อถึงหนึ่งความหมายก็ยังสามารถเลือกใช้คำได้หลายคำ ดิ้นได้ ผวนได้ สองแง่สามง่ามได้ เล่นอะไรได้หลายตลบ เป็นวัตถุดิบชั้นเลิศสำหรับการแรปยิ่งกว่าภาษาอังกฤษเสียอีก

 

มีบทเพลงดิสส์ไทยหลายเพลงที่ช่วยพูดความจริงที่หลายคนไม่กล้าพูด หลายเพลงช่วยดีแผ่ความโสมมใต้พรมสังคมไทยอย่างเจ็บปวด เพราะล้วนเป็นเรื่องจริงอันปฏิเสธไม่ได้ หากเพลงดิสส์เหล่านี้นำไปสู่การติเพื่อก่อหรือเพื่อสร้างให้เกิดแรงกระเพื่อมตื่นตัวใดๆ ก็ถือเป็นเรื่องน่าชื่นชมที่ต้องยกเครดิตให้แรปเปอร์ผู้นำพลังลบมาขับเคลื่อนให้สังคมพยายามพลิกตัวมาเป็นบวก

 

อย่างไรก็ตามเมื่อวิถีของร็อกแอนด์โรลไม่ใช่การทำลายเครื่องดนตรีบนเวที และวิถีของฮิปฮอปก็ไม่ใช่ความเกลียดชังจองหอง ถึงแม้ว่ายุคนี้จะป็นยุคแห่งการเริ่มปฏิวัติวัฒนธรรม แต่ก็มิได้หมายความว่าเราจะไปทำอะไรใส่ใครก็ได้โดยไม่เคารพสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ 

 

ความคิดใดๆ ที่มี เรายังเป็นเจ้านายมันเสมอตราบใดที่เรายังไม่พูดออกมา และคำพูดใดๆ ที่ถูกเอ่ยออกมาแล้ว มันจะกลับกลายมาเป็นเจ้านายเราตลอดไปเช่นกัน เพราะฉะนั้นเราเลือกเองได้ว่าเราจะเป็นเจ้านายดีๆ ที่ไม่สนับสนุนลูกน้องห่วยๆ หรือเลือกที่จะเป็นลูกน้องของเจ้านายห่วยๆ ที่เราไม่มีอำนาจไปเปลี่ยนแปลงอะไรเขาได้  อันการพกของขลังวัตถุมงคลเพื่อหวังให้ปกป้องภยันตรายใดๆ นั้น อย่างไรก็ไม่รับประกันความปลอดภัยเท่ากับการ ‘ยืดอกพกสติ’ ไปทุกที่ เพราะสตินี่แหละจะเป็นตัวป้องกันไม่ให้เราลั่นอะไรแย่ๆ ออกไปเพื่อสร้างศัตรู และเมื่อไม่มีศัตรูก็ไม่จำเป็นต้องพกเครื่องรางของขลังเพิ่มพลังหนังเหนียวใดๆ

 

‘ความรับผิดชอบต่อสังคม’ เป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญของศิลปินทุกแนวอย่างไม่มีข้อแม้ ในหนึ่งชีวิตคนเราอาจไม่จำเป็นต้องสร้างสรรค์อะไรให้โลกใบนี้เลยก็ได้ ขอเพียงแค่อย่าทำลายความน่าอยู่ของมันก็เพียงพอต่อการเกิดมา

 

และเพื่อเป็นการรับผิดชอบที่นำเสนอบทความอันชวนจิตตกนี้มาสู่หน้าจอของท่าน เราขออนุญาตสมนาคุณท่านด้วยคอนเทนต์ที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับบทความนี้เลย หากแต่มันจะช่วยฟื้นฟูและยกระดับสภาพจิตใจของท่านให้สดใสร่าเริงเบ่งบาน พร้อมที่จะไปเผื่อแผ่ความรักให้กับเพื่อนมนุษยชาติที่ร่วมหายใจในชั้นบรรยากาศเดียวกัน และแบ่งปันความเชื่อมั่นว่าโลกที่งดงามนั้นมีอยู่จริง ขอเชิญไปล้างหน้าล้างตาล้างใจกันที่ Vlog ของน้องอิ้งค์ วรันธร นอนฝันดี เพราะไม่มีหนทางใดที่จะจบสวยไปกว่านี้ได้อีกแล้ว เชื่อเหอะ

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X