วันนี้ (3 มกราคม) ชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเป็นคนแรกหลัง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้นำเสนอหลักการร่างพระบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567
ชัยธวัชกล่าวว่า ฟังเศรษฐาอ่านหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2567 ทำให้นึกถึงบรรยากาศของปีที่แล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้านี้ก็มาอ่านแบบนี้ ที่เต็มไปด้วยข้อความสวยหรู แต่ปัญหายังมีอยู่เหมือนเดิม เมื่อเข้าไปดูรายละเอียดของร่างงบประมาณ กล่าวคือแผนงานกว้าง จับต้องไม่ได้ สะเปะสะปะเลื่อนลอย ไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 เศรษฐาในฐานะนายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองภายในประเทศ เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ วิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชน และวิกฤตความขัดแย้งในสังคม
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหา สร้างความพร้อม และวางรากฐานอนาคตให้กับคนไทยทุกคน รัฐบาลมีกรอบนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบความเร่งด่วน ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
ขณะเดียวกัน ฝ่ายค้านได้อภิปรายวิพากษ์วิจารณ์ว่า นโยบายของรัฐบาลไม่เหมือนกับที่เคยหาเสียงเอาไว้ หรือไม่มีความชัดเจน ไม่มีรูปธรรมที่จับต้องได้ ส่วนนายกฯ บอกว่าเดี๋ยวให้รอดูแผนรายกระทรวง ชัดเจนแน่นอน
งบไม่สอดคล้องเป้าหมายทางนโยบายของรัฐบาล
ชัยธวัชกล่าวว่า เมื่อตามไปดูแผนรายกระทรวงก็พบปัญหาว่าไม่ได้มีตัวชี้วัดชัดเจน ไม่สามารถวัดความสำเร็จของนโยบายได้จริง หรือไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายทางนโยบาย เมื่อมาดูไส้ในของแผนงานพบว่าเป็นโครงการเดิมๆ ที่กระทรวงทำอยู่แล้ว เหล้าเก่าในขวดใหม่ ยัดโครงการประจำของกระทรวงเข้ามาในแนวนโยบายที่รัฐบาลจะทำ ค่อนข้างปะปนกันระหว่างสิ่งที่รัฐบาลจะทำกับสิ่งที่เป็นงานประจำที่หน่วยงานทำอยู่แล้ว
จนเมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติครั้งแรกสั่งทบทวน พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2567 ใหม่ ใช้เวลา 3 เดือนในการปรับปรุง เพื่อตอบสนองการขับเคลื่อนนโยบาย แต่สุดท้ายหน้าตาของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับนี้กลับไม่ต่างไปจากเดิม นายกฯ บอกว่ามีนโยบายเร่งด่วน ซึ่งควรสะท้อนอยู่ในร่างกฎหมายนี้ แต่กลับต้องผิดหวัง เพราะตั้งงบเพื่อดำเนินนโยบายไม่ตอบโจทย์ เช่นเดียวกับนโยบายเร่งด่วนในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
ส่วนการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน-งบประมาณเพื่อชดเชยหนี้ให้ กฟผ. จากนโยบายลดค่าไฟ ก็ไม่ได้ถูกตั้งเอาไว้
และนโยบายให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งน่าจะต้องทำประชามติ 1-2 ครั้งในปีนี้ รัฐบาลก็ไม่ได้ตั้งงบเอาไว้รอ กกต. ของบไป 2 พันล้าน แต่ได้มาเพียง 1 พันล้าน
และนโยบายสำคัญอย่างโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ตอนแถลงนโยบายบอกว่ารัฐบาลจะไม่กู้ แต่วันนี้ชัดเจนแล้วว่าไม่มีการตั้งงบใดๆ ไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2567 คงดูต้องว่ารัฐบาลจะสามารถเสนอ พ.ร.บ.เงินกู้ เข้าสู่สภาได้หรือไม่
เบี้ยหัวแตก-สะเปะสะปะ-ไม่มียุทธศาสตร์
ชัยธวัชสรุปภาพรวม ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2567 ที่เสนอมา เป็นเบี้ยหัวแตก สะเปะสะปะ ไม่มียุทธศาสตร์ ทำงานอย่างไม่มีวาระเป้าหมายชัดเจน หน้าปกอาจจะดูดี แต่พอเข้าไปดูไส้ในแล้วไม่ได้ยึดโยงกับเป้าหมายทางนโยบาย ส่วนใหญ่เป็นโครงการเดิมๆ แต่เอามาโยงให้เข้ากับเป้าหมายใหม่ แถมนับรวมทุกรายจ่ายแล้วเคลมว่าเป็นงบสำหรับการลงทุนใหม่ ที่ชอบทำกันมากที่สุดคืองบตัดถนน กลายเป็นโครงการวิเศษที่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกยุทธศาสตร์แบบงงๆ
ชัยธวัชกล่าวอีกว่า มี 200 โครงการใหม่จากทั้งหมด 2,000 โครงการ ซึ่งโครงการใหม่ส่วนใหญ่เกิดจากหน่วยงานใหม่ที่ตั้งขึ้นมาก่อนที่จะมีรัฐบาลใหม่ เป็นโครงการที่หน่วยงานราชการเสนอขึ้นมา ไม่ใช่การผลักดันเพื่อขับเคลื่อนโครงการใหม่จริงๆ
และยังคาดการณ์รายได้เกินจริงเพื่อที่จะเพิ่มแผนรายจ่ายได้สูงขึ้น ขณะเดียวกัน ตั้งงบรายจ่ายที่ต้องใช้แน่ๆ ไว้ไม่พอ เช่น บำเหน็จบำนาญ เงินเดือนราชการ งบสวัสดิการ นโยบายเพิ่มเงินเดือนราชการ 10% ค่าชดเชยภาษีรถ EV ค่าไฟชดเชยหนี้ กฟผ. จากนโยบายลดค่าไฟ งบซอฟต์พาวเวอร์ที่โฆษณาไว้ว่าจะลงงบกว่า 5 พันล้าน ซึ่งรายจ่ายที่ไม่ได้ตั้งงบไว้พวกนี้ รวมๆ แล้วไม่น่าจะน้อยกว่า 1 แสนล้านบาท สุดท้ายก็ต้องปัดไปเป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังในปีถัดไป แล้วทุกอย่างโยนไปใช้งบกลาง
ด้วยสภาพเช่นนี้จึงมองไม่เห็นวาระเป้าหมายของรัฐบาลผ่านการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2567 ซึ่งการจะบรรลุนโยบายเป้าหมาย ไม่จำเป็นต้องใช้งบเยอะเสมอไป เป็น Non-Budget Policy ได้ แต่การจัดสรรงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนประเทศ ก็ไม่ควรจะแย่ขนาดนี้ อย่างเช่น รัฐบาลแถลงนโยบายเร่งด่วนว่าจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม แต่วันนี้ไม่แน่ใจแล้วว่ารัฐบาลกำลังจะทำให้สถานการณ์เรื่องระบบนิติธรรมนิติรัฐเลวร้ายลงไปอีกหรือไม่ เพราะสังคมกำลังถูกตอกย้ำให้ยอมรับกระบวนการยุติธรรมแบบสองมาตรฐาน แบบอภิสิทธิ์ชน กฎหมายและคุกมีไว้ใช้สำหรับประชาชนสามัญที่ไม่ได้มีอำนาจ บารมี หรือเงินทองเท่านั้น
รัฐบาลรวมการเฉพาะกิจเพื่อแบ่งกินแบ่งใช้
ชัยธวัชกล่าวต่ออีกว่า ตลอด 3 วันนี้ สมาชิกพรรคก้าวไกลและพรรคฝ่ายค้านทั้งหมดจะมาอภิปรายแจกแจงให้เห็นเป็นรูปธรรม ว่าทำไมร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2567 ฉบับนี้ถึงมีปัญหาอย่างที่ได้กล่าวสรุปภาพรวมเอาไว้ แต่ก็อยากจะทิ้งท้ายไว้ว่า ปัญหาของการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณฯ นี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นเพียงรัฐบาลรวมการเฉพาะกิจ ไม่ได้มีวาระเป้าหมายทางนโยบายที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน แต่รวมการเฉพาะกิจเพื่อแบ่งปันอำนาจ แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ จึงเห็นการจัดตั้ง ครม. แบบผิดฝาผิดตัวเต็มไปหมด ไม่ได้แบ่งงานกันตามวาระเป้าหมาย แต่แบ่งกันตามโควตาทางการเมือง วางเจ้ากระทรวงไม่ถูกกับงาน
“เราจึงเห็นนายกฯ ที่เอาแต่สั่งราชการลอยๆ รอระบบราชการชงให้ แล้วชอบโวยวายเวลาไม่ได้ดั่งใจ แทนที่จะเห็นนายกฯ ที่ทำงานเชิงรุก เข้าไปปลุกปล้ำนโยบายในระดับปฏิบัติ จากที่เคยบอกว่าคิดใหญ่ทำเป็น วันนี้กลายเป็นคิดไปทำไป คิดสั้นไม่คิดยาว หรือไม่ก็คิดอย่างทำอย่าง
“หากการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้จะมีวาระร่วมกันจริงๆ ก็คงเป็นวาระเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตทางอำนาจของชนชั้นนำ เพราะสภาวะการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลชุดนี้ได้แสดงออกอย่างโจ่งแจ้งว่าเป็นการรวมตัวกันเพื่อรักษาสภาวะเดิมของสังคมไทยเอาไว้ รวมตัวกันเพื่อฝืนความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เพื่อปกป้องพลังทางสังคมแบบจารีต และต่อต้านพลังทางสังคมใหม่ๆ ที่ต้องการอนาคตที่ดีกว่านี้”
ไม่อยากเห็นงบประมาณแบบเดิมๆ
ชัยธวัชกล่าวว่า ก่อนการรัฐประหาร 2549 สังคมไทยมีโอกาสได้เห็นความพยายามของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และเป็นความหวังแห่งการเปลี่ยนแปลง ผู้นำทางการเมืองในขณะนั้นเล็งเห็นว่า หากประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้ากว่านี้ได้จำเป็นต้องปฏิรูประบบรัฐราชการ รวมถึงกระบวนการกำหนดนโยบายและระบบงบประมาณที่ล้าสมัยและไม่มีประสิทธิภาพ มีความพยายามที่จะเปลี่ยนระบบงบประมาณที่เดิมส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของระบบราชการในกระทรวงต่างๆ มาเป็นระบบงบประมาณที่มุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล
แต่หลังการรัฐประหารจากนั้นเป็นต้นมา รัฐราชการและชนชั้นนำจารีตได้กลับมาควบคุมสังคมไทยอีกครั้ง เราไม่เห็นเจตจำนงและความพยายามของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในการปฏิรูปรัฐไทยอย่างจริงจังอีก เพราะพลังทางการเมืองที่เคยเป็นพลังใหม่ เคยเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันกลับเข้าไปร่วมสมาคมเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจเก่าแล้ว
“เราไม่สามารถอยู่กันแบบเดิมๆ ได้แล้ว พวกเราในฐานะฝ่ายค้านไม่อยากเห็นระบบงบประมาณที่เหมือนเดิม ในฐานะฝ่ายค้านเราพร้อมสนับสนุนฝ่ายบริหาร 3 วันต่อจากนี้พวกเราจะทำหน้าที่ผู้แทนอย่างซื่อตรง สร้างสรรค์ ขอให้ตัวแทนรัฐบาลรับคำวิจารณ์ รับฟังข้อเสนอแนะและความเห็นของพวกเรา หวังว่าสุดท้ายการพิจารณางบประมาณจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมากที่สุด” ชัยธวัชกล่าว