วันนี้ (7 มีนาคม) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ. ไกรบุญ ทรวดทรง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) อาวุโสสูงสุด เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาโทษที่มี รอง ผบ.ตร. ทุกคนเป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาโทษวินัยร้ายแรงของ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร. โดย พล.ต.อ. ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ไม่ได้เข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้ มีรายงานว่าที่ประชุมมติเอกฉันท์ไล่ออก พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ก่อนเสนอ พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. เพื่อพิจารณาลงนามคำสั่งต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 125 บัญญัติไว้ว่าข้าราชการตำรวจที่กระทำผิดวินัยร้ายแรงเมื่อผู้มีอำนาจในที่นี้คือ ผบ.ตร. จะสั่งลงโทษทางวินัยร้ายแรง ซึ่งมี 2 สถาน คือ ปลดออก ไล่ออก
สำหรับตามขั้นตอน ผบ.ตร. จะสั่งลงโทษเลยไม่ได้ จะต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อเสนอแนะว่าต้องลงโทษสถานใด ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยรอง ผบ.ตร. ทั้งหมด
ประกอบด้วย พล.ต.อ. ไกรบุญ ทรวดทรง, พล.ต.อ. ธนา ชูวงศ์, พล.ต.อ. ประจวบ วงศ์สุข, พล.ต.อ. นิรันดร เหลื่อมศรี และ พล.ต.อ. กรไชย คล้ายคลึง ร่วมกันพิจารณาความผิดวินัยร้ายแรงในเรื่องดังกล่าวว่าควรจะลงโทษในสถานใด ระหว่างปลดออก ไล่ออก เมื่อพิจารณาแล้วได้ความว่าอย่างไรจะต้องเสนอแนะ ผบ.ตร. ในฐานะผู้มีคำสั่งแต่งตั้ง จากนั้น ผบ.ตร. จะต้องออกคำสั่งตามที่คณะกรรมการพิจารณาได้เสนอแนะไป
นอกจากนี้ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ สามารถอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) หาก ก.พ.ค.ตร. ยืนตามคณะกรรมการวินัย พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ยังสามารถใช้สิทธิฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งหากศาลปกครองสูงสุดยืนตาม ก.พ.ค.ตร. ก็จะทำให้คดีวินัยถึงที่สุด ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการพิจารณาถอดยศตำรวจ