×

ปิยบุตรอภิปรายประธานศาลได้เบี้ยประชุมครั้งละหมื่นบาท พบค่าใช้จ่ายประชุมเพิ่ม 172 ล้านบาท

โดย THE STANDARD TEAM
26.06.2019
  • LOADING...

วันนี้ (26 มิ.ย.) ที่หอประชุมใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ร่วมอภิปรายในวาระแจ้งให้ทราบเรื่องรายงานของผู้สอบบัญชี และรายงานการเงินสำนักงานศาลยุติธรรมสำหรับปีสิ้นสุด วันที่ 30 กันยายน 2561 

 

โดยระบุว่า การเปิดให้ ส.ส. ได้อภิปรายเกี่ยวกับเรื่องศาลนั้น สะท้อนว่า เรายืนยันเรื่องหลักการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ทั้ง 3 ฝ่าย ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน เพียงตรวจสอบถ่วงดุลกันและกัน การอภิปรายเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบของ ส.ส. แม้ท้ายที่สุดเป็นวาระแจ้งเพื่อทราบ ไม่มีการลงมติ แต่อย่างน้อยคงเป็นประโยชน์ต่อสำนักงานศาลยุติธรรม สตง. และสำนักงบประมาณ ซึ่งในการอภิปรายครั้งนี้จะอยู่ใน 2 ประเด็น คือ 1. ความเห็นของผู้สอบบัญชี และ 2. งบประมาณซึ่งเจาะจงงบการเงิน ส่วนการเงินที่เกี่ยวกับค่าใช้สอย

 

ปิยบุตร​กล่าวว่า ประเด็นที่ 1 ผู้สอบบัญชี คือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำรายงานผู้สอบบัญชีเสนอต่อประธานศาลฎีกา เป็นความเห็นอย่างมีเงื่อนไข หมายความว่า รายงานการเงินศาลยุติธรรมถูกต้องตามมาตรฐาน เว้นแต่มีบางรายการที่ไม่ได้มาตรฐาน 

 

ส่วนนี้จากการสุ่มตรวจพบว่า มีปัญหา 3 ข้อ

 

1. เกี่ยวกับรายการที่มียอดคงเหลือตามบัญชีต่ำกว่ารายละเอียด คือเงินสดหายไปจากบัญชี 162 ล้านบาท

2. คุรุภัณฑ์ประเมินแล้วมูลค่าหายไป 40 ล้านบาท

3. เงินฝากศาลจังหวัดนนทบุรี  6 บัญชี มีการบันทึกไม่ตรงกับเช็คที่มีการสั่งจ่าย ซึ่งจากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญเรื่องบัญชี เห็นว่าเป็นความผิดพลาดบกพร่องทางบัญชีที่ค่อนข้างร้ายแรง เรื่องเหล่านี้หากเป็นบริษัทมหาชน ผู้ถือหุ้นอาจเรียกร้องความรับผิดชอบจากคณะกรรมการบริหารได้ เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นองค์กรบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น หรือส่วนราชการเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งกรณีนี้หัวหน้า คสช. ก็เคยใช้อำนาจตาม ม.44 ให้ยุติการทำหน้าที่มาแล้ว จึงอยากทราบว่า ระบบตรวจสอบการรับผิดชอบนี้ ทางสำนักงานศาลยุติธรรมมีการรับผิดชอบอย่างไรในเรื่องที่เกิดขึ้น

 

ประเด็นที่ 2 งบการเงินแสดงผลการเงินส่วนค่าใช้สอย ซึ่งจากการตรวจสอบมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากปี 2560 สูงถึง 330 ล้านบาท ขณะที่รายการอื่นไม่เพิ่มหรือเพิ่มเล็กน้อย ซึ่งพอไล่ดูทีละรายการค่าใช้สอยที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ ค่าใช้จ่ายในการประชุม ซึ่งในปี 2560 อยู่ที่ 24 ล้านบาท ขณะที่ 2561 เพิ่มเป็น 196 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 172 ล้านบาท หมายความว่าค่าใช้จ่ายการประชุมคือเบี้ยประชุมในการประชุมใหญ่ศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ซึ่งมีการออกระเบียบเริ่มจ่ายตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560  

 

ซึ่งจากการค้นไปอีกว่า เอาระเบียบอะไรมาจ่ายก็พบว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 ประธานศาลฎีกาในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม หรือ กบศ. ได้ลงนามในประกาศระเบียบว่าด้วยเรื่องเบี้ยประชุมในการประชุมใหญ่และการประชุมแผนกคดีในศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ซึ่งระเบียบฉบับนี้ องค์กรต่างๆ จะออกต้องมีกฎหมายให้อำนาจ ซึ่งก็อ้างถึง ม.17 (1) พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 เมื่อไปตรวจสอบก็เขียนว่า ให้ กบศ. มีอำนาจออกระเบียบ แต่เพื่อการบริหารราชการศาลยุติธรรมเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องเบี้ยประชุมในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและศาลอุทธรน์ 

 

“จากการตรวจสอบไปอีกพบว่า ประธานศาลฎีกาท่านก่อนเคยมีเรื่องเข้าที่ประชุม กบศ. เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2560 ว่า หากต้องการออกระเบียบเบี้ยประชุม ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ 

 

“ดังนั้น ท่านจึงไม่ยอมลงนาม แต่พอคนปัจจุบันเข้ามารับตำแหน่ง กลับมีการออกระเบียบกำหนดเบี้ยประชุมขึ้นมา อ้างถึง ม.17 (1) ซึ่งในภายหลัง ในช่วงต้นปีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมฉบับ 4 ปี 2562 มีเรื่องสำคัญคือ มีการเพิ่ม (1/1) ใน ม.17 เพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการ กบศ. ออกระเบียบกำหนดเบี้ยประชุมสำหรับข้าราชการตุลาการ ซึ่งเข้าร่วมประชุมใหญ่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ซึ่งเรื่องนี้มีนัยสำคัญ เพราะตอนใช้อำนาจตาม ม.17 (1) ออกระเบียบนั้นมีปัญหาทางกฎหมายหรือไม่ จึงเพิ่ม (1/1) ขึ้นมาตอนที่ สนช. ผ่านกฎหมายเรื่องนี้” ปิยบุตรกล่าว

 

ปิยบุตรกล่าวว่า ผ่านมา 1 ปี ค่าใช้จ่ายในการประชุมเพิ่ม 172 ล้าน ซึ่งตอนนี้มีกฎหมายรองรับแล้ว แต่ขอตั้งคำถามเรื่องความเหมาะสม ซึ่งระเบียบที่ประชุมกำหนดเบี้ยประชุมให้ครอบคลุมที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและชั้นศาลอุทธรณ์ ประกอบด้วย ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนาญพิเศษ และศาลอุทธรณ์ภาค 1-9 ซึ่งที่ประชุมใหญ่ของศาลรวมแล้ว 12 ที่ประชุมใหญ่ ที่จะได้เบี้ยประชุมนี้ รวมแล้วผู้พิพากษา 1,101 คน โดยระดับประธานศาลจะได้ 10,000 บาท ผู้พิพากษา​ที่เป็นองค์ประชุมได้ 8,000 ผู้พิพากษาที่เข้าร่วมประชุมขั้น 4 ได้ 8,000 บาท ผู้พิพากษา​ที่​เข้า​ร่วม​ประชุม​ชั้น 3 ได้ 6,000 บาท

 

ทั้งหมดนี้ สำนักงบประมาณทำตัวเลขประมาณการไว้ใช้จ่ายราว 207 ล้านบาทต่อปี คิดเป็น 17.2 ล้านบาทต่อเดือน ประเด็นดังกล่าวนี้ถือว่ามีปัญหาเรื่องความเหมาะสม ตรงที่ผู้พิพากษาแต่ละท่านมีเงินประจำตำแหน่ง มีรถประจำตำแหน่ง มีบ้านพัก เดือนเดือนหนึ่งคิดเป็นจำนวนเงินแสนกว่าบาท แต่ในการมาปฏิบัติหน้าที่ของท่าน ยังได้เบี้ยประชุมอีก ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคกันระหว่างข้าราชการ ทั้งๆ ที่ข้าราชการฝ่ายนิติบัญญัติ​ บริหาร ตุลาการควรมีศักดิ์และศรีเท่าเทียมกัน

 

“ผมไม่ต้องการเรียกร้องว่าเราต้องได้เบี้ยประชุม ไม่ได้ต้องการเรียกร้องให้ ส.ส. ได้เบี้ยประชุมเหมือนศาล แต่ผมเรียกร้องว่า ถ้าเป็นไปได้ในอนาคต ขอให้ยกเลิกเบี้ยประชุมเสียดีกว่า ผมขออนุญาตสรุปแบบนี้ พวกเราปกครองในระบอบ​ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์​ทรง​เป็น​ประมุข​ ทุกวันนี้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติถูกตรวจสอบอย่างหนักเต็มที่ แต่ระบบการตรวจสอบองค์กรตุลาการนั้นไม่เข้มข้นเท่ากับพวกเรา การประกันความเป็นอิสระของศาลไม่ได้แปลว่าศาลจะต้องรอดพ้นจากการตรวจสอบได้ ผมเรียนว่าในต่างประเทศ ผู้แทนราษฎรของเขามีผู้ตรวจการที่เอาไว้ตรวจสอบการใช้อำนาจของกองทัพบ้าง ศาลบ้าง แต่ของประเทศไทยวันนี้ เราถูกลิดรอนอำนาจตรงนี้ไป ผมเรียกร้องว่า จะเป็นไปได้ไหมที่ กบศ. จะยกเลิกระเบียบเบี้ยประชุมนี้ ซึ่งจะเป็นพระคุณอย่างมากต่อแผ่นดินไทย ที่จะได้ช่วยประหยัดงบประมาณลงไปได้ถึง 207 ล้านบาท” ปิยบุตรกล่าว

 

 

ภาพ: พรรคอนาคตใหม่

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising