×

ยกฟ้อง ‘หฤษฎ์ มหาทน’ นักเขียนไลต์โนเวล คดี ม.112 หลังต่อสู้ยาวนาน 6 ปี ศาลชี้พยานหลักฐานไม่น่าเชื่อถือ

15.03.2022
  • LOADING...
หฤษฎ์ มหาทน

วันนี้ (15 มีนาคม) วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) ทนายความของ หฤษฎ์ มหาทน และ ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ ให้สัมภาษณ์ THE STANDARD ว่า วันนี้ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้อง หฤษฎ์ มหาทน จำเลยผู้ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะที่จำเลยอีกคนคือ ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ ศาลจำหน่ายคดีชั่วคราวตั้งแต่มีการหลบหนีไป ซึ่งปัจจุบันได้ลี้ภัยในสหรัฐอเมริกา

 

วิญญัติกล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 ต่อเนื่องจากคดีที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัว 8 แอดมินเพจ ‘เรารักพลเอกประยุทธ์’ ซึ่งเป็นเพจล้อเลียนเสียดสี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยขณะนั้นมี 2 ใน 8 คนที่ถูกดำเนินคดีเพิ่มในมาตรา 112 คือ ณัฏฐิกา และ หฤษฎ์ 

 

หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องวันนี้ ขั้นตอนต่อไปคือ รอดูว่าฝ่ายโจทก์จะอุทธรณ์หรือไม่ อย่างไรก็ตาม อยากฝากถึงโจทก์ว่า คดีนี้เป็นคดีที่พยานหลักฐานของโจทก์มีข้อไม่สมบูรณ์หลายประการตั้งแต่ต้น โจทก์สามารถใช้ดุลพินิจไม่อุทธรณ์ก็ได้ เพราะหากอุทธรณ์ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายรัฐ

 

นอกจากนั้น ขั้นตอนการสอบสวนมีความไม่ชอบธรรม โดยทหารคุมตัวไปสอบสวนในค่ายทหาร แม้ทหารอ้างว่าเป็นการซักถามข้อเท็จจริงในค่ายทหาร ไม่ใช่การสอบสวน แต่ทนายจำเลยมองว่าเป็นการสอบสวนอย่างหนึ่ง เพราะหลายคดีที่ คสช. เข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วทหารอ้างว่าพาไปไปซักถาม ผลจากการซักถามเหล่านั้นจะถูกนำมาเป็นพยานหลักฐานในชั้นสอบสวน (ตำรวจ) และนำมาใช้ในชั้นศาลด้วย โดยไม่มีทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจร่วมรับฟัง จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่มีความชอบธรรม 

 

ดังนั้น สิ่งที่ควรจะเป็นคือ กระบวนการคุ้มครองสิทธิ เช่น มีสิทธิที่จะมีทนาย มีสิทธิที่จะมีบุคคลที่ไว้วางใจร่วมฟังการสอบสวน และสิทธิอื่นๆ ตามกฎหมาย  

 

กรณีที่เกิดขึ้นกับหฤษฎ์ คือถูกอายัดตัวหลังถูกปล่อยตัวชั่วคราวในคดี 8 แอดมินเพจ ‘เรารักพลเอกประยุทธ์’ ซึ่งฝ่ายจำเลยได้ร้องตั้งแต่ต้นแล้วว่า การดำเนินการเช่นนี้เป็นการดำเนินการโดยมิชอบและเป็นการกลั่นแกล้ง เพราะขณะอยู่ในเรือนจำสามารถดำเนินการได้แต่ไม่ดำเนินการ เป็นเรื่องที่เราได้โต้แย้งไว้ 

 

ต่อมามีการฟ้องต่อศาลทหารในคดีนี้เมื่อปี 2559 ศาลทหารพิจารณาหลายปีจนกระทั่งปี 2562 คดีไม่คืบหน้า กระทั่งมีคำสั่งจากหัวหน้า คสช. ให้โอนคดีมาศาลยุติธรรม ซึ่งศาลอาญาก็รับคดีนี้ไว้เมื่อปี 2563 มีการตรวจพยานและมีการนัดฟังคำพิพากษาวันนี้ 

 

สรุปใจความว่า ศาลไม่เชื่อพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ ซึ่งได้พยานหลักฐานมาจากการดำเนินการซักถามในค่ายทหาร ซึ่ง ฝ่ายความมั่นคงอ้างว่า สามารถเข้าถึงข้อความในกล่องข้อความโดยได้รับรหัสจากจำเลยทั้ง 2 คน ขณะที่จำเลยทั้ง 2 คน ยืนยันตั้งแต่ต้นว่าไม่ได้ให้รหัส แล้วรหัสนี้ก็ไม่สามารถมายืนยันในชั้นศาลได้ว่ามีการได้มาจริงหรือไม่ จึงส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานซึ่งเป็นข้อความแชตที่ถูกนำมาใช้ในชั้นศาล โดยไม่ใช่ข้อความไฟล์ดิจิทัล แต่เป็นรูปแบบเอกสารที่เป็นรูปภาพ ฝ่ายจำเลยและพยานฝ่ายจำเลยจึงพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า มีการตัดต่อเรียบเรียงข้อความใหม่ 

 

ด้านหฤษฎ์กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกฝ่าย ขอบคุณศาลที่ตัดสินอย่างยุติธรรม ขอบคุณพยานทุกท่านที่มาให้การ ขอบคุณทนายที่ร่วมต่อสู้มาอย่างยาวนาน สำหรับคดีนี้การต่อสู้ทั้งหมดใช้เวลาเกือบ 6 ปี ขอบคุณพระเจ้าและความเมตตาจากศาลที่ทำให้สามารถประกันตัวได้ เพราะถ้าประกันตัวไม่ได้ แล้วสู้คดีอยู่ในเรือนจำ 6 ปี เท่ากับว่าติดคุกไปแล้ว 6 ปี ในขณะนี้ยังมีหลายคนที่ประกันตัวไม่ได้ แล้วโดนคดีในลักษณะนี้ ถ้าต้องสู้คดีอย่างล่าช้าแบบนี้ หมายความว่าจะต้องเสียอิสรภาพไปแล้ว 

 

หฤษฎ์กล่าวต่อไปว่า คดีแบบนี้สามารถที่จะฟ้องใครก็ได้อย่างที่เห็น แล้วผลที่ตามมาคือ ชื่อเสียงและโอกาสต่างๆ ก็ต้องสูญเสียไป ถึงแม้ว่าศาลตัดสินอย่างยุติธรรม ความเห็นทั้งหมดเห็นแล้วว่า เราไม่ได้มีความผิดตามข้อกล่าวหาเลย แต่เวลาที่เราเสียไป ทุกสิ่งทุกอย่างก็เสียไปแล้ว เราไม่สามารถเอาคืนมาได้  

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising