×

ส่องมาตรการสู้โควิด-19 ของ จาซินดา อาร์เดิร์น เมื่อนิวซีแลนด์เตรียม ‘ล็อกดาวน์’ ทั้งประเทศ

23.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • จาซินดา อาร์เดิร์น เผยมาตรการปิดประเทศ 1 เดือน โดยให้ประชาชนทั้งประเทศเก็บตัวในบ้าน จำกัดการเดินทาง และหยุดธุรกิจที่ไม่จำเป็นเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 หลังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดในระดับชุมชน

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่แพร่ระบาดหนักทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐอเมริกาในเวลานี้ รัฐบาลหลายประเทศได้ออกมาตรการปิดประเทศ ปิดเมืองบางส่วน หรือสั่งหยุดธุรกิจที่ไม่จำเป็น และส่งเสริม Social Distancing หรือการรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้เชื้อไวรัสลุกลามเป็นวงกว้าง  

 

หนึ่งในประเทศที่มีมาตรการป้องกันไวรัสแบบเข้มงวดไว้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ นิวซีแลนด์ ซึ่งล่าสุดรัฐบาลประกาศเตรียมปิดประเทศ (Lockdown) เป็นเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ แต่จะได้ผลแค่ไหนยังต้องรอเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ขณะที่รัฐบาลกำลังดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 

 

ข้อมูล ณ เวลา 16.10 น. (23 มีนาคม) นิวซีแลนด์มีผู้ติดเชื้อสะสม 102 ราย พุ่งขึ้นจาก 36 รายที่ประกาศก่อนหน้า แม้ยังไม่มีผู้เสียชีวิต แต่รัฐบาลกังวลว่าหากไม่ดำเนินการอะไรเพิ่มเติมสถานการณ์อาจเลวร้ายลงกว่านี้

 

ที่ผ่านมาหลายประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ดูเหมือนจะสามารถควบคุมการระบาดในประเทศได้แล้ว แต่สถานการณ์ใหม่ที่พวกเขาอาจต้องเผชิญหลังจากนี้คือแพร่ระบาดของไวรัสมรณะระลอกที่ 2 ซึ่งเกิดจากการรับผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ แต่สำหรับนิวซีแลนด์แล้ว พวกเขาอาจกำลังเข้าสู่ระยะที่ 2 ของการระบาด (การระบาดจากคนสู่คนในประเทศในวงจำกัด) หลังพบเคสผู้ป่วย 2 รายแรกที่ไม่มีประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ได้ว่าอาจเกิดการแพร่ระบาดในชุมชนนิวซีแลนด์ครั้งแรก นั่นทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจขยับใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น 

 

มาตรการใหม่ของนิวซีแลนด์กับการกักตัวประชาชนทั่วประเทศ 

หลังจากรัฐบาลได้ยกระดับเตือนภัยโรคระบาดจากขั้น 2 สู่ขั้น 3 แล้ว รัฐบาลเตรียมดึงคันโยกสู่ขั้น 4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดภายใน 48 ชั่วโมงข้างหน้า พร้อมๆ กับการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ

 

มาตรการใหม่ๆ ของรัฐบาลนิวซีแลนด์กำหนดให้ครัวเรือนทั่วประเทศต้องเก็บตัวอยู่ในบ้าน (Self-Isolation) อาร์เดิร์นเตือนว่า หากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสในระดับชุมชนของนิวซีแลนด์ นั่นหมายความว่าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัวในทุกๆ 5 วัน ซึ่งจะส่งผลให้ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ทั่วถึง และท้ายที่สุดประชากรนิวซีแลนด์อาจเสียชีวิตหลายหมื่นคน 

 

อาร์เดิร์นชี้แจงว่า “การตัดสินใจครั้งนี้คือการจำกัดการเคลื่อนไหวของชาวนิวซีแลนด์ครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ นี่ไม่ใช่การตัดสินที่ไม่ได้ไตร่ตรองมาก่อน แต่เป็นโอกาสที่ดีที่สุดของเราในการชะลอการระบาดของไวรัสและช่วยชีวิตผู้คน”

 

ธุรกิจชัตดาวน์

เมื่อมาตรการล็อกดาวน์หรือการกักตัวทั่วประเทศมีผลบังคับใช้ ธุรกิจที่ไม่จำเป็นทั้งหลายจะต้องหยุดทำการชั่วคราว เช่น โรงภาพยนตร์ โรงยิม ร้านอาหาร บาร์ คาเฟ่ สระว่ายน้ำ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หรือสถานที่สาธารณะที่ผู้คนสามารถรวมตัวกันได้ เช่น สนามเด็กเล่นก็ต้องปิดด้วยเช่นกัน

 

นอกจากนี้ผู้นำหญิงนิวซีแลนด์ยังประกาศห้ามการทำกิจกรรมกลางแจ้งและในที่ร่มที่เป็นการรวมตัวกันของคนหมู่มากอย่างเด็ดขาด

 

แต่สถานพยาบาล ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา ระบบธนาคาร ยังเปิดทำการได้ตามปกติ

 

อาร์เดิร์นระบุว่า “หากใครยังไม่ขาดเหลืออะไรแบบรีบด่วน ก็อย่าเพิ่งไปซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะซูเปอร์มาร์เก็ตยังเปิดรอคุณอยู่ในวันนี้ พรุ่งนี้ และมะรืนนี้ เราต้องให้เวลาซูเปอร์มาร์เก็ตในการเติมของหรือรีสต๊อกบนชั้นวาง สินค้ามีเพียงพอสำหรับทุกๆ คนหากเราจับจ่ายกันอย่างปกติ”  

 

มาตรการรองรับคลื่นมหาชนเดินทางกลับบ้านก่อนปิดประเทศ

รัฐบาลเล็งเห็นถึงปัญหานี้เช่นกัน โดยสายการบิน Air New Zealand ประกาศว่าจะเพิ่มเที่ยวบินภายในประเทศ เพื่อรับประชาชนกลับภูมิลำเนาก่อนที่จะมีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ 

 

แต่ถ้าก่อนเดินทางประชาชนรู้สึกว่าตนเองป่วยหรือไม่สบาย โดยเฉพาะถ้ามีอาการไอ จาม มีน้ำมูก หายใจไม่คล่อง หรือมีไข้ รัฐบาลก็ร้องขอให้อย่าเดินทางในเวลานั้น

 

และหลังจากมาตรการปิดประเทศมีผลบังคับใช้ หรือเข้าสู่ภาวะเตือนภัยขั้นสูงสุดแล้วการเดินทางทางอากาศจะถูกจำกัดให้เฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางไปปฏิบัติงานด้านบริการประชาชนที่จำเป็นเท่านั้น

 

ส่วนระบบขนส่งสาธารณะจะให้บริการเฉพาะผู้ที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ที่จำเป็นเช่นกัน และอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปใช้ในกรณีที่ไปหาหมอและไปซูเปอร์มาร์เก็ต 

 

ขณะที่เรือเฟอร์รีและระบบขนส่งทางรางจะให้บริการสำหรับขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น

 

ส่วนผู้ที่ต้องใช้รถส่วนตัวเพื่อสัญจร รัฐอนุญาตให้ใช้ได้ แต่ต้องคำนึงถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม เช่นเดียวกับคนที่เดินทางออกนอกบ้านก็ต้องเว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตรเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม THE STANDARD ตั้งข้อสังเกตว่า หลายประเทศก็มีการประกาศมาตรการปิดประเทศในลักษณะเดียวกับที่นิวซีแลนด์ทำ ไม่ว่าจะเป็นการปิดเมืองบางส่วนหรือปิดประเทศทั้งหมดแบบในยุโรป ประกาศเคอร์ฟิวแบบอินเดีย หรือจำกัดการเดินทางและเคลื่อนไหวของประชาชนทั่วประเทศแบบมาเลเซีย แต่ที่ผ่านมาประชาชนก็ยังไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐเท่าที่ควร ดังจะเห็นได้จากหลายประเทศในยุโรปและออสเตรเลีย หรือในมาเลเซียก็เกิดกรณีคลื่นมหาชนไหลทะลักกลับภูมิลำเนาก่อนมาตรการปิดเมืองจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งแม้นิวซีแลนด์จะเตรียมเที่ยวบินในประเทศไว้รองรับ แต่ก็อาจไม่เพียงพอ ซึ่งก็ต้องจับตาดูต่อไปว่ามาตรการของนิวซีแลนด์จะมีประสิทธิผลเพียงใด  

 

มาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ

นอกจากมาตรการปิดประเทศแล้ว แกรนต์ โรเบิร์ตสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของนิวซีแลนด์ยังประกาศมาตรการอัดฉีดเศรษฐกิจชุดใหม่ด้วย ซึ่งสำหรับประชาชนที่ไม่สามารถทำงานได้ในช่วงวิกฤตนี้ รัฐก็เตรียมจ่ายเงินสมทบค่าจ้างให้กับบริษัทต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ รวมมูลค่า 9.3 พันล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ (ประมาณ 1.73 แสนล้านบาท) เพื่อรับประกันว่าแรงงานทั้งหมดในประเทศจะยังมีรายได้ในช่วงที่ปิดประเทศนี้

 

ส่วนมาตรการเยียวยาอื่นๆ ประกอบด้วยการผ่อนปรนมาตรการทางการเงินเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้แก่บริษัทต่างๆ เพิ่มขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลยังเตรียมออกมาตรการอื่นๆ ตามมาอีก เพื่อบรรเทาผลกระทบจากไวรัส ซึ่งจะมีอะไรบ้างต้องติดตามกันต่อไป 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X