คณะอนุกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตเคาะ 3 แนวทางตัดสิทธิ์คนรวยออกจากระบบ เพื่อเสนอกรรมการชุดใหญ่สัปดาห์หน้า เผยให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ทำแอปพลิเคชัน และยกเลิกเงื่อนไข 4 กิโลเมตร ประกาศใช้ระดับอำเภอ ยืนยันไม่กู้แบงก์ออมสิน คาดเริ่มแจกเงินได้หลังเดือนเมษายน 2567
วันนี้ (25 ตุลาคม) จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 2 โดยมีประเด็นดังนี้
ด้านกลุ่มเป้าหมายของโครงการ
จุลพันธ์กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายเป็นวาระที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด โดยในที่ประชุมมีข้อเสนอให้ตัดสิทธิ์คนรวย เนื่องจากมองว่าคนรวยจะไม่นำเงินไปใช้ในลักษณะกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งที่ประชุมได้พยายามหาคำจำกัดความของคนรวย โดยมีแนวทางจะตัดสิทธิ์กลุ่มที่มีความพร้อมทางสังคม ซึ่งมีข้อเสนอ 3 รูปแบบ ได้แก่
- ตัดกลุ่มที่ได้รับเงินเดือนเกินกว่า 25,000 บาท หรือมีเงินฝากรวมกันมากกว่า 1 แสนบาทออก โดยจะทำให้ผู้ได้รับสิทธิ์เหลือ 43 ล้านคน ใช้วงเงินงบประมาณ 4.3 แสนล้านบาท
- ตัดกลุ่มที่ได้รับเงินเดือนเกินกว่า 50,000 บาท หรือมีเงินฝากรวมกันมากกว่า 5 แสนบาท โดยจะทำให้ผู้รับสิทธิ์เหลือ 49 ล้านคน ใช้วงเงินประมาณ 4.9 แสนล้านบาท
- ให้เข้าร่วมเฉพาะผู้ยากไร้ตามกลุ่มบัตรคนจน จำนวน 15-16 ล้านคน
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะนำเสนอทั้ง 3 แนวทางเข้าที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อให้ตัดสินใจต่อไป
ด้านหลักเกณฑ์และเงื่อนไข
ได้ข้อสรุปว่ายกเลิกระยะทาง 4 กิโลเมตร และให้ใช้ในระดับอำเภอ เนื่องจากไม่กระจุกตัวเกินไปและมีร้านค้ารองรับเพียงพอ ส่วนเงื่อนไขของร้านค้าที่ขึ้นเงินได้ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีนิติบุคคล
ด้านแหล่งเงินงบประมาณ
ในที่ประชุมได้มีข้อเสนอให้ใช้งบประมาณแผ่นดินผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณฯ โดยทำในลักษณะการทำงบผูกพัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะทำให้ร้านค้าขึ้นเงินได้ช้าลง
ทั้งนี้ การใช้แนวทางดังกล่าวเป็นไปตามแผนขาดดุลที่วางไว้ ไม่มีผลกระทบต่อตลาดทุน อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้คาดว่าจะทำให้เริ่มโครงการได้ช้าลง เพราะต้องรองบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ โดยคาดว่างบฯ จะล่าช้าไปถึงช่วงเดือนเมษายน-พฤศจิกายน 2567 และคาดว่าโครงการล่าช้าไปถึงช่วงนั้น
“เรื่องแหล่งเงิน ที่ประชุมมีข้อเสนอให้ใช้แหล่งเงินจากการทำงบผูกพัน ซึ่งเป็นแนวทางที่มีความเป็นไปได้ เช่น หากโครงการนี้มีการใช้งบประมาณ 4 แสนล้านบาท ให้ผูกพันปีละ 1 แสนล้านบาท ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบให้ร้านค้าขึ้นเงินได้ช้า ส่วนข้อเสนอเรื่องใช้มาตรการกึ่งการคลัง หรืองบประมาณตามมาตรา 28 จาก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ หรืองบจากธนาคารออมสินคงไม่ได้ใช้แล้ว เพราะติดขัดข้อกฎหมายและกรอบอำนาจหน้าที่ซึ่งไม่ครอบคลุมการดำเนินงาน แต่คณะอนุกรรมการฯ จะส่งข้อเสนอเรื่องแหล่งเงินทั้งจากเงินงบประมาณ เงินกู้ และเงินจากมาตรา 28 ให้ที่ประชุมชุดใหญ่ตัดสินใจ”
ด้านผู้ดำเนินการทำระบบแอปพลิเคชัน
จุลพันธ์ระบุว่า หลังจากที่ได้มอบหมายให้สมาคมสถาบันการเงินของรัฐไปพิจารณา ได้มีข้อสรุปมอบหมายให้ ‘ธนาคารกรุงไทย’ เป็นผู้ทำระบบ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อม มีประสบการณ์ และมี Platform Environment ที่เหมาะสม
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะเสนอข้อสรุปทั้งหมดต่อคณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้ง โดยคาดว่าจะเสนอได้ในสัปดาห์หน้า