×

ประชุมถกแก้รัฐธรรมนูญ ก้าวไกลทักท้วงแก้ระบบเลือกตั้งเกินรับหลักการ ไพบูลย์สั่งประชุมต่อ หากไม่หยุดจะเชิญออกนอกห้องประชุม

โดย THE STANDARD TEAM
04.08.2021
  • LOADING...
Paiboon Nititawan

วันนี้ (4 สิงหาคม) ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่…) พ.ศ. … เป็นประธานในการประชุมเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และ 91 ท่ามกลางมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด เช่น จัดให้มีการนั่งเว้นระยะห่าง มีแอลกอฮอล์สำหรับทุกที่นั่ง และจัดชุดตรวจ Antigen Test Kit ไว้หน้าห้องประชุมกว่า 10 ชุด สำหรับกรรมาธิการที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดและคิดว่าตนเองมีความเสียง ซึ่งก่อนเข้าห้องประชุมยังไม่มีกรรมาธิการคนใดขอชุดตรวจเลย

 

โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ไพบูลย์ได้แจ้งว่า มีทั้งหมด 48 คำแปรญัตติ และมีผู้แปรญัตติทั้งหมด 54 คน แบ่งเป็น ส.ส. 50 คน และ ส.ว. 4 คน

 

จากนั้นเริ่มเข้าสู่การพิจารณา โดย ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ ได้ทักท้วงเรื่องการแก้ไขระบบบเลือกตั้งเกินกว่ามาตราที่รับหลักการมาว่าจะกระทำการขัดข้อบังคับข้อที่ 124 ซึ่งไพบูลย์กล่าวขอให้พิจารณาไปตามวาระการประชุม ทำให้ธีรัจชัยไม่พอใจและพูดในห้องประชุมว่า “ประธานปิดปาก ไม่ให้ผมแสดงความคิดเห็น คุณเป็นประธานต้องทำงานเป็นกลาง ไม่ใช่ขัดขวางไม่ให้เสนอความคิดเห็น” แต่ไพบูลย์​ก็ยังย้ำว่า ให้ดำเนินการไปตามระเบียบวาระ และหากธีรัจชัยยังไม่หยุดโวยวาย ตนจะใช้อำนาจประธานเชิญออกจากห้องประชุม จน ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส. จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ ต้องแทรกเข้ามา ทำให้ธีรัจชัยยอม พร้อมกล่าวว่า ถ้าจะใช้อำนาจแบบนี้ ตนหยุดก็ได้ จากนั้นที่ประชุมก็เดินหน้าไปตามระเบียบวาระ

 

ธีรัจชัยกล่าวว่า ในการพิจารณาวันนี้มีการบรรจุเรื่องข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 124 และ 151 เป็นวาระแรก นัยสำคัญก็คือ ข้อ 124 ว่าด้วยการให้สมาชิกสามารถแปรญัตตินอกเหนือจากที่บรรจุไว้ในหลักการหรือไม่ ดังนั้นก่อนเข้าสู่การพิจารณา ตนจึงได้เสนอว่าควรพิจารณาข้อ 114 ด้วย เนื่องจากระบุว่า หลักการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาต้องมีความชัดแจ้ง แต่เรื่องนี้มีปัญหาคือ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์เป็นร่างเดียวที่ผ่านการรับหลักการจากที่ประชุมสภาในวาระที่ 1 ซึ่งร่างนี้กำหนดแก้ไขเพียงมาตรา 83 และ 91 เท่านั้น อีกทั้งยังไม่มีหัวเรื่อง ต่างจากร่างของพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยที่มีหัวเรื่องชัดเจนว่าด้วยการแก้ไขระบบเลือกตั้งและเสนอแก้ไข 8 มาตรา แต่ทั้งร่างของพรรคพลังประชารัฐและเพื่อไทยถูกตีตกไปแล้ว ดังนั้นจึงต้องหาข้อยุติก่อนว่าการแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคประชาธิปัตย์มีความชัดแจ้งให้แก้เฉพาะ 2 มาตราเท่านั้นใช่หรือไม่

 

เมื่อเสนอว่าเรื่องนี้ควรเป็นวาระที่ต้องคุยในกรรมาธิการด้วย แต่ถูกตัดบทโดยประธานในที่ประชุม ซึ่งก็คือ ไพบูลย์ นิติตะวัน ทำให้ไม่สามารถอภิปรายโต้แย้งเชิงหลักการได้อย่างเต็มที่

 

ซึ่งเรื่องนี้กรรมาธิการท่านหนึ่งคือ ศ.กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ อภิปรายได้น่าสนใจว่า การแปรญัตติตามประวัติที่ผ่านมา ตามหลักการแล้วต้องมีหัวเรื่องก่อนจึงค่อยลงไปที่มาตรา ไม่ใช่เขียนเฉพาะมาตราอย่างเดียว ข้อสังเกตนี้จึงเป็นเรื่องที่ควรรับฟัง แต่ประธานแจ้งว่าเรื่องนี้ยังไม่มีการลงมติว่าจะเอาอย่างไร ปล่อยไว้เฉยๆ เป็นเพียงเรื่องหารือกันเท่านั้น และบอกให้พิจารณาต่อตามวาระไป เมื่อเป็นอย่างนี้เท่ากับว่าเรื่องหลักเกณฑ์การแปรญัตติเพิ่มได้หรือไม่จึงยังไม่มีข้อยุติ 

 

“นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ทางประธานได้แจ้งในไลน์ก่อนหน้านี้ว่า ควรตั้งคณะทำงาน ซึ่งได้เห็นแย้งและแถลงต่อสื่อก่อนหน้านี้ไปแล้วว่าไม่ควรตั้ง เพราะอาจเป็นการเอาคนของตัวเองไปมุบมิบทำออกมาแล้วโหวตแบบพวกมากลากไป พอมาวันนี้ก็มีความพยายามเสนอให้ตั้งคณะทำงานอีกเช่นกัน แต่ก็ได้ถูกโต้แย้งจากกรรมาธิการอย่างแข็งขัน โดยหลายฝ่ายมองว่าควรตั้งเป็นอนุฯ เพราะมีความโปร่งใสมากกว่า เนื่องจากมีการบันทึกชวเลข เพื่อตรวจสอบความโปร่งใสภายหลังได้ แต่คณะทำงานจะไม่มีตรงนี้ สุดท้ายแล้วจึงไม่มีการตั้งคณะทำงาน แต่ก็ยังน่าสงสัยถึงความพยายามรวบรัด เร่งรีบ ใช้เสียงข้างมากลากไป โดยเร่งรัดให้การประชุมเสร็จภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ควรพิจารณาด้วยความรอบคอบ ทำไมต้องเร่งรีบขนาดนี้” ธีรัจชัยกล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising