×

อภิสิทธิ์-สมชัย-เจษฎ์ ร่วมเสวนา ‘กติกาเลือกตั้งใหม่… ใครได้ประโยชน์’

โดย THE STANDARD TEAM
29.11.2022
  • LOADING...

วันนี้ (29 พฤศจิกายน) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประเทศไทย (Konrad Adenauer Stiftung) จัดโครงการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารทางการเมือง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสถาบันนิติบัญญัติ โดยการจัดเสวนาครั้งนี้จัดรูปแบบผสมผสาน ทั้งภายในห้องประชุมสัมมนา และผ่านโปรแกรม Zoom

 

โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) คณะผู้บริหาร บุคลากรของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการยุวชนประชาธิปไตย ยุวชนประชาธิปไตยของรัฐสภา และสื่อมวลชน ณ ห้องสัมมนา B1-4 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา

 

นภาจรี  จิวะนันทประวัติ ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ กล่าวว่า การสื่อสารทางการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ บุคลากรของสำนักงานฯ ถือว่ามีความสำคัญในการสื่อสารข่าวสารทางการเมืองไปสู่ประชาชน ซึ่งจะเป็นการยกระดับองค์ความรู้แก่ประชาชนให้ได้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ความเป็นพลเมืองในการขับเคลื่อนร่วมกับฝ่ายนิติบัญญัติได้เป็นอย่างดี

 

จากนั้นเป็นช่วงเสวนาเรื่อง ‘กติกาเลือกตั้งใหม่… ใครได้ประโยชน์’ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี, รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอดีตโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และ รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย ร่วมเสวนา

 

อภิสิทธิ์กล่าวถึงสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อที่หาร 500 ว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากต้องการให้เปลี่ยนเป็น 400 หาร 100 ก็ต้องแก้ไขให้ทัน โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการออกพระราชกำหนดขึ้นมาบังคับใช้ชั่วคราวหากกฎหมายลูกพิจารณาไม่แล้วเสร็จ เพราะเจตนารมณ์แตกต่างกัน ปัญหาใหญ่คือเราไม่ได้ถกเถียงตั้งแต่ต้นว่าเราต้องการระบบการเลือกตั้งแบบไหน เพราะอะไร ส่วนถ้าเอารัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นตัวตั้ง แตกต่างกับปี 2540 และปี 2550 ซึ่งทำให้เกิดกลไกการตรวจสอบและองค์กรอิสระ แต่เมื่อใช้ไป องค์กรอิสระกลับไม่เข้มแข็ง จึงทำรัฐธรรมนูญปี 2550 แก้ไขระบบ ส.ว. ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นการออกแบบระบบให้ผู้มีอำนาจในขณะนั้นสามารถมีอำนาจต่อเนื่องในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีมาตรา 272 ที่ ส.ว. ยังมีอำนาจเลือก ส.ว. ได้อยู่ และทำให้ไม่มีพรรคใดมีอำนาจเหนือกัน และให้ ส.ว. มีอิทธิพลจาก 250 เสียงเลือกนายกฯ ได้

 

ขณะที่ รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก กล่าวว่า การปรับแต่งระบบเลือกตั้งต้องคิดให้รอบคอบว่าต้องการอะไร จึงจะได้การเขียนกฎหมายออกมา การแก้ไขระบบเลือกตั้งต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น และมีส่วนในการคัดสรรผู้แทน จึงออกมาเป็นการออกแบบจำนวน ส.ส. เขต และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อรัฐธรรมนูญเขต 350 คน และบัญชี 150 คน ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม อยู่ในมาตรา 90, 93 และ 94 ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอแต่ละพรรคเข้าสภามีหลายฉบับ มีวิธีคิดแตกต่างกัน บางพรรคเสนอหาร 100 และหาร 500 และสุดท้ายไม่ลงตัว กฎหมายก็ตีกลับไปตามกระบวนการ ซึ่งในมาตรา 51 ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้นหากเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องดูว่าตีตกทั้งฉบับหรือตีตกเป็นรายมาตรา

 

“ระบบจัดสรรปันส่วนผสมมาจากระบบของเยอรมนี แต่มาคิดเพิ่มว่าจะทำอย่างไรให้สะท้อนความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด ไม่ให้คะแนนเสียงตกน้ำ ส่วนตัวเห็นด้วยกับคะแนนที่เหลืออยู่ที่มากที่สุด ซึ่งระบบนี้จะทำให้เกิดเศษและทำให้พรรคเล็กที่มี ส.ส. คนเดียวเข้ามา” รศ.เจษฎ์กล่าว

  

ด้าน รศ.สมชัย กล่าวว่า คำถามที่ใหญ่ที่สุดคือศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไร พรุ่งนี้ศาลจะตัดสินเหมือน พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ คือเอื้อพรรคเล็กให้พรรคใหญ่ทำงานลำบาก หากกฎหมายลูกไม่ผ่าน รัฐบาลจะรักษาการไปไม่มีที่สิ้นสุดหรือไม่ แต่เชื่อว่าสุดท้ายจะมีทางออก ซึ่งนายกฯ ต้องเชิญ กกต. มาปรึกษาหารือ โดยจะต้องเสนอร่างกฎหมายใหม่เข้าสู่สภาทันที

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising