×

บิตคอยน์ คริปโตเคอร์เรนซี สินทรัพย์ดิจิทัล… Disruptive Asset ที่กำลังเปลี่ยนโลกการเงินและการลงทุน!

04.11.2020
  • LOADING...
Bitcoin

HIGHLIGHTS

  • บิตคอยน์กำลังได้รับการยอมรับและถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่คงมูลค่าในตัวของมันเอง
  • บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ของโลกและนักลงทุนสถาบันต่างเลือกกระจายความเสี่ยงด้านสภาพคล่องไปลงทุนในบิตคอยน์
  • บิตคอยน์ให้ผลตอบแทนสูงถึง 80% นับตั้งแต่ต้นปี 2020 เป็นต้นมา เมื่อเทียบกับสกุลเงินดั้งเดิมอย่างสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงถึง 3.5%
  • บิตคอยน์คือสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐ ส่วนหนึ่งของความสำเร็จของบิตคอยน์คือการไม่ขึ้นกับตัวกลาง และเป็นรูปแบบการเงินแรกที่รัฐบาลกลางแต่ละประเทศไม่สามารถควบคุมได้ บิตคอยน์จึงเป็นเงินที่ผู้ถือนั้นมีอธิปไตยในการใช้งาน

จากภาพลักษณ์แชร์ลูกโซ่ บิตคอยน์โหนกระแสคริปโตเคอร์เรนซีปั่นราคาสู่สินทรัพย์คงคลังสำรอง (Reserve Asset) ที่น่าลงทุน
2-3 ปีก่อนหน้านี้ หากพูดถึงการลงทุนในบิตคอยน์หรือคริปโตเคอร์เรนซีในบ้านเราก็จะถูกเหมารวมไปว่าธุรกิจบิตคอยน์นั้นเป็นแชร์ลูกโซ่และจับต้องไม่ได้ เป็นเพียงเครื่องมือที่ถูกใช้ในการเก็งกำไรของนักลงทุนรายย่อยเท่านั้น แต่บิตคอยน์ก็ได้พิสูจน์คุณค่าของตัวเองเมื่อขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีที่ 14,090 ดอลลาร์สหรัฐในวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา

ปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้ราคาบิตคอยน์กลับมาพุ่งขึ้นนั้นเกิดจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนรายย่อยที่เห็นนักลงทุนสถาบันและบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ และฝั่งอังกฤษต่างกระจายความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง นำเงินไปลงทุนในบิตคอยน์เพื่อเป็นสินทรัพย์คงคลังสำรอง (Reserve Asset) ซึ่งกินส่วนแบ่งถึง 2.85% ของอุปทานบิตคอยน์

ขณะที่ PayPal ก็ประกาศการเข้าสู่ตลาดบิตคอยน์ เปิดตัวฟีเจอร์รองรับการซื้อขายและวอลเล็ตจัดเก็บบิตคอยน์ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้บิตคอยน์มีสภาพคล่องมากขึ้น และใกล้เคียงความเป็นเคอร์เรนซีมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึง PayPal ก็เตรียมจะเปิดบริการซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซีทั่วโลก พร้อมทั้งรองรับเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) ภายในต้นปี 2021 นี้ แดน ชูลแมน ซีอีโอของ PayPal ให้ความเห็นว่าโลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว เงินดิจิทัลกำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในด้านการใช้งานและความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เงินดิจิทัลของธนาคารนั้นเกิดขึ้นแน่นอน อยู่ที่ว่าจะเมื่อไรและรูปแบบใดเท่านั้นเอง และกล่าวถึงบทบาทของ PayPal ว่าจะช่วยเชื่อมต่อเงิน CBDC กับระบบการชำระเงินเดิมที่มีอยู่ รวมไปถึงช่วยกระตุ้นการยอมรับในหมู่ร้านค้า

และที่คาดว่าน่าจะเข้ามาเป็นผู้เล่นยักษ์ใหญ่ในตลาด e-Payment และคริปโตวอลเล็ตอีกเจ้าหนึ่งก็คือ Ant Group เจ้าของแพลตฟอร์มชำระเงินที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลกอย่าง Alipay สถาบันการเงินดั้งเดิมอย่างธนาคารและผู้ให้บริการวอลเล็ตต่างๆ ก็จำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีเพื่อรองรับการมาของสกุลเงินดิจิทัลและสินทรัพย์ดิจิทัล

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการปั๊มเงินเข้าสู่ระบบจำนวนมหาศาลโดยธนาคารกลางใหญ่ของโลก เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สกุลเงินหลักของโลกอ่อนค่าลงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งทำให้เกิดสภาพคล่องล้นตลาด นักลงทุนต่างหันไปหาสินทรัพย์ที่ช่วยกระจายความเสี่ยงและนำเงินบางส่วนมาลงทุนในบิตคอยน์ เพราะเมื่อลองเปรียบเทียบมูลค่าสกุลเงินดิจิทัลตั้งแต่ต้นปี 2020 เป็นต้นมา บิตคอยน์สามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึง 80% ขณะที่สกุลเงินดั้งเดิมอย่างดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 3.5%

ดังนั้นถ้ามองตามเหตุผลตอนนี้ บิตคอยน์จะเป็นหนึ่งใน Disruptive Asset ที่สร้างผลตอบแทนที่ดีและมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะขึ้นไปถึง 19,000-20,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนบทวิเคราะห์ของสำนักต่างๆ ที่ให้เป้าราคาสูงกว่านี้นั้นก็มีสิทธิ์เป็นไปได้ แต่ก็เป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเสริมอีก

บิตคอยน์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านการทำ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ
บิตคอยน์เกิดจากแนวคิดเสรีนิยมที่เชื่อว่ารัฐบาลควรแทรกแซงชีวิตและการเงินของประชาชนน้อยที่สุด ในชุมชนของคริปโตเคอร์เรนซีนั้นเชื่อมั่นในระบบการเงินที่ปราศจากการกำกับดูแลจากส่วนกลาง บิตคอยน์คือความสำเร็จของการพยายามสร้าง ‘เงิน’ ที่ไม่ขึ้นกับธนาคารกลางหรือสถาบันการเงินดั้งเดิมใดๆ ที่มีรัฐบาลเป็นผู้ควบคุม มีความเป็นอิสระในตัวเองโดยทำงานบนเครือข่ายที่เรียกว่าบล็อกเชน บิตคอยน์คือสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐ

ส่วนหนึ่งของความสำเร็จของบิตคอยน์คือการไม่ขึ้นกับตัวกลาง และเป็นรูปแบบการเงินแรกที่รัฐบาลกลางแต่ละประเทศไม่สามารถควบคุมได้ บิตคอยน์จึงเป็นเงินที่ผู้ถือนั้นมีอธิปไตยในการใช้งาน เริ่มแรกนั้นบิตคอยน์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านการทำ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ กับวิกฤตซับไพรม์ในปี 2008 เพราะฉะนั้นถ้ามองในมุมของบุคคลทั่วไปแล้ว ความคิดที่ว่า ‘ซื้อบิตคอยน์เพื่อต่อต้านรัฐบาล’ ก็ไม่ผิดอะไร

อย่างไรก็ตาม บิตคอยน์ยังไม่ใช่ Safe Haven เหมือนอย่างที่คนส่วนใหญ่รู้สึกกับทองคำ และไม่ได้มีความสามารถมากพอที่จะแทนที่ระบบการเงินที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ แต่ตอนนี้บิตคอยน์มีแนวโน้มได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ความจริงแล้วคนรุ่นใหม่หรือคนในวงการเทคโนโลยีนั้นไม่ได้เลือกข้างว่าจะเชื่อทองคำร้อยเปอร์เซ็นต์หรือบิตคอยน์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแค่คนเหล่านี้ยอมรับความเป็นสินทรัพย์ของบิตคอยน์เท่านั้น ส่วนจะลงทุนเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับการจัดพอร์ตของแต่ละคน ถ้าใครจะซื้อทั้งทองคำและบิตคอยน์ก็ไม่ได้ผิดอะไร

ในปี 2020 นี้ หลายๆ ประเทศรวมทั้งประเทศไทยมีความตื่นตัวใน Digital Asset หรือสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างมาก ทั้งกับสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซี และดิจิทัลโทเคน ซึ่งก็คือหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือโทเคนที่ถูกสร้างขึ้นโดยมีสินทรัพย์ดิจิทัลมาอ้างอิง รวมถึงเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) สินทรัพย์ดิจิทัลนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับสินทรัพย์ที่มีในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทอง น้ำมัน หุ้น ที่ดิน หรือตราสาร เพียงแต่มันอยู่ในรูปของหน่วยดิจิทัลที่มีคุณสมบัติในการแลกเปลี่ยนกันอย่างรวดเร็วและอิสระ การแปลงสินทรัพย์เป็นโทเคนและนำไปใช้ในการกู้ยืมหรือลงทุนนั้นจะสามารถเปิดให้คนทั่วไปที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินแบบเก่าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนราคาถูกได้ง่ายขึ้น 

แนวคิดนี้เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นแนวคิดตั้งต้นที่เกิดขึ้นหลังจากเทคโนโลยีบล็อกเชนนับตั้งแต่ปี 2015 แต่ก็ยังเป็นเพียง Early Adopter มูลค่าทางการตลาดก็ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจในยุคโควิด-19 เราอาจจะได้เห็นการเกิดขึ้นของ Disruptive Asset หรือสินทรัพย์ดิจิทัลเร็วกว่าที่คิด

ถ้าคุณสนใจลงทุนเกี่ยวกับบิตคอยน์ก็ควรที่จะศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองก่อนจากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) https://เสี่ยงสูง.com/ และควรเลือกลงทุนกับบริษัทที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจาก ก.ล.ต. และได้รับมาตรฐาน ISO 27001 และ ISO 27701 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลสำหรับระบบการจัดการความปลอดภัยของข้อมูลทั้งในรูปแบบดิจิทัลและเป็นเอกสารเท่านั้น

พึงระลึกไว้เสมอว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยง โปรดใช้วิจารณญาณและศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจลงทุน

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising