×

อ่านเกม ‘Disney+ Hotstar’ ฮอตจริงไหม โมเดลธุรกิจ ‘แข็ง’ กว่าคนอื่นอย่างไร

02.07.2021
  • LOADING...
ยได้ หากเรามองกันในปัจจุบัน Disney ได้แบ่งพอร์ตธุรกิจของตัวเองเป็น 2 ก้อนใหญ่ๆ ได้แก่

HIGHLIGHTS

11 mins. read
  • ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายน ปี 2019 ค่ายผู้ผลิตคอนเทนต์ความบันเทิงระดับโลก ‘The Walt Disney Company’ ได้ประกาศเปิดตัว ‘Disney+’ อย่างเป็นทางการ
  • ปัจจุบันหลังจากให้บริการมาเกือบครบ 2 ปีเต็ม Disney+ มียอดผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้น 103.6 ล้านรายทั่วโลก (ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนเมษายน 2021) เติบโตจากปีก่อนหน้าที่มีผู้ใช้งาน 33.5 ล้านราย คิดเป็นอัตราการเติบโตระดับ +210%
  • ชื่อ ‘Hotstar’ มาจากตอนที่ Disney+ เริ่มทำตลาดในอินเดียเป็นครั้งแรกผ่านบริการสตรีมมิงเดิมในชื่อ Hotstar (เดิมเป็นของบริษัทผู้ผลิตสื่อในอินเดีย Star India ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งกับ Disney ในปี 2019 ตอนที่เข้าซื้อ 21st Century Fox)

30 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันดีเดย์ที่ ‘Disney+ Hotstar’ เริ่มกดปุ่มสตรีมความบันเทิงผ่านคอนเทนต์หนังกว่า 700 เรื่อง และซีรีส์อีกกว่า 14,000 ตอนออกสู่สายตาผู้ใช้งานในประเทศไทยอย่างเป็นทางการวันแรก

 

เชื่อว่าคงจะเป็นอีกหนึ่งวันที่ผู้ใช้งานในไทยรอคอยมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ที่ Disney ได้ประกาศว่าพวกเขาจะให้บริการแพลตฟอร์มสตรีมมิงคอนเทนต์ Disney+ ของตัวเองจริงๆ จังๆ มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2019 (เริ่มให้บริการในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน เฉพาะตลาดในบางประเทศ)

 

นอกเหนือจากความฟีเวอร์ที่เราเห็นเพื่อนๆ คนรู้จักแชร์หน้าอินเทอร์เฟซแอปพลิเคชันหรือคอนเทนต์บน Disney+ Hotstar ที่ตัวเองกำลังดูผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ สิ่งที่น่าสนใจและชวนตั้งคำถามไม่แพ้กันก็คือ การรุกตลาดประเทศไทยในวันนี้ของ Disney+ Hotstar มีแง่มุมมิติที่น่าสนใจอย่างไร อะไรคือหมากกลยุทธ์ทางธุรกิจที่พวกเขาเลือกเดิน 

 

แล้วพวกเขาจะสามารถห้ำหั่นเฉือนคมกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่อยู่ในตลาดมานานกว่าอย่าง Netflix, Viu, LINE TV (ดูฟรี), Apple TV+ หรือแม้แต่ iQiyi ได้สำเร็จจริงๆ หรือไม่

 

 

Disney+ Hotstar เมื่อผู้ผลิตคอนเทนต์ขอลงสนาม ประเดิมศึกสตรีมมิงด้วยตัวเอง

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายน ปี 2019 ค่ายผู้ผลิตคอนเทนต์ความบันเทิงระดับโลก ‘The Walt Disney Company’ ได้ประกาศเปิดตัว ‘Disney+’ อย่างเป็นทางการ หลังจากที่ก่อนหน้านั้น โรเบิร์ต ไอเกอร์ ประธานกรรมการและซีอีโอ บริษัท The Walt Disney Company ในเวลานั้น (ก่อนที่ บ็อบ ชาเปก จะขึ้นมารับตำแหน่งต่อจากเขาในเดือนกุมภาพันธ์) เคยเปิดเผยชื่อบริการใหม่นี้เอาไว้ในช่วงปลายปี 2018 ระหว่างเข้าประชุมผู้ถือหุ้นในช่วงไตรมาส 4 ปีงบการเงิน 2018 

 

พวกเขาเริ่มต้นจากการให้บริการใน 3 ประเทศแรก สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2019 เป็นต้นมา โดยทันทีที่เปิดให้บริการวันแรก Disney+ ก็ได้รับความสนใจอย่างถล่มทลาย โดยมีผู้ใช้งานหน้าใหม่ที่สมัครใช้บริการสูงถึงกว่า 10 ล้านราย (จากการเปิดเผยโดย Disney เอง) 

 

สนนค่าบริการ Disney+ ในช่วงเริ่มให้บริการอยู่ที่ประมาณ 7 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือประมาณ 224 บาท (เหมารายปีอยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,224 บาท)

 

ในวันที่เริ่มให้บริการ Disney+ ครั้งแรก ไอเกอร์เคยประกาศเอาไว้ว่า แพลตฟอร์มป้ายแดงของพวกเขาจะเปรียบเสมือน ‘ก้าวย่างที่สำคัญสู่ยุคใหม่ของบริษัท Disney’ โดยเฉพาะในมุมที่ผู้ผลิตคอนทนต์อย่างพวกเขาจะสามารถสตรีมหรือส่งคอนเทนต์ให้คนดูได้โดยตรงบนโลกออนไลน์ จากเดิมที่อาจจะต้องผ่านช่องทางตัวกลางอย่างโรงภาพยนตร์หรือช่องโทรทัศน์เคเบิลต่างๆ

 

“เรามั่นใจว่าส่วนผสมของการทำ Storytelling ที่หาตัวจับยาก แบรนด์อันเป็นที่รัก แฟรนไชส์หนังและตัวละครที่โดดเด่น บวกกับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย จะทำให้ Disney+ ยืนเด่นเหนือคู่แข่งในตลาด และส่งต่อมูลค่าที่มีนัยสำคัญให้กับทั้งลูกค้าและผู้ถือหุ้นของเรา” ไอเกอร์ว่าไว้เช่นนั้น

 

ขีดเส้นใต้ชัดๆ คำว่า แบรนด์อันเป็นที่รัก และ แฟรนไชส์หนังและตัวละครที่โดดเด่น 

 

จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา 92 ปีที่ผ่านมา Disney ได้ผลิตคอนเทนต์ของตัวเอง และสร้างสรรค์ตัวละครต่างๆ ออกมาเป็นจำนวนมากที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นจนเข้าไปอยู่ในใจของใครต่อใคร เติบโตไปพร้อมๆ กับพวกเขา แล้วถูกส่งต่อความรักความหลงใหลที่มีให้ไปยังลูกๆ หลานๆ

 

ผสมโรงกับการซื้อกิจการสตูดิโอผู้ผลิตคอนเทนต์ต่างๆ ที่ทำให้มิกกี้เมาส์มีสมาชิกครอบครัวใหญ่และเหนียวแน่นขึ้นเรื่อยๆ (ขายพ่วงแพ็กเกจ Brand Loved ที่ส่งมาให้ในดีลด้วย) ตัวอย่างเช่น

 

  • เข้าซื้อ ‘Marvel (2009: 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)’ แลกมาด้วยการได้สิทธิ์สร้างคอนเทนต์ฮีโร่ และคอนเทนต์จากตัวละครอื่นๆ ในครัว ซึ่งในเวลาต่อมาได้บุกเบิกกลายเป็น ‘จักรวาล Marvel Studios’ ที่ทำเงินให้บริษัทและต่อยอดโมเดลธุรกิจได้อย่างมหาศาล

 

  • เข้าซื้อ ‘Lucasfilm Ltd. (2012: 4,050 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)’ ที่ทำให้ Disney ได้สิทธิ์การสร้างแฟรนไชส์ภาพยนตร์ยอดนิยม ‘Star Wars’ มาอยู่ในมือ

 

  • เข้าซื้อ ‘21st Century Fox (2017: 52,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)’ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งในดีลที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมความบันเทิง และทำให้ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ทั้งหมดของ Fox กลายเป็นกรรมสิทธิ์ของ Disney แต่เพียงผู้เดียว ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งในจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ทำให้ Disney ต่อภาพใหญ่มาสู่ Disney+ ได้สำเร็จ

 

เมื่อมีฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่นซึ่งต่อยอดมาจากฐานเดิมของตัวเอง บวกกับฐานใหม่ๆ ที่มาจากแฟนๆ คอนเทนต์สตูดิโอผู้ผลิตค่ายอื่นๆ นั่นจึงทำให้นิยามของไอเกอร์ไม่ใช่คำกล่าวอ้างที่ดูเกินจริงแต่อย่างใด

 

เพราะรู้ว่าจุดแข็งของพวกเขาคือการเป็นสตูดิโอผู้ผลิตคอนเทนต์ที่ลงมาจับตลาดแพลตฟอร์ม ต่างจากผู้ให้บริการสตรีมมิงอื่นๆ ที่เริ่มจากการเป็น ‘แพลตฟอร์ม’ นั่นจึงทำให้ Disney+ สามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ออกมาได้อย่างน่าสนใจ โดยอาศัยฐานแฟนๆ ที่เหนียวแน่นของตัวเองอยู่แล้วมาสนับสนุน

 

Grogu หรือ เบบี้โยดา ตัวละครยอดนิยมจากซีรีส์ The Mandalorian ที่ออกฉายทาง Disney+ ซึ่งประสบความสำเร็จมากๆ และยังต่อยอดเป็นของเล่น ของสะสม ทำเงินได้มหาศาล

 

เราจึงได้เห็นคอนเทนต์ที่หลากหลายสตรีมอยู่บนช่องทางของ Disney+ ทั้งจาก Disney+ Originals, Marvel Studios, Pixar Animation Studios, Lucasfilm Ltd., National Geographic (สารคดี) หรือ 20st Century Studios

 

โดยกลยุทธ์ที่น่าสนใจของ Disney+ คือการฉายคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟที่มีเนื้อหาเป็นแนว Side Story หรือส่วนเติมขยายความครบเครื่องของเนื้อหาในจักรวาลนั้นๆ ที่ไม่ได้ฉายลงจอเงิน เช่น กรณีของ The Mandalorian (Star Wars), The Falcon and The Winter Soldier, WandaVision, Loki, Hawkeye และ Marvel’s What If…? ในเฟสที่ 4 จากจักรวาล Marvel 

 

ซึ่งถ้าคุณจะกลับไปดูหนังหรือภาพยนตร์ฮีโร่เรื่องๆ อื่นของ Marvel Studios ในเฟสที่ 4 ได้อย่างเข้าใจที่มาที่ไปตัวละครให้ครบถ้วนทุกกระบวนความ ปะติดปะต่อเรื่องราวต่างๆ และร้อยเรียงเข้าเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างแนบเนียน คุณก็ต้องไปสมัครใช้บริการของ Disney+ ง่ายๆ แค่นั้นเลย

 

ปัจจุบันหลังจากให้บริการมาเกือบครบ 2 ปีเต็ม Disney+ มียอดผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้น 103.6 ล้านรายทั่วโลก (ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนเมษายน 2021) เติบโตขึ้นจากยอดผู้ใช้งานของปีก่อนหน้าที่ 33.5 ล้านราย (มีนาคม 2020) หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ระดับ +210% เลยทีเดียว (Netflix ปิดไตรมาสแรกของปี 2021 นี้ด้วยยอดสมาชิกผู้ใช้งานที่ 208 ล้านราย (+14%))

 

เทียบเป็นอัตรการสร้างรายได้ต่อสมาชิกหนึ่งรายที่ 3.99 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลง -29% จากปีก่อนหน้าที่เคยมีรายได้ต่อสมาชิกหนึ่งรายที่ 5.63 ดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุมาจากการทำตลาดของ Disney+ Hotstar ในอินเดียตั้งแต่เดือนเมษายน 2020 ซึ่งมีเรตราคาค่าใช้บริการถูกกว่าตลาดในประเทศอื่นๆ ที่ Disney+ ให้บริการ (แบบไม่ใช่ +Hotstar)

 

ในส่วนของรายได้ หากเรามองกันในปัจจุบัน Disney ได้แบ่งพอร์ตธุรกิจของตัวเองเป็น 2 ก้อนใหญ่ๆ ได้แก่

 

  • Disney Media and Entertainment Distribution: ธุรกิจผลิตสื่อความบันเทิงทั้งหลายทั้งปวง
  • Disney Parks, Experiences and Products: ธุรกิจสวนสนุกธีมพาร์ค จำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ ของที่ระลึกต่างๆ

 

โดยในช่วงไตรมาส 2 ของปีงบการเงิน 2021 ที่ผ่านมา (กุมภาพันธ์-เมษายน) Disney มีรายรับรวมทั้งสิ้น 15,613 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วง Q2 ของปีก่อนหน้าที่ระดับ -13% โดยที่ Disney Parks, Experiences and Products ได้รับผลกระทบหนักสุดจากโควิด และการไม่สามารถเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวได้ เพราะรายได้หดหายถึง 44% 

 

ส่วน Disney Media and Entertainment Distribution รายได้เพิ่มขึ้นมาที่สัดส่วน 1%

 

ถ้าไปแงะดูไส้ในให้ละเอียดเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม จะพบว่าสาเหตุที่ธุรกิจ Disney Media and Entertainment Distribution ยังเติบโตได้อยู่นั้น (แม้จะเป็นสัดส่วนเล็กน้อย) สวนทางภาพรวมเศรษฐกิจ และรายได้ของทั้งบริษัท Disney เป็นเพราะแผนกธุรกิจ ‘Direct-to-Consumer’ 

 

Direct-to-Consumer ในที่นี้คือการเหมารวมทุกๆ บริการสตรีมมิงของบริษัท (Disney+, ESPN+ และ Hulu) ทำเงินให้บริษัทได้สูงกว่า 3,999 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงไตรมาส 2 ของปีงบ 2021 เติบโตจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2020 ที่ +59 % โดยถือเป็นผลิตภัณฑ์ความบันเทิงเพียงฟอร์แมตเดียวของ Disney ที่ยังมีอัตราการเติบโตในเชิงรายได้สำหรับกลุ่มธุรกิจ Disney Media and Entertainment Distribution ขณะที่ธุรกิจอื่นๆ ในพอร์ตล้วนแล้วแต่มีรายรับถดถอยเมื่อเทียบกับปี 2020 แทบทั้งสิ้น

 

 

Disney+ ทำไมต้องพ่วง ‘Hotstar’ ด้วย?

สำหรับการให้บริการในประเทศไทย Disney+ จะมาในชื่อ ‘Disney+ Hotstar’ หรือเปรียบง่ายๆ ว่าเป็นเวอร์ชันที่ถูกย่อส่วนลงมาให้เหมาะกับการทำตลาดในประเทศไทยในช่วงแรกๆ

 

Disney+ Hotstar จะไม่มีแพ็กเกจให้เลือกเหมือนแพลตฟอร์มสตรีมมิงคอนเทนต์เจ้าอื่นๆ เพราะสมาชิกทุกคนในไทยที่สมัครใช้บริการจะเป็นสมาชิกแพลนแพ็กเกจเดียวกันเหมือนกันทุกคน โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

  1. สมัครใช้งาน 1 บัญชี > ดูได้สูงสุดพร้อมกัน 2 จอในเวลาเดียวกัน
  2. สมาชิกทั่วไปสมัครใช้บริการแบบรายปี ค่าบริการอยู่ที่ 799 บาทต่อปี (เฉลี่ย 67 บาทต่อเดือน: ไม่มีบริการรายเดือนให้เลือกสมัคร*
  3. ลูกค้า AIS สมัครใช้บริการแบบรายเดือนได้ ค่าบริการอยู่ที่ 49 บาทต่อเดือน (ปกติ 99 บาทต่อเดือน) หรือรายปีที่ 499 บาทต่อปี ถูกกว่าลูกค้าทั่วไป
  4. ไม่มีโฆษณาคั่น คมชัดสูงสุดระดับ Ultra HD 4K พร้อมคุณภาพเสียงระดับ Dolby Vision และ Dolby Atmos, ส่วนใหญ่มีพากย์ไทย
  5. ดูได้ผ่าน
    • เบราว์เซอร์บนแล็ปท็อป หรือคอมพิวเตอร์ (Google Chrome v75.x, Mozilla Firefox v70.x, Microsoft Edge v79+, Safari version v11+)
    • โทรศัพท์หรือแท็บเล็ต (Android v4.4.4+, iOS v10+, iPad v10+, Mobile Web)
    • อุปกรณ์ในห้องนั่งเล่น (Android TVs with TV OS 7.0 หรือใหม่กว่า, Chromecast (Gen 2 Onwards, Firmware 1.43 หรือใหม่กว่า) และ Apple tvOS 11 หรือใหม่กว่า (Gen 4 Onwards))

 

แล้วสงสัยไหมว่าทำไม Disney+ ถึงให้บริการในไทยด้วยชื่อ Disney+ Hotstar?

 

อันที่จริงชื่อ ‘Hotstar’ มาจากตอนที่ Disney+ เริ่มทำตลาดในอินเดียเป็นครั้งแรกผ่านบริการสตรีมมิงเดิมในชื่อ Hotstar นี่แหละ (เดิมเป็นของบริษัทผู้ผลิตสื่อในอินเดียอย่าง Star India ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งกับ Disney ในปี 2019 ตอนที่ Disney เข้าซื้อ 21st Century Fox)

 

ต่อมา Disney ก็ยังคงใช้ชื่อ Disney+ Hotstar นี้ทำตลาดในประเทศฝั่งอาเซียนมาโดยตลอด ต่อจากอินเดียก็เป็นอินโดนีเซีย มาเลเซีย และล่าสุดกับไทย โดยอาศัยการดึงคอนเทนต์ท้องถิ่นเข้ามาเติมบนแพลตฟอร์ม (อย่างของไทยทำร่วมกับ GDH 559, สหมงคลฟิล์มกรุ๊ป, กันตนา กรุ๊ป และ one31 ในการดึงคอนเทนต์มาสตรีม หรือร่วมกันผลิตคอนเทนต์ใหม่ๆ แบบเอ็กซ์คลูซีฟ เหมือนกรณีของ อิน จัน จากกันตนา กรุ๊ป) แล้วใช้วิธีการปรับราคาลงมาให้จับต้องได้กับผู้บริโภคในตลาดประเทศนั้นๆ ผนวกรวมกับการจับมือกับพาร์ตเนอร์กลุ่มผู้ให้บริการ Telco หรืออินเทอร์เน็ตในแต่ลประเทศเพื่อให้ทำตลาดง่ายขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกและจับฐานลูกค้าให้เหนียวแน่นตั้งแต่ Day One (กรณีของไทยก็ทำร่วมกับ AIS)

 

ส่วนในสิงคโปร์ถือเป็นข้อยกเว้นที่ Disney เลือกทำตลาดด้วย Disney Plus แล้วเพิ่มความพิเศษด้วยไลน์อัพคอนเทนต์ ‘Star’ ที่มีคอนเทนต์พิเศษซึ่งอาจจะไม่ได้ออกฉายในประเทศอื่นๆ (เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่ GDP สูง ประชากรมีรายได้ต่อหัวที่สูงมาก Disney จึงใช้กลยุทธ์ทำตลาดด้วยวิธีที่ต่างออกไปนั่นเอง)

 

อีกจุดต่างที่เห็นได้ชัดของ Disney+ Hotstar ประเทศไทย คือการที่พวกเขาจะไม่มีบริการแบบ ‘Premier Access’ ให้เลือกรับชม (สนนค่าบริการในสหรัฐฯ ที่ 29.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือราว 960 บาท) นั่นจึงทำให้เราไม่สามารถรับชมคอนเทนต์ภาพยนตร์ชนโรงอย่าง Mulan, Raya and the Last Dragon, Cruella, Black Widow หรือ Jungle Cruise ในช่วงที่หนังเหล่านี้ฉายในโรงภาพยนตร์ได้ (Premier Access มีให้บริการเฉพาะในตลาดบางประเทศเท่านั้น) 

 

https://www.youtube.com/watch?v=rb_dQTixlZg

 

ถอดสูตรความน่าสนใจ Disney+ Hotstar เจ้าแห่งคอนเทนต์ ‘Family’ ที่หาตัวจับยาก และกลยุทธ์จับมือ AIS แบบ Win-Win

วิเคราะห์กันแบบตรงไปตรงมา สาเหตุที่ทำให้ Disney+ Hotstar กวาดกระแสสนใจและหันสปอตไลท์ทุกดวงมาอยู่ที่แพลตฟอร์มของพวกเขาได้อย่างน่าสนใจ เราเชื่อว่าประกอบไปด้วยปัจจัยเหล่านี้

 

1. เจ้าแห่งคอนเทนต์สำหรับครอบครัว – นับเป็นจุดแข็งสูงสุดของ Disney เลยก็ว่าได้ ด้วยความที่พวกเขาเติบโตมาจากการผลิตคอนเทนต์ความบันเทิงที่เป็นมิตร (เน้นกลุ่มเด็กๆ เป็นหลัก) นั่นจึงทำให้เนื้อหาคอนเทนต์ ภาพยนต์ ซีรีส์ บนแพลตฟอร์มเหมาะมากๆ กับผู้ใช้งานกลุ่มสมาชิกครอบครัว 

 

ถึงขนาดที่ รีด แฮสติงส์ ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Netflix ก็เคยออกมาให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 2020 ว่า พวกเขาต้องการจะเป็นแบรนด์ที่ดีกว่า Disney+ ให้ได้ในแง่ของการผลิตคอนเทนต์และแอนิเมชันสำหรับครอบครัว 

 

(ไม่แปลกใจที่เราได้เห็นคอนเทนต์แนวแอนิเมชันครอบครัวอย่าง The Mitchells vs. The Machines หรือ Wish Dragon มาอยู่บน Netflix มากขึ้นในระยะหลังๆ)

 

2. แพ็คเกจราคาที่ ‘เป็นมิตร’ เกินต้านทาน – กับราคาค่าบริการต่อเดือนที่ถูกกว่าหลักร้อยบาท เริ่มต้นที่ 49 บาท (สำหรับลูกค้า AIS) และ 65 บาท (ผู้ใช้งานทั่วไปที่สมัครรายปี 799 บาท) ต้องยอมรับว่าราคาค่าใช้บริการ Disney+ เป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ยินดีควักกระเป๋าจ่ายเงินสมัครมาลองใช้บริการได้ไม่ยากเลย

 

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ Disney+ Hotstar มาทำตลาดประเทศไทยในวันที่บริการสตรีมมิงเริ่มแพร่หลายไปในวงกว้าง ผู้คนส่วนใหญ่คุ้นชินและใช้งานมันจนเป็นหนึ่งในบริการพื้นฐานควบคู่ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ (ได้รับอานิสงส์จากพฤติกรรมผู้บริโภคช่วงโควิดด้วย) จึงทำให้พวกเขาไม่ต้องใช้เวลาในการบิวต์ตลาดนานเป็นพิเศษ เมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่นๆ ในวันที่เริ่มเจาะตลาดไทย

 

เปรียบเทียบราคาค่าบริการของแพลตฟอร์มสตรีมมิงแต่ละเจ้า (นับเฉพาะกลุ่มที่มีค่าบริการ ไม่ใช่แบบพรีเมียมมีโฆษณาเหมือน LINE TV)

 

  • Disney+ Hotstar  (มีแพ็กเกจเดียว ดูได้สูงสุด 2 จอพร้อมกัน รองรับความคมชัดสูงสุด)
    • 49 บาทต่อเดือน (ปกติ 99 บาทต่อเดือน) – สำหรับลูกค้า AIS หรือรายปีที่ 499 บาทต่อปี ถูกกว่าลูกค้าทั่วไป (ราคาช่วงโปรโมชัน 8-27 มิถุนายน 2564 เคยอยู่ที่ 35 บาทต่อเดือน)
    • 799 บาทต่อปี – สำหรับสมาชิกผู้ใช้งานทั่วไป (เฉลี่ย 67 บาทต่อเดือน: ไม่มีบริการรายเดือนให้เลือกสมัคร*
  •  
  • Netflix 
    • 99 บาทต่อเดือน – ดูได้เฉพาะบนมือถือหรือแท็บเล็ต สูงสุดจอเดียว ไม่รองรับความคมชัดแบบ HD
    • 279 บาทต่อเดือน – ดูได้สูงสุดจอเดียว ไม่รองรับความคมชัดแบบ HD
    • 349 บาทต่อเดือน – ดูได้สูงสุด 2 จอพร้อมกัน รองรับความคมชัด HD แต่ไม่รองรับ Ultra HD
    • 419 บาทต่อเดือน – ดูได้สูงสุด 4 จอพร้อมกัน รองรับความคมชัดสูงสุด

 

  • Apple TV +
    • 99 บาทต่อเดือน 
    • 225 บาทต่อเดือน สำหรับบริการแบบ Apple One แบบบุคคลที่รวมเอาบริการอื่นๆ มาให้ใช้งานด้วย เช่น Apple Music, Apple TV+, Apple Arcade และ iCloud (50GB)
    • 295 บาทต่อเดือน สำหรับบริการแบบ Apple One แบบครอบครัว ใช้ได้สูงสุด 5 บัญชีร่วมกัน ผ่าน Apple Music, Apple TV+, Apple Arcade และ iCloud (200GB)

 

  • Viu
    • 119 บาทต่อเดือน
    • 315 บาทต่อ 3 เดือน
    • 1,199 บาทต่อปี

 

  • iQiyi
    • 119 บาทต่อเดือน (Standard) ดูได้สูงสุด 2 จอพร้อมกัน รองรับความคมชัด Blu-ray 1080P
    • 199 บาทต่อเดือน (Premium) ดูได้สูงสุด 4 จอพร้อมกัน รองรับความคมชัด Blu-ray 1080P
    • 1,200 บาทต่อปี – (Standard) ดูได้สูงสุด 2 จอพร้อมกัน รองรับความคมชัด Blu-ray 1080P
    • 2,000 บาทต่อปี (Premium) ดูได้สูงสุด 4 จอพร้อมกัน รองรับความคมชัด Blu-ray 1080P
  •  

Disney+ Hotstar

 

3. จับมือ AIS กลยุทธ์ธุรกิจที่ ‘วินวินทั้งคู่’ – อีกหนึ่งความฉลาดของ Disney+ Hotstar คือการที่พวกเขาใช้วิธีเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้ให้บริการโทรคมนาคมหรืออินเทอร์เน็ตในแต่ละประเทศ โดยที่ไทยคือ AIS

 

นั่นจึงทำให้จุดแข็งของ AIS ที่มีฐานผู้ใช้บริการเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยที่ 42.8 ล้านราย (ข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2021) กลายเป็นข้อได้เปรียบของ Disney+ ไปโดยปริยาย ไม่ต้องไปเริ่มทำตลาดใหม่ด้วยตัวเองจากศูนย์ (ณ สิ้นปี 2020 ข้อมูลจากสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง พบว่า ประชากรไทยมีจำนวนอยู่ที่ 66,186,727 ล้านราย)

 

ขณะที่ AIS ก็ยังเพิ่ม Loyalty ให้กับฐานลูกค้ากลุ่มเดิมของพวกเขา ตลอดจนกลายเป็นอีกออปชันพิเศษที่สามารถดึงดูดความสนใจลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ให้ตบเท้าเข้ามาเป็นลูกค้าของพวกเขาได้อีกต่างหาก (อยากใช้ Disney+ Hotstar รายเดือนต้องเป็นลูกค้า AIS เท่านั้น)

 

ในแง่ของนักลงทุน หลังจากที่ DIsney และ AIS ประกาศความร่วมมือผ่าน Disney+ Hotstar ไปเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา หุ้นของ AIS (ADVANC) ก็ปรับสูงขึ้นที่ระดับ 174.50-175 บาท ในอีก 3-4 วันให้หลัง สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจที่นักลงทุนมีต่อกลยุทธ์ธุรกิจที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี

 

ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBS ยังเคยให้ข้อมูลอีกด้วยว่า ในกรณีดีที่สุด (Best Case) โดยใช้สมมติฐานว่า สมาชิกของ Disney+ ทั้งหมดจะเป็นผู้ใช้บริการรายใหม่ของ AIS ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นพบว่า ดีลนี้จะช่วยหนุนให้กำไรปี 2022 ของ AIS เพิ่มขึ้นราว 2.4% หรือ 600 ล้านบาท และยังช่วยลดอัตราการยกเลิกบริการของลูกค้า AIS ได้อีกต่างหาก

 

ขณะที่เมื่อเทียบกับ Netflix ที่เปิดตัวในไทยปี 2017 เมื่ออิงกับข้อมูลปัจจุบัน สมาชิก Netflix ในประเทศอยู่ที่ประมาณ 550,000 ราย โดยมองว่าแนวโน้มที่สมาชิก Disney+ ในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นสู่ 275,000 รายได้จะอยู่ที่ปี 2022 

 

แต่ถึงอย่างนั้นก็ดี แม้ Disney+ จะได้เปรียบแพลตฟอร์มอื่นๆ ทั้งด้านการมีคอนเทนต์ที่เป็นมิตรกับสมาชิกครอบครัวโดยรวม ราคาค่าใช้บริการที่เป็นมิตรและกลยุทธ์การจับมือกับผู้ให้บริการ Telco 

 

แต่หากมองในแง่ความหลากหลายของเนื้อหาและรูปแบบแล้ว เส้นทางของพวกเขาก็ยังอีกยาวไกล และเป็นข้อสังเกตที่ต้องติดตามดูกันแบบยาวๆ โดยเฉพาะการสะสมคอนเทนต์ให้ ‘ครบเครื่อง’ เหมือนคู่แข่ง 

 

เช่น การเติมคอนเทนต์แนวเดี่ยว Stand-up Comedy, สารคดีหลากหลายแนว (ไม่จำเพาะแค่กลุ่ม National Geographic), คอนเทนต์ติดเรต, คอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือมาจากอุตสาหกรรมความบันเทิงท้องถิ่นในตลาดประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ที่ถึงแม้ Disney+ จะเริ่มมีให้เห็นแล้ว แต่ก็อาจจะยังทำได้ไม่ดีเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์ม Viu หรือ Netflix 

 

รวมถึงการ ‘ดึง’ ความสนใจจากผู้ชมที่อาจจะไม่ใช่แฟนๆ ของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ เจได ตัวการ์ตูนมิกกี้เมาส์ ให้หันมาอยู่กับพวกเขามากขึ้น ด้วยคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาน่าสนใจและหลากหลายกว่านี้ในอนาคต

 

ต่อประเด็นนี้ รีด แฮสติงส์ ยังแอบแซว Disney+ ให้เจ็บแสบและคันอยู่เล็กๆ ว่า พวกเขาไม่มีคอนเทนต์แนว Bridgerton เหมือนที่ Netflix มี หรือแปลเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ Disney+ ไม่ค่อยมีคอนเทนต์แนวติดเรตหรือ 18+ เหมือนพวกเขานั่นเอง

 

“Disney มีคอนเทนต์และเรื่องราวต่างๆ ที่ยอดเยี่ยม พวกเขาทำให้เรารู้สึกชุบชูใจมากขึ้นในการกระตุ้นเพิ่มยอดสมาชิก เพิ่มงบผลิตคอนเทนต์ ซึ่งมันคงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อยกับโลกใบนี้ที่ Disney และ Netflix จะแข่งกันแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ด้วยรายการ ซีรีส์ และภาพยนตร์

 

“จริงอยู่ที่เรารู้สึกพลุ่งพล่าน ตื่นตัว ที่จะไล่ตามพวกเขาในการพัฒนาคอนเทนต์แอนิเมชันแนวครอบครัว หรือบางทีอาจจะวิ่งแซงพวกเขาในระยะยาว รวมถึงรักษาความเป็นผู้นำในตลาดแพลตฟอร์มความบันเทิง แต่อย่างไรก็ดี ผมไม่คิดว่าพวกเขาคุณจะได้ดูซีรีส์แนว Bridgerton บน Disney+ เร็วๆ นี้แน่นอน”

 

 

แม้จะดูหวือหวาหรือ ‘ได้เปรียบ’ ตั้งแต่สเตปแรกของการทำตลาด ช่วงชิงความสนใจจากผู้บริโภคแทบจะทันที แต่ก็ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า ศึกการแข่งขันในตลาดสตรีมมิงแพลตฟอร์มนั้นไม่ต่างอะไรจากการ ‘วิ่งแข่งมาราธอนหฤโหด’ ที่ห้ามเหนื่อย ห้ามล้ม ห้ามหยุดพักกินน้ำ และไม่มีจุดสิ้นสุด

 

ในความหมายคือ ต้องตามดูกันต่อไปว่าในระยะยาว ใครจะสามารถตรึงความสนใจและรักษา Loyalty ของผู้ชมให้ใช้เวลาอยู่กับแพลตฟอร์มของตัวเองได้ยาวนาน เหนียวแน่น และไม่มีคำว่าเบื่อได้ดีกว่า 

 

เพราะต่อให้มีคอนเทนต์มากเกินไปก็ใช่ว่าจะดี เนื่องจากสุดท้ายแล้วผู้ชมก็มีเวลาแค่ 24 ชั่วโมงในหนึ่งวันเท่ากันอยู่ดี 

 

ดังนั้น จุดชี้วัดจึงขึ้นอยู่กับใครสามารถปรุงอาหาร (คอนเทนต์) จานที่ดีที่สุด ถูกจริต โดนใจมาเสิร์ฟคนทาน (ผู้ชม) ได้ต่อเนื่องมากที่สุดต่างหากถึงจะเป็นผู้ชนะ!

 

ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่าบริการ Subscription สามารถกดยกเลิกได้ทุกเมื่อทันที ง่ายและสะดวกพอๆ กับการกดสมัครเลยด้วยซ้ำ

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X